Skip to main content

 

ขณะนี้รัฐบาลไทยมีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันเมกะโปรเจกต์ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่าให้ลุล่วง ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามหาทางพบปะหารือกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของพม่าในทุกโอกาส และยังได้นำคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว บินตรงไปยังประเทศพม่า เพื่อเดินทางลงพื้นที่ทวายด้วยตัวเองเมื่อเดือนธันวาคม 2555

แม้ที่ผ่านมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จะล้มลุกคลุกคลานกับปัญหาทางด้านการเงินภายในมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับสัมปทานโครงการจากรัฐบาลพม่าในปี 2551 แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลไทยก็กระโดดเข้าช่วยโอบอุ้ม โดยอ้างว่า "โครงการนี้คงไปไม่รอดหากรัฐบาลไม่สนับสนุน เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่เกินกว่าเอกชนรายเดียวจะพัฒนา"

องค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนของไทยต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมของการใช้เงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้มโครงการของเอกชน ซ้ำยังเป็นการเข้าไปอุปถัมภ์การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักที่มีขนาดใหญ่กว่า เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึงสิบเท่า ซึ่งชาวไทยโดยเฉพาะชาวมาบตาพุดต่างรู้เห็นกันดีว่าโครงการในมาบตาพุดได้ก่อภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่รัฐบาลไทยเองก็ยังแก้ไขในบ้านตัวเองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรากลับเห็นเพียงกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ในด้านบวก จนอาจทำให้สังคมไทยเคลิ้มฝันกับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งตอกย้ำด้วยตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ออกมาระบุว่า โครงการทวายจะทำให้จีดีพีของไทยเติบโตถึง 1.9 เปอร์เซ็นต์ และประเทศไทยจะ เป็นประตูที่เชื่อมสู่เส้นทางการค้าใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค

แต่หนทางขับเคลื่อนโครงการยักษ์นี้ก็มิได้ราบรื่น หรือสะอาดหมดจดอย่างที่รับรู้กัน สถานการณ์ภายในพื้นที่ทวายที่สังคมไทยยัง รับรู้น้อยมากคือ แรงต้านของประชาชนในพื้นที่... 

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งรัดศึกษารายละเอียดและเม็ดเงินการลงทุนของโครงการทวาย โดยขั้นต้นทางกระทรวงคมนาคมได้ออกมาระบุว่า จะใช้เงินลงทุนเฉพาะค่าโครงสร้างพื้นฐานสูงถึง 14 แสนล้านบาท ทั้งยังรับปากจะสรรหาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และป่าวประกาศว่าทวายจะเป็นสวรรค์แห่ง ใหม่ของนักลงทุน แต่สภาพการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ขณะนี้คือ สิทธิอันพึงมีของชาวบ้านในพื้นที่โครงการกลับถูกละเมิดและแทบจะไม่ปรากฏตามสื่อทั่วไป

เสมือนพื้นที่กว่า 250 ตารางกิโลเมตรของโครงการทวาย เป็นผืนดินว่างเปล่าที่ร้างไร้ชีวิตผู้คน

ทว่า สื่อท้องถิ่นของพม่าหลายสำนักได้รายงานถึงสถานการณ์ในทวายว่า ชาวบ้านในพื้นที่โครงการกำลังเผชิญชีวิตราวกับตกอยู่ในนรก โดยเฉพาะทันทีที่โต๊ะเจรจาวาระแรกของคณะกรรมการร่วมระดับสูงของไทย-พม่า เปิดฉากขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา แรงกดดันภายในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็ทบทวี

หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและบริษัทอิตาเลียนไทยมีความพยายาม "บังคับ" ชาว บ้านกว่า 32,000 คนให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในมิถุนายนปี 2556 ที่จะถึงนี้

ชาวบ้านเรือนหมื่นที่ต้องอพยพขนานใหญ่ครั้งนี้มีอยู่สามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันคือ หนึ่ง - กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม สอง – กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างตามแนวถนนจากท่าเรือน้ำลึกทวายมายังชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และ สาม – กลุ่มที่อาศัยในพื้นที่สร้างเขื่อนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะถูกนำไปใช้ในเขตนิคมฯ

ในพื้นที่นาบูเลที่ถูกระบุไว้ว่าจะถูกอพยพเป็นกลุ่มแรก เพราะเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านต่างวิตกกังวลที่ต้องทิ้งถิ่นฐานและสูญเสียที่ดินทำกิน พวกเขาบอกว่า ตั้งแต่บริษัทเข้ามาปักหลักในพื้นที่ ชาวบ้านต่างประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากิน และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม

ชาวบ้านไม่สามารถจะปลูกพืชผลตามฤดูกาลได้ ถูกจำกัดพื้นที่เพาะปลูก หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โครงการว่าให้ย้ายไปปลูกที่อื่น และถนนของหมู่บ้านก็ถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาจนสภาพใช้ การไม่ได้โดยเฉพาะในหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งก็เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้งตลบไปทั่ว และทางบริษัทมักไม่ใส่ใจที่จะมาปรับปรุงซ่อมแซมให้

ยิ่งไปกว่านั้น ที่บ้านพะระเด็ด ยังมีการระเบิดภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้าน เพื่อนำหินไปใช้ในการก่อสร้าง มีการตัดถนนรุกเข้าไปในที่ดิน ทำลายสวนมะม่วงหิมพานต์ของชาวบ้าน และคนในหมู่บ้านต่างพากันวิตกว่า ถ้าภูเขาถูกทำลายไปเรื่อยๆ เช่นนี้ แหล่งน้ำของหมู่บ้าน และไร่สวนทั้งหมดก็คงไม่รอด

นางซานจี จากบ้านมูดูบอกว่า ชาวบ้านกำลังกังวลใจมาก เพราะยังคุยเรื่องการโยกย้ายและค่าชดเชยกันไม่เรียบร้อย เธอแปลกใจมากเมื่อรู้ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางบริษัทประกาศกับสื่อว่าได้ย้ายชาวบ้านเกือบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เธอยืนยันว่า ยังไม่มีใครย้ายออกจากพื้นที่

“พวกเราไม่อยากย้าย แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ที่ดินที่มีอยู่เขาก็ไม่ชดเชยให้หมด เพราะเขาบอกว่าที่ดินที่ไม่ได้ทำอะไรก็จะไม่ให้ค่าชดเชย หลายคนก็กังวลว่าบ้านใหม่ที่จะอพยพไปอยู่นั้น จะทำอะไรกิน เพราะไม่มีที่ทำกินให้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องโครงการว่ามันคืออะไร แต่อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้างที่จะไม่ต้องย้ายออกจากพื้นที่”

ส่วนชุมชนกามองต่วย ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการตัดผ่านของถนนที่จะเชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ก็ไม่พอใจกับสิ่งที่บริษัทดำเนินการ

ที่ผ่านมามีการตัดถนนรุกเข้าไปใน ที่ทำกินและทำลายพืชผลของชาวบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือล่วงรู้มาก่อน จนชาวบ้านต้องประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้าไปในพื้นที่ แม้ในภายหลังจะมีทีมนักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านก็ล้มการประชุมหลังจากเจรจากันได้ไม่นาน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางทีมงานตอบคำถามสำคัญๆ ไม่ได้ และไม่มีความเชื่อมั่นว่าทีมนักวิชาการจะมีความเป็นกลางเพราะถูกจ้างโดย บริษัท

ที่สำคัญ พวกเขาเห็นว่ามันผิดหลักการที่จะมาทำการศึกษาหลังจากที่โครงการได้เริ่มดำเนินการและสร้างความเสียหายไปแล้ว

สำหรับหมู่บ้านกาโลนท่า แผนการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้สร้างสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ ชาวบ้านกว่า 1,000 คนกำลังทุกข์ใจและไม่พอใจกับแผนของบริษัทที่จะอพยพพวกเขาออกไปอยู่ที่อื่น เพราะบ้านเรือนและที่ทำกินของทั้งหมู่บ้านจะจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ แม้บริษัทเสนอจะจ่ายค่าชดเชยและสร้างบ้านใหม่ให้ในที่ที่ไกลออกไป แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปไหน

ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางโครงการเข้าไปเจรจาเรื่องการโยกย้าย พวกเขาต่างชูป้ายต้อนรับว่า "ไม่เอาเขื่อน" และ "ไม่ย้ายออกจากพื้นที่"

ล่าสุด ในเวทีสาธารณะที่ทางรัฐบาลพม่าจัดขึ้นที่ทวาย ซึ่งมีรัฐมนตรี ผู้ว่าการแคว้นตะนาวศรี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น คนจากองค์กรการเมือง องค์กรท้องถิ่น และชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมราว 300 คน โดยฝ่ายทางการกลับตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากชาวบ้านตามที่ต่างๆ ที่ไม่ต้องการโยกย้ายออกจากพื้นที่ พวกเขาและนักกิจกรรมยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการ และหาทางเลือกในการพัฒนาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน

“เราไม่ต้องการสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เราอยากให้รัฐบาลประเมินการสร้างเขื่อนในเขตกาโลนท่า พวกเรามีอาชีพทางการเกษตร ถ้าสร้างเขื่อน ที่ดินทำกิน สวน และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าก็จะสูญหายไป แม่น้ำของเราให้ชีวิตไม่เฉพาะชาวกาโลนท่าเท่านั้น แต่ยังเอื้อกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่นๆ ตามลำน้ำด้วย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมใหม่ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและนอกประเทศ” นายอู คา เมียน จากบ้านกาโลนท่า กล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่ประชุม

ส่วน นายอู โซ วิน จากบ้านเท็นจี ในเขตนาบูเล ตั้งคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่า "ชาวบ้านเท็นจีหลายคนไม่ต้องการย้าย พวกเขาบอกให้ผมมาที่นี่เพื่อถามเจ้าหน้าที่รัฐว่า ถ้าพวกเขาไม่ย้ายออก รัฐบาลจะจับกุมพวกเขาไหม? พวกเราอยากรู้ว่า มันมีกฎหมายอะไรที่อนุญาตให้รัฐบาลจับกุมพวกเราที่ปฏิเสธที่จะอพยพออกจากพื้นที่"

เสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นเสียงที่รัฐบาลพม่ากำลังหนักใจไม่น้อย และเป็นปมปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไทย รวมถึงนักลงทุน และธนาคารที่ให้เงินสนับสนุนในโครงการนี้ไม่อาจหลับหูหลับตาปฏิเสธการรับรู้ไปได้

การอพยพผู้คนจำนวนนับหมื่น การแตกสลายของหมู่บ้านและชุมชนอย่างถอนรากถอนโคนที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องจากนี้ไปไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาภาวะกดดันอย่างไร้ทางออก กลายเป็นการเผชิญหน้าทางสังคมที่น่าวิตก และอาจปะทุเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ

รัฐบาลไทยกำลังอ้างความชอบธรรมโดยใช้ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อกระโดดเข้าไปสังฆกรรมกับโครงการทวาย เรากำลังทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการประเภทอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะก่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ นานาสารพัดเช่นเดียวกับปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เช่นที่มาบตาพุด

นายกรัฐมนตรีไทยบินไปทวายเพื่อเจรจาเดินหน้าโครงการ ณ พื้นที่ปัญหาของประชาชนนับหมื่นที่กำลังจะถูกผลักดันให้อพยพ โดยไม่ได้แยแสต่อความทุกข์ร้อนของคนในพื้นที่

... หรือนี่คือหนทางนำไปสู่ความมั่งคั่งที่ประเทศไทยมุ่งหวัง โดยไม่เหลียวมองถึงความทุกข์ยากและสิทธิของประชาชนในทวาย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งไทยและพม่าในระยะยาว