Skip to main content
ผมยืนขึ้น
ก้าวไปข้างหน้า
 น้ำถึงราวนม เท้าจับทรายไม่อยู่ รู้สึกทรายเคลื่อนตัวลง ตัวผมจมลงไป รู้ทันทีว่าทรายดูดหรือ "ทรายมาน" ใจหายวาบ รีบใช้มือตีน้ำ ผ่อนน้ำหนักที่เท้า บิดตัวถอยหลังอย่างฉับพลัน ใช้เท้ายันพื้นทราย เท้าจับทรายได้แล้ว ถอยเท้าอย่างรวดเร็ว รีบขึ้นหาดทราย ประมาทไม่ได้เลยกับภัยในน้ำ เหลียวดูเพื่อน เขากลับลงเล่นน้ำกันอีก 

ได้ยินเสียงบุญส่งผู้ไม่นุ่งกางเกงในโวยวายว่า  "อะไรกัดไม่รู้  สงสัยปลาปักเป้า..."  บุญส่งรีบวิ่งขึ้นบนหาดทราย ใช้มือทั้งสองปิดตรงส่วนสำคัญ หน้าตาเขาไม่ดีนัก เพื่อนๆ บอกว่าเปิดมือตรวจดู ปรากฏว่าอะไรๆ ยังอยู่ครบ นึกถึงตอนนี้ทีไรอดยิ้มไม่ได้ ผมหัดว่ายน้ำจากสระธรรมชาติอยู่นาน บอกไม่ได้ว่าว่ายเป็นหรือยัง รู้แต่ว่าผมยืนในน้ำ  ช้แขนเหยียดไปข้างหน้า เหยียดเท้าไปข้างหลัง ทำลำตัวขนานกับผิวน้ำ  ทำมือคล้ายใบพาย แล้วจ้วงน้ำเข้าหาตัว เท้าทั้งสองทั้งถีบทั้งดีด มือจ้วงไปหนึ่งทีก็จม พอนานไปมือจ้วงสองสามทีจึงค่อยจม คือลอยตัวเคลื่อนไปข้างหน้าได้นานขึ้น ผมเห็นเพื่อนอีกคนกำลังนั่งยองๆ ริมหาดทราย  ใช้มือขวาวักน้ำหยอดหูขวา แล้วเดินเอียงหัวไปข้างซ้าย เดินขึ้นไปบนหาดทราย กระโดดตัวลอยขึ้นโดยเอียงหัวมาข้างขวา กระแทกฝ่าเท้ากับพื้นทรายแรงๆ สักพักก็หยุด เป็นวิธีเอาน้ำที่เข้าขังในหูข้างขวาออก นักเล่นน้ำจะรู้วิธีช่วยตนเองแบบนี้กันทุกคน


ภาพวัยเด็กหายไป
ผมกวาดตามองไปทางขวา ผ่านสะพานนครพิงค์ (ขัวใหม่) อยากเห็นภาพอดีตแถวสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ถัดออกไป ผมเดินข้ามถนนผ่านสะพานนครพิงค์ เดินตามทางเท้าริมฝั่งแม่ปิง  มาหยุดที่ริมฝั่ง  ห่างจากสะพานนครพิงค์ราว 15 เมตร  มองเห็นสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ชัดเจน จินตนาการสู่วัยรุ่นอีกครั้ง 

เข้าสู่ฤดูแล้ง
น้ำปิงเริ่มแห้ง
  มีหาดทรายปรากฏกระจายไปทั่ว ส่วนริมฝั่งใกล้เทศบาลนครเชียงใหม่ยังมีน้ำไหลอยู่  ช่วงเวลานั้นยังไม่มีการสร้างสะพานจันทร์สมอนุสรณ์  ตำแหน่งตรงนี้ จะมีการสร้าง  "ขัวแตะ" (สะพานที่สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่ที่ใช้ทำรั้ว มาสานขัดกันไปมาจนเป็นแผง วางต่อกันบนเสาไม้ไผ่) ระหว่างท่าน้ำหน้าวัดเกตการามกับตลิ่งด้านเหนือตลาดต้นลำไย ผมเดินบนขัวแตะ ไม้ไผ่ที่สานเป็นตัวสะพาน อ่อนยวบยาบตามเท้าที่เราเหยียบลงไป ถ้าเดินเดี่ยวตรงกลางสะพานไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเดินสวนกัน ต้องแบ่งพื้นที่กันให้ดี ใครชิดซ้ายมากเป็นขอบของขัวแตะ อาจหล่นลงได้ ตาผมมองหาดทรายทั้งซ้ายขวา ตรงนี้เองที่แม่บอกว่า  

"ในสมัยที่แม่ยังเป็นเด็กนักเรียน ครูพลศึกษาพาแม่มาซ้อมวิ่งบนหาดทรายบ่อยๆ กล้ามขาจะได้แข็งแรง เพราะวิ่งบนทรายมันใช้แรงมาก เนื่องจากทรายมันยุบตัว เท้ายันไม่ถนัด พอไปวิ่งบนทางเรียบ วิ่งตัวเบาแล่นฉิวเลย"  


แม่หยิบรูปภาพรับถ้วยมาให้ผมดู...ผมมาถึงท่าน้ำตรงตรงข้าม เดินไปอีกเล็กน้อย   ข้ามหน้าวัดเกตการาม ผ่านประตูวัด ทางซ้ายมือมีห้องเล็ก เป็นห้องสมุดของวัด ปัจจุบันเป็นโรงเก็บรถ ผมกับเพื่อนมาอ่านหนังสือประเภทนิยายที่นี่บ่อยๆ ยามปิดภาคเรียน เช่นเรื่อง  "สี่คิงของ "เศก  ดุสิต"

 

 

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  เมื่อบิดาสาวทราบ จึงมอบไข่จำนวนหนึ่งให้ชายหนุ่ม และให้รีบกลับบ้านโดยเร็ว ทันใดนั้น ได้ยินเสียงม้าวิ่งดังก้องมาแต่ไกล เป็นเสียงผีม้าบ้อง ซึ่งได้ไปเลียซากหัวควาย จึงได้ลิ้มรสพริกแต้อันเผ็ดร้อน มันจึงรู้ว่าเพื่อนแกล้ง ชายหนุ่มรีบลงเรือนสาว วิ่งกลับบ้านโดยเร็ว โดยมีผีม้าบ้องวิ่งไล่ตามไปติดๆ เมื่อเกือบทัน ชายหนุ่มก็โยนไข่ให้ 1 ฟอง ผีม้าบ้องก็หยุดเลียกินไข่ที่ตกแตกบนพื้นดิน ชายหนุ่มก็วิ่งห่างออกไป เหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้ทุกระยะ เมื่อไข่หมดก็ถึงบ้านพอดี วิ่งขึ้นบ้านแล้วก็กลับบันได ตามคำแนะนำของบิดาสาว ผีม้าบ้องมาถึง มันพูดว่า ‘ เรือนใช่ บันไดบ่ะใจ่…’ ชายหนุ่มได้ยินเสียงม้าร้อง…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ครูที่เราเคารพศรัทธา มีตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ท่านเป็นครูทั้งการสอนและความประพฤติ ใครหนอเป็นครูคนแรก ตอบได้เลยว่าพ่อแม่ พ่อแม่บางคนทันสมัย ได้ทราบถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่า เด็กสามารถเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีการอ่านหนังสือให้เด็กฟังขณะอยู่ในท้องแม่ เป็นการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เด็กจะมีการพัฒนา เช่น ด้านภาษา กล้ามเนื้อ อารมณ์ ฯลฯ
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
    ควันจะฟังรู้เรื่องหรือไม่มิอาจยืนยันได้ แต่เด็กๆอย่างพวกเรา มักจะพูดอย่างนี้ทุกคน มันได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง บางครั้งว่าแก้เคล็ดแล้ว ย้ายที่นั่งผิงแล้ว ไฟยังตามรังควานไม่เลิก แสบจนต้องหลิวตาเบนหน้าหนี ยุคสมัยนั้น แต่ละบ้านจะมีการนั่งผิงไฟยามกลางคืน ส่วนใหญ่หย่อมบ้านยังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด โทรทัศน์วิทยุยังไม่มี บ้านใครมีวิทยุใช้ถ่าน ถือว่าเยี่ยมยอด ทันสมัย ดังและเท่ ใครมักพูดถึงเสมอ วิทยุต้องใช้ถ่านเป็นลังทีเดียว วิทยุนี้จะมีหลอดตัวเร่งเสียงให้ดัง จึงได้เกิดสำนวนเปรียบเปรยคนพูดเสียงดังว่า “อู้ดังเหมือนวิทยุ 8 หลอด”
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ใกล้ประตูบ้านอู๊ด เห็น “อุ๊ยลอย” ยายของอุ๊ด กำลังใช้ปลายนิ้วหมุนกระบอกข้าวหลาม กลับไปมาตามราวเหล็กเหนือกองถ่านแดง ราวเหล็กสำหรับผิงกระบอกข้าวหลามมีสองด้านขนานกัน ถ่านแดงๆกองอยู่ระหว่างราวทั้งสองนี้ กองถ่านแดงๆจะส่งความร้อนให้กระบอกข้าวหลามทั้งสองแถว แม่ของอุ๊ดเป็นลูกสาวของอุ๊ยลอย อุ๊ยลอยอายุ 60 กว่าปีไล่เลี่ยกับอุ๊ยคำของผม แต่ก็ยังขายข้าวหลามเลี้ยงตนเอง ผมวิ่งขึ้นบันไดไปหาอุ๊ยคำ กอดเอวอุ๊ยแล้วเหนี่ยวไหล่ลงมา กระซิบที่หูของตังค์ 1 บาท บอกจะไปซื้อข้าวหลาม “กิ๋นข้าวเจ้าแล้ว ยังบ่ะอิ่มเตี้ยกา ?” อุ๊ยบ่นแต่มือล้วงเข้าไปใต้เสื้อกันหนาว…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ทำตามอุ๊ยบอก เดินลงบันได สวมรองเท้าแตะที่เย็นเล็กน้อยมานั่งก้อม (ม้านั่งเตี้ย) ข้างกองไฟ เจ้านากคงนอนต่อไป ปีกจมูกสีดำชื้นๆขยับขึ้นลง แสงแดดอ่อน ค่อยสาดส่องลอดใบไม้กิ่งไม้สู่ลานบ้าน ความหนาวเยือกถูกเทพแห่งความร้อนรุกไล่ เสียงอุ๊ยตะโกนจากบนบ้าน ให้ผมปัดกวาดสาดแหย่ง (เสื่อที่ทอจากผิวคล้า คือกกชนิดหนึ่ง) ที่ปูบนตั่ง (ที่สำหรับนั่ง ไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่มีขาก็ได้) ให้สะอาด ตั่งนี้อยู่ข้างรั้ว ห่างจากกองไฟเล็กน้อย สักครู่อุ้ยถือถ้วยมายืนที่ตีนบันได เรียกผมให้ไปรับ ผมสาวเท้าไปหา อุ๊ยบอกว่า “แกงผักขี้หูด” ใส่ปลาแห้งมันร้อน ให้ถือย่างระมัดระวัง อีกถ้วยใส่แคบหมูกรอบๆขนาดชิ้นละคำน่ากิน…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ปีนี้หนาวเหน็บจนคางสั่น ฟันกระทบกันดังกึกๆ วิทยุรายงานว่า หนาวที่สุดในรอบ 30 ปี ผมวัย 10 ขวบกับอุ๊ยคำ (มารดาของพ่อหรือแม่)เข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ได้มาหิง(ผิง)ไฟข้างรั้วเหมือนทุกคืน พ่อแม่ผมที่อยู่อีกหลังหนึ่ง มานั่งหิงไฟสักพัก พ่อได้ส่งเสียงถามอุ๊ย
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เวลา 13.00 น. เศษ ผมจำได้ว่าเป็นวัน “มาฆบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โรงเรียนปิด ผมไม่ได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน บอกก่อนว่า ผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน) กำลังศึกษาในระดับ ป.ป.(ประโยคครูประถม) หลักสูตรเรียน 1 ปี ขณะนี้อยู่ระยะฝึกสอน
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  อาจารย์ชูชัย อธิบายตัวอย่างพีชคณิตบนกระดานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ท่านหันมามองพวกเราสลับกับการบอกความเป็นมา เมื่อได้คำตอบของโจทย์แล้ว ท่านโยนเศษชอล์กกะให้ลงในกล่อง มันลงกล่องได้พอดิบพอดี เป็นครั้งแรกในการโยนราวสิบกว่าครั้ง ท่านยิ้มพอใจในผลงาน ขยับแว่นตานิดหนึ่ง หันมามองพวกเราอีกครั้ง “แค่นี้แหละ...เข้าใจไหม ? ใครไม่เข้าใจตรงไหนถามได้”
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
หัวมะพร้าวถูกมีดสับเป็นฝาเล็กๆ เราใช้มือง้างออก เสียบหลอดดูดจากแม่ค้าลงไป กลิ่นหอมมะพร้าวเผาเข้าจมูกขณะเราก้มลงดูดน้ำมะพร้าวแสนหอมและหวาน เราแบ่งกันดูด พอน้ำหมด เราจะใช้นิ้วมือหยักเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆมาชิมก่อน จับมะพร้าวทั้งลูกทุบลงกับพื้นหินผ่าเสียงดังโป๊ะๆ จนกะลาแตก เราใช้มือทั้งสองดึงง้างให้กะลาแยกเป็นสองส่วน เนื้อมะพร้าวที่ล่อนไม่ติดกับผิวข้างใน จะปรากฏเป็นผลกลมให้เราได้ลองลิ้ม เนื้อมันมันนุ่มหอมเหมือนน้ำมะพร้าว ถ้าเป็นมะพร้าวแก่เนื้อจะหนา เนื้อจะบางถ้ามะพร้าวหนุ่ม กะลาที่กินหมดแล้วเราโยนเข้าป่าเพราะไม่มีถังขยะ ในน้ำใสยังมีกะลาถูกทิ้งลงไปหลายแห่ง…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าร้านนี้ ผมกินประจำ จะปั่นรถถีบ “ราเล่ห์” (RALEIGH) สีเขียวคู่ใจมาซื้อกินเสมอมา ซื้อไปกินกับข้าวเหนียวที่บ้านอร่อยมากครับ ไม่ใช่กินแบบประหยัด สาเหตุหนึ่งคงมาจากถูกสอน อะไรๆก็กินกับข้าวเหนียว เราเดินผ่านร้านนี้มาแล้ว แต่เสียงตะหลิวสัมผัสกระทะขณะผัดก๋วยเตี๋ยว ยังดังตามหลังเรามาแล้วห่างหายไป แต่ภาพเส้นราดหน้าขนาดขนาดใหญ่ ที่ถูกจับวางบนแผ่นวัสดุใส่ ซึ่งรองด้วยกระดาษหนังสือชั้นล่างสุด เจ้าตี๋คนผัดฝีมืออันดับหนึ่งของร้าน ใช้กระบวยตักน้ำราดหน้า ที่มีเนื้อหมูชิ้นหวาน คละเคล้าผักคะน้าคลุกน้ำขุ่นข้น ถูกเทราดลงบนเส้น…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ห้างตันตราภัณฑ์ เป็นร้านขายของที่ดังที่สุดของเชียงใหม่ขณะนั้น ใครซื้อสินค้าจากร้านนี้ถือว่าคุณภาพเยี่ยมแต่ราคาค่อนข้างแพง สินค้าขายมีนานาชนิด เช่น เสื้อกันหนาว เสื้อ กางเกง รองเท้า น้ำหอม เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา แว่นตา ของเล่นเด็ก ฯลฯ พวกเราเดินกันไปจนสุดถนนท่าแพ มองข้ามถนนไปตรงหน้า จะเห็นประตูท่าแพ พวกเรานักเที่ยววัยรุ่นผู้ชอบเที่ยวแบบประหยัด เลี้ยวซ้ายตามกันไปเป็นพรวน เดินไปไม่กี่ก้าวจะถึงโรงหนังสุริวงค์ พาเหรดเข้าไปในโรงหนัง กระจายกันดูหนังแผ่นตามแผงที่ติดรูป โดยมีกระจกปิดอีกชั้น เป็นภาพโปรแกรมหนังที่ฉายในวันนี้ และโปรแกรมต่อไป…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา “เจียงใหม่” ครั้งกระนั้นเป็นอย่างไร อยากฉายภาพให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้รับรู้ อยากเล่าเรื่องราวที่ผมได้พบเห็น ได้โลดแล่นบนแผ่นดินนี้ ได้เดินไปมาบนถนน ได้หายใจได้สัมผัส และยังเหลือร่องรอยเค้าเดิม มากบ้างน้อยบ้าง ให้ผู้คนในวันนี้ได้มองเห็นบ้านเรือน ถนนหนทาง สะพานนวรัฐ เจดีย์กิ๋ว เจดีย์หลวง ประตูท่าแพ ดอยสุเทพ ห้วยแก้ว ฯลฯ วัฒนธรรมอันดีงามของคนเมือง ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวที่ผ่านมาไม่นานกับปัจจุบันได้ โดยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ สิ่งตีพิมพ์เก่าได้ไม่ยากนัก