Skip to main content

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

 

 

 

มนุษย์เรียนรู้ได้ดีแม้อายุมากใช่ไหม

เพื่อนผมหัดร้องเพลงดีดกีตาร์เมื่ออายุ 59 ปี คุณจริน ยุทธศาสตร์โกศล หัดเต้นบัลเลต์เมื่ออายุ 50 ปีจนเก่ง

คุณปู่แอลเลน สจ๊วด เรียนจบปริญญาโทตอนอายุ 97 ปี เกิดคำถามตามมาว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ง่าย สบายมากอย่างนั้นหรือ  เรียนรู้ได้เหมือนคนหนุ่มสาวปานนั้นหรือไร ผมไม่มีภูมิพอจะตอบได้เลย ขออนุญาตนำคำตอบจาก internet หัวข้อ “สมองเรียนรู้ได้ไม่จำกัด.” ไม่ทราบชื่อผู้เขียน แต่ระบุแหล่งข้อมูลว่า htt://www.Sudipan  มีหลายเรื่องที่น่าสนใจสำหรับทุกคน ทั้งบิดามารดา ลูกๆ และคนทั่วไป เพราะมันเกี่ยวกับสมอง เจ้าก้อนเนื้อสีเทาที่น้ำหนักราว 1.4 กิโลกรัม ดังนี้ครับ

       เรื่องไหนที่เราไม่ได้รู้ในวัยหนึ่ง ยังสามารถเรียนรู้ได้ แต่มันอาจยากขึ้น เช่น ต้องอ่านหนังสือหลายๆเที่ยวมากกว่าเด็กมากกว่าวัยหนุ่มสาว ต้องฝึกเต้นบัลเลต์อย่างหนัก ใช้เวลานานกว่าเด็ก ผู้เขียนท่านนี้ยังบอกอีกว่า สมองคนเรามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นประจำทุกวัน ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าใด เส้นใยสมองยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ และยังบอกอีกว่า หากเราใช้สมองเป็นประจำ คิดอะไรใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ จะช่วยชะลอสมองให้เป็นเด็กตลอดกาล และข้อความสำคัญที่ทำให้คนแก่และคนที่กำลังจะกลายเป็นคนแน่นอนในอนาคต ยิ้มได้คือ “สมองคนแก่ที่ชอบเรียนรู้ กระตือรือร้นนั้น มีลักษณะคล้ายเด็ก...” คงหมายความว่า เรียนรู้ได้เร็ว เรียนรู้ได้ง่ายอย่างนั้น

 

ผมบ้าหนังสือ

ชอบซื้อหนังสือที่เราสนใจครั้งละหลายเล่ม แม้ไม่ค่อยมีเงินนัก อ่านดะไปเรื่อยเปื่อย อ่านแล้วเหมือนเราอยู่ในอีกโลกหนึ่ง กำลังฝึกใจตนเอง  ใช้มุมมองใหม่ อ่านหนังสือที่เราไม่ชอบมาก่อน อ่านหนังสือคนที่เราเคยเบือนหน้าหนีนามปากกานั้นๆ ขณะอ่านทำใจให้ว่างเปล่า โอ ทำให้ได้พบอะไรใหม่ๆดีๆมากมายเลยครับ มีหนังสือที่ผมสนใจมากขณะนี้ ผู้เขียนชื่อ คุณหนูดี วนิษา เรซ  ผมได้ซื้อหนังสือของเธอมาจำนวน 3 เล่ม ชื่อหนังสือว่า  “อัจฉริยะสร้างได้.” “อัจฉริยะสร้างสุข.” และ “อัจฉริยะเรียนสนุก.” เธอเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน

           ปริญญาโท เกียรตินิยมจาก Harvard University , Boston , U.S.A . ด้านวิทยาการทางสมอง ในโปรแกรมชื่อ Mind , Brain and Education และปริญญาตรี เกียรตินิยม จาก  University Of  Maryland at  College Park . U.S.A . ด้านครอบครัวศึกษา(Family Studies)  อาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.โฮวาร์ด

การ์เนอร์(DR. Howard Garner) เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา(Theory of  Multiple Intelligences) หรืออัจฉริยะ 8 ด้านของมนุษย์  ซึ่งในวงการครู วงการศึกษา รู้เรื่องนี้ดี  ผมอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากหนังสือทั้ง 3 เล่มข้างต้น แล้วจดบันทึกไว้ว่า

                1. เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ในทุกที่ทุกสังคม

                2.การฝึกฝนและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ สามารถทำให้สมองเรามีประสิทธิภาพดีขึ้น...ส่วนนี้ผมกำลังฝึก

                3.บางส่วนของสมองต้องใช้ประสบการณ์กระตุ้น จึงจะทำให้สมองดีขึ้น เช่น การมอง การฟัง การสัมผัส การเคลื่อนไหว ดังนั้นเราต้อง “ลงมือทำ.” และทำเป็นประจำเท่านั้น จึงจะกระตุ้นสมองได้จริง เป็นต้นว่า การเรียนภาษา การเต้น(รำ) การเล่นกีฬา

                4. ภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้คือ ภาวะอารมณ์สงบแต่ตื่นตัว(Relaxed Alertness)

ถ้าสงบเกินไปเราจะง่วง แต่ถ้าเราตื่นตัวเกินไป ใจเราจะวุ่นวายจนอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง สมองไม่รับรู้ข้อมูล

หากใจไม่สงบให้ทำสมาธิ หรือให้อาหารปลา ถ้าง่วงให้ออกวิ่งเหยาะๆ หรือหาอะไรอร่อยมากิน หรือดื่มน้ำแก้วโตแล้วมองดูใบไม้ในสวน

                  5.สมองเราทำงานตลอดเวลา ทั้งยามหลับและตื่น (บันทึกมาถึงส่วนนี้ ผมต้องหยุดคิดว่า จริงไหมหนอ)ยามเราคิดหนัก ยามใจลอย ส่วนที่ไม่เคยหยุดพักเลยคือ “ จิตใต้สำนึก.”

                  6.จิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก มันจะผลัดกันตื่น ผลัดกันทำงาน เมื่อยามที่เราตื่นมีสติรู้สึกตัว ตอนนั้นจะเป็นจิตสำนึกทำงานแล้วจิตใต้สำนึกก็จะหลับอยู่ แต่ก็ยังคอยเก็บข้อมูลตามที่จิตสำนึกส่งไปให้เก็บอยู่เรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เราเคลิ้มจะหลับจนถึงหลับสนิท จะเป็นเวลาที่จิตสำนึกจะหลับแล้วเป็นจิตใต้สำนึกที่ตื่นมาทำงาน ดังนั้นความฝันทั้งหลาย ก็คือจิตใต้สำนึกเป็นตัวสร้างภาพขึ้นมายามที่เราหลับ(จาก INTERNET หัวข้อ หลักการสั่งจิตใต้สำนึก-ไม่ยากเท่าที่คิด ไม่ทราบชื่อผู้เขียนครับ)

                   7.ความทุกข์สุขไม่ได้อยู่ที่ใจ แต่อยู่ในสมอง

                   8.ความเครียดอ่อนๆในช่วงก่อนสอบ ยิ่งทำให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้น จำแม่นขึ้น เพราะสารเคมีที่หลั่งออกมาสำหรับความเครียดระยะสั้นคือ “อะดรีนาลิน.” นั้น มันคนละตัวกับฮอร์โมนความเครียดระยะยาว...ฮึม ประเด็นนี้น่าสนใจ ตอนเรียนหนังสือ อาจารย์ขีดเส้นใต้ให้ส่งงานวันนั้นวันนี้ เราปั่นงานกันหน้าดำคล้ำเครียด เร่งงานกันตลอดวันตลอดคืน กินข้าว 2-3 คำ ห้องน้ำห้องท่าแทบลืมไปเลย ว่าแต่เครียดอ่อนๆมันแค่ไหน อาการอย่างไร คิดเองนะว่า ขณะมีความเครียด แต่เรายังยิ้มออกบ้าง หัวเราะเล็กน้อยได้ แต่ถ้าเครียดหนัก เครียดยาว ชนิดซึมเหงาหลายๆวัน ต้องระวังแล้วครับ. จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ อันตรายทีเดียว.

 

                                           ........................................................................

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  เมื่อบิดาสาวทราบ จึงมอบไข่จำนวนหนึ่งให้ชายหนุ่ม และให้รีบกลับบ้านโดยเร็ว ทันใดนั้น ได้ยินเสียงม้าวิ่งดังก้องมาแต่ไกล เป็นเสียงผีม้าบ้อง ซึ่งได้ไปเลียซากหัวควาย จึงได้ลิ้มรสพริกแต้อันเผ็ดร้อน มันจึงรู้ว่าเพื่อนแกล้ง ชายหนุ่มรีบลงเรือนสาว วิ่งกลับบ้านโดยเร็ว โดยมีผีม้าบ้องวิ่งไล่ตามไปติดๆ เมื่อเกือบทัน ชายหนุ่มก็โยนไข่ให้ 1 ฟอง ผีม้าบ้องก็หยุดเลียกินไข่ที่ตกแตกบนพื้นดิน ชายหนุ่มก็วิ่งห่างออกไป เหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้ทุกระยะ เมื่อไข่หมดก็ถึงบ้านพอดี วิ่งขึ้นบ้านแล้วก็กลับบันได ตามคำแนะนำของบิดาสาว ผีม้าบ้องมาถึง มันพูดว่า ‘ เรือนใช่ บันไดบ่ะใจ่…’ ชายหนุ่มได้ยินเสียงม้าร้อง…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ครูที่เราเคารพศรัทธา มีตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ท่านเป็นครูทั้งการสอนและความประพฤติ ใครหนอเป็นครูคนแรก ตอบได้เลยว่าพ่อแม่ พ่อแม่บางคนทันสมัย ได้ทราบถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่า เด็กสามารถเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีการอ่านหนังสือให้เด็กฟังขณะอยู่ในท้องแม่ เป็นการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เด็กจะมีการพัฒนา เช่น ด้านภาษา กล้ามเนื้อ อารมณ์ ฯลฯ
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
    ควันจะฟังรู้เรื่องหรือไม่มิอาจยืนยันได้ แต่เด็กๆอย่างพวกเรา มักจะพูดอย่างนี้ทุกคน มันได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง บางครั้งว่าแก้เคล็ดแล้ว ย้ายที่นั่งผิงแล้ว ไฟยังตามรังควานไม่เลิก แสบจนต้องหลิวตาเบนหน้าหนี ยุคสมัยนั้น แต่ละบ้านจะมีการนั่งผิงไฟยามกลางคืน ส่วนใหญ่หย่อมบ้านยังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด โทรทัศน์วิทยุยังไม่มี บ้านใครมีวิทยุใช้ถ่าน ถือว่าเยี่ยมยอด ทันสมัย ดังและเท่ ใครมักพูดถึงเสมอ วิทยุต้องใช้ถ่านเป็นลังทีเดียว วิทยุนี้จะมีหลอดตัวเร่งเสียงให้ดัง จึงได้เกิดสำนวนเปรียบเปรยคนพูดเสียงดังว่า “อู้ดังเหมือนวิทยุ 8 หลอด”
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ใกล้ประตูบ้านอู๊ด เห็น “อุ๊ยลอย” ยายของอุ๊ด กำลังใช้ปลายนิ้วหมุนกระบอกข้าวหลาม กลับไปมาตามราวเหล็กเหนือกองถ่านแดง ราวเหล็กสำหรับผิงกระบอกข้าวหลามมีสองด้านขนานกัน ถ่านแดงๆกองอยู่ระหว่างราวทั้งสองนี้ กองถ่านแดงๆจะส่งความร้อนให้กระบอกข้าวหลามทั้งสองแถว แม่ของอุ๊ดเป็นลูกสาวของอุ๊ยลอย อุ๊ยลอยอายุ 60 กว่าปีไล่เลี่ยกับอุ๊ยคำของผม แต่ก็ยังขายข้าวหลามเลี้ยงตนเอง ผมวิ่งขึ้นบันไดไปหาอุ๊ยคำ กอดเอวอุ๊ยแล้วเหนี่ยวไหล่ลงมา กระซิบที่หูของตังค์ 1 บาท บอกจะไปซื้อข้าวหลาม “กิ๋นข้าวเจ้าแล้ว ยังบ่ะอิ่มเตี้ยกา ?” อุ๊ยบ่นแต่มือล้วงเข้าไปใต้เสื้อกันหนาว…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ทำตามอุ๊ยบอก เดินลงบันได สวมรองเท้าแตะที่เย็นเล็กน้อยมานั่งก้อม (ม้านั่งเตี้ย) ข้างกองไฟ เจ้านากคงนอนต่อไป ปีกจมูกสีดำชื้นๆขยับขึ้นลง แสงแดดอ่อน ค่อยสาดส่องลอดใบไม้กิ่งไม้สู่ลานบ้าน ความหนาวเยือกถูกเทพแห่งความร้อนรุกไล่ เสียงอุ๊ยตะโกนจากบนบ้าน ให้ผมปัดกวาดสาดแหย่ง (เสื่อที่ทอจากผิวคล้า คือกกชนิดหนึ่ง) ที่ปูบนตั่ง (ที่สำหรับนั่ง ไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่มีขาก็ได้) ให้สะอาด ตั่งนี้อยู่ข้างรั้ว ห่างจากกองไฟเล็กน้อย สักครู่อุ้ยถือถ้วยมายืนที่ตีนบันได เรียกผมให้ไปรับ ผมสาวเท้าไปหา อุ๊ยบอกว่า “แกงผักขี้หูด” ใส่ปลาแห้งมันร้อน ให้ถือย่างระมัดระวัง อีกถ้วยใส่แคบหมูกรอบๆขนาดชิ้นละคำน่ากิน…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ปีนี้หนาวเหน็บจนคางสั่น ฟันกระทบกันดังกึกๆ วิทยุรายงานว่า หนาวที่สุดในรอบ 30 ปี ผมวัย 10 ขวบกับอุ๊ยคำ (มารดาของพ่อหรือแม่)เข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ได้มาหิง(ผิง)ไฟข้างรั้วเหมือนทุกคืน พ่อแม่ผมที่อยู่อีกหลังหนึ่ง มานั่งหิงไฟสักพัก พ่อได้ส่งเสียงถามอุ๊ย
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เวลา 13.00 น. เศษ ผมจำได้ว่าเป็นวัน “มาฆบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โรงเรียนปิด ผมไม่ได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน บอกก่อนว่า ผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน) กำลังศึกษาในระดับ ป.ป.(ประโยคครูประถม) หลักสูตรเรียน 1 ปี ขณะนี้อยู่ระยะฝึกสอน
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  อาจารย์ชูชัย อธิบายตัวอย่างพีชคณิตบนกระดานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ท่านหันมามองพวกเราสลับกับการบอกความเป็นมา เมื่อได้คำตอบของโจทย์แล้ว ท่านโยนเศษชอล์กกะให้ลงในกล่อง มันลงกล่องได้พอดิบพอดี เป็นครั้งแรกในการโยนราวสิบกว่าครั้ง ท่านยิ้มพอใจในผลงาน ขยับแว่นตานิดหนึ่ง หันมามองพวกเราอีกครั้ง “แค่นี้แหละ...เข้าใจไหม ? ใครไม่เข้าใจตรงไหนถามได้”
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
หัวมะพร้าวถูกมีดสับเป็นฝาเล็กๆ เราใช้มือง้างออก เสียบหลอดดูดจากแม่ค้าลงไป กลิ่นหอมมะพร้าวเผาเข้าจมูกขณะเราก้มลงดูดน้ำมะพร้าวแสนหอมและหวาน เราแบ่งกันดูด พอน้ำหมด เราจะใช้นิ้วมือหยักเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆมาชิมก่อน จับมะพร้าวทั้งลูกทุบลงกับพื้นหินผ่าเสียงดังโป๊ะๆ จนกะลาแตก เราใช้มือทั้งสองดึงง้างให้กะลาแยกเป็นสองส่วน เนื้อมะพร้าวที่ล่อนไม่ติดกับผิวข้างใน จะปรากฏเป็นผลกลมให้เราได้ลองลิ้ม เนื้อมันมันนุ่มหอมเหมือนน้ำมะพร้าว ถ้าเป็นมะพร้าวแก่เนื้อจะหนา เนื้อจะบางถ้ามะพร้าวหนุ่ม กะลาที่กินหมดแล้วเราโยนเข้าป่าเพราะไม่มีถังขยะ ในน้ำใสยังมีกะลาถูกทิ้งลงไปหลายแห่ง…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าร้านนี้ ผมกินประจำ จะปั่นรถถีบ “ราเล่ห์” (RALEIGH) สีเขียวคู่ใจมาซื้อกินเสมอมา ซื้อไปกินกับข้าวเหนียวที่บ้านอร่อยมากครับ ไม่ใช่กินแบบประหยัด สาเหตุหนึ่งคงมาจากถูกสอน อะไรๆก็กินกับข้าวเหนียว เราเดินผ่านร้านนี้มาแล้ว แต่เสียงตะหลิวสัมผัสกระทะขณะผัดก๋วยเตี๋ยว ยังดังตามหลังเรามาแล้วห่างหายไป แต่ภาพเส้นราดหน้าขนาดขนาดใหญ่ ที่ถูกจับวางบนแผ่นวัสดุใส่ ซึ่งรองด้วยกระดาษหนังสือชั้นล่างสุด เจ้าตี๋คนผัดฝีมืออันดับหนึ่งของร้าน ใช้กระบวยตักน้ำราดหน้า ที่มีเนื้อหมูชิ้นหวาน คละเคล้าผักคะน้าคลุกน้ำขุ่นข้น ถูกเทราดลงบนเส้น…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ห้างตันตราภัณฑ์ เป็นร้านขายของที่ดังที่สุดของเชียงใหม่ขณะนั้น ใครซื้อสินค้าจากร้านนี้ถือว่าคุณภาพเยี่ยมแต่ราคาค่อนข้างแพง สินค้าขายมีนานาชนิด เช่น เสื้อกันหนาว เสื้อ กางเกง รองเท้า น้ำหอม เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา แว่นตา ของเล่นเด็ก ฯลฯ พวกเราเดินกันไปจนสุดถนนท่าแพ มองข้ามถนนไปตรงหน้า จะเห็นประตูท่าแพ พวกเรานักเที่ยววัยรุ่นผู้ชอบเที่ยวแบบประหยัด เลี้ยวซ้ายตามกันไปเป็นพรวน เดินไปไม่กี่ก้าวจะถึงโรงหนังสุริวงค์ พาเหรดเข้าไปในโรงหนัง กระจายกันดูหนังแผ่นตามแผงที่ติดรูป โดยมีกระจกปิดอีกชั้น เป็นภาพโปรแกรมหนังที่ฉายในวันนี้ และโปรแกรมต่อไป…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา “เจียงใหม่” ครั้งกระนั้นเป็นอย่างไร อยากฉายภาพให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้รับรู้ อยากเล่าเรื่องราวที่ผมได้พบเห็น ได้โลดแล่นบนแผ่นดินนี้ ได้เดินไปมาบนถนน ได้หายใจได้สัมผัส และยังเหลือร่องรอยเค้าเดิม มากบ้างน้อยบ้าง ให้ผู้คนในวันนี้ได้มองเห็นบ้านเรือน ถนนหนทาง สะพานนวรัฐ เจดีย์กิ๋ว เจดีย์หลวง ประตูท่าแพ ดอยสุเทพ ห้วยแก้ว ฯลฯ วัฒนธรรมอันดีงามของคนเมือง ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวที่ผ่านมาไม่นานกับปัจจุบันได้ โดยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ สิ่งตีพิมพ์เก่าได้ไม่ยากนัก