Skip to main content

ยุคข้าวยากหมากแพง

สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มาก


อื่นๆ ก็อาทิเช่น

กะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาท

บวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาท

กล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว


ส่วนใบตอง และต้นกล้วย ราคาแล้วแต่เจรจา

มะพร้าว ลูกละ 5-7 บาท สวนมะพร้าวป้าแช่มเก็บเดือนละหนได้ครั้งละ 300-500 ลูก เก็บกินสบายๆ

พริก-ทั้งแดงทั้งเขียวอย่างสด กิโลกรัมละ 40 บาทขึ้นไปแล้ว ส่วนพริกแห้ง แว่วว่ากำลังขึ้นไปถึงโลละร้อยกว่าๆ

ฯลฯ

 

ลุงหนู- ได้กระดูกหมูมาราคาถูกๆ ตั้งใจว่าจะทำต้มจับฉ่ายเสียหน่อย ไม่ได้กินมานานปี ปั่นจักรยานไปตลาดนัด มุ่งตรงไปแผงผัก เลือกกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า หัวไชเท้า ผักกวางตุ้ง ผักชีล้อม อย่างละนิดละหน่อยกะว่าไม่น่าเกินสามสิบบาท พอแม่ค้าคิดเงินบอก หกสิบเจ็ดบาทค่ะ


ลุงหนูตกใจกระเป๋าสตางค์แทบร่วง

...กูต้มใส่น้ำเยอะๆ เอาไว้อุ่นกินสักเดือน แหม...เจ็บใจจริงๆ ผักสมัยนี้มันแพงชิบ...”

แกบ่นพึมพำในวงกาแฟ

ผักราคาแพง ไปถามป้าเรียง คนขายผัก แกก็ว่า

...ก็น้ำมันมันแพงนี่หว่า ไปจะรับซื้อผัก หรือขนผักไปขายก็ต้องใส่รถไป ไม่อยากขายแพงหรอก พอขายแพงลูกค้าก็บ่น ขายได้น้อยด้วย...”

เดินไปที่สวนผักของลุงไหว ที่แกปลูกไว้สารพัดอย่าง ทั้งถั่วฝักยาว มะเขือเทศ บวบ มะนาว

แกก็ว่า

...อ้าว-ราคายา ราคาปุ๋ยมันขนาดนี้แล้ว ถ้าผักราคาถูกก็ขาดทุนป่นปี้เท่านั้นเอง นี่ก็ว่าเมล็ดพันธุ์จะขึ้นราคาอีก เฮ้อ...เมล็ดผัก เมล็ดละบาท บริษัทมันยังรวยไม่พอหรือไง...”

ตาเอิบ เกี่ยวข้าวก่อนใครในหมู่บ้าน ได้มาร่วมสิบตัน ชาวบ้านต่างพากันถามไถ่ ปีนี้โชคดีจริงได้จับเงินแสน แต่ ตาเอิบ ส่ายหัวบอกว่า

...ได้จับแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ พอจ่ายค่าปุ๋ยค่ายาค่ารถไถค่ารถเกี่ยวค่านู่นค่านี่ ก็เหลือไม่กี่หมื่น แล้วไอ้ที่เหลือนี่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าเทอมให้ลูกด้วย...”


ดูเหมือนว่า คนซื้อกระเป๋ารั่วเงินไหล คนขายได้เงินเพิ่ม แต่คนขายก็ต้องไปซื้อเขากินเหมือนกัน

สรุปแล้ว ไม่มีเงินในกระเป๋าใครเพิ่มขึ้นหรอก นอกเสียจากนายทุน+นักการเมืองขี้โกงที่หากินบนความเดือดร้อนของคนพูดภาษาเดียวกัน

แต่อย่างไรเสีย ยุคข้าวยากหมากแพง อยู่บ้านนอก หรือชุมชนที่ค่าครองชีพต่ำ ก็เครียดน้อยกว่าอยู่เมืองใหญ่ ที่ก้าวขาออกจากบ้านก็เสียตังค์แล้ว แค่ค่ารถเมล์วันๆ ก็เกินครึ่งร้อยแล้วกระมัง

อยู่บ้านนอก มีข้าวแล้ว กับข้าวก็หาเอาตามหลังบ้าน ตามหัวไร่ปลายนา ไม่มีอดตาย ปลูกนู่นปลูกนี่ขายแม่ค้า เดือนหนึ่งได้สามสี่พันก็ยังพอถูไถ แต่คนขยันเขาว่ากันเดือนละเป็นหมื่น เป็นแสน


ตัดกะเพราวันละร้อยกิโล

เก็บมะนาววันละพันกว่าลูก

ตัดกล้วยวันละยี่สิบเครือ

ตัดตะไคร้วันละร้อยกว่ามัด

ตัดใบเตยวันละห้าร้อยใบ

เก็บเห็ดฟางวันละสี่สิบห้าสิบกิโล

ฯลฯ

 

ไอ้จก ทำงานโรงงานมาหลายปี พอแต่งเมียก็ออกจากงานมาอยู่บ้านเมีย ตั้งใจว่าจะทำงานด้านเกษตร เป็นนายตัวเองสบายใจกว่า พ่อตาแม่ยาย ก็ทำนาหลายสิบไร่ ปลูกผักอีกหลายไร่ แต่อยู่ๆ ไปก็ไม่มีทีท่าว่าจะแบ่งที่ทำกินให้ไอ้จกแต่อย่างใด


ลุงหมู บ้านอยู่คนละหมู่ เพาะเห็ดมาหลายปีจนมีกินมีใช้ มาแนะนำว่า ถ้าสนใจจะเพาะเห็ด แกจะช่วย ไอ้จก ลองหาหนังสือการเพาะเห็ดมาอ่านก็เห็นว่าเข้าท่าดี เลยขอที่แม่ยายแค่ไม่กี่ตารางวาปลูกโรงเห็ดเล็กๆ ที่หลังบ้าน


พอถึงวัน ลุงหมูก็เอาก้อนเห็ดมาลงให้ เริ่มต้นที่ห้าร้อยก้อน

 

เห็ดนั้นดูแลไม่ยาก รดน้ำสามเวลา ดูแลให้สะอาด บรรยากาศชุ่มเย็น แต่อย่าให้แฉะ แค่นั้นก็เก็บได้ทุกวัน แต่เห็ดไม่เหมือนพืชผัก จะไปบังคับมันไม่ได้ ใส่ปุ๋ยฉีดยาแบบพืชก็ไม่ได้ บทมันจะออกเยอะก็ขายแทบไม่ทัน บทมันจะไม่ออก มันก็ไม่โผล่ให้เห็นแม้แต่ตุ่มเดียว


เนื่องจากเห็ดที่เพาะส่วนใหญ่จะแพ็คใส่โฟมส่งแม่ค้าทั้งหมด ชาวบ้านจึงไม่ค่อยจะได้กิน แต่ไอ้จกเพาะเห็ดได้ก็ขายแถวบ้าน จากปากต่อปาก เห็ดแบบบ้านๆ จึงขายหมดแทบทุกวัน หลังๆ มีร้านอาหารมาสั่ง ได้ส่งประจำอีกต่างหาก


พอเห็ดเริ่มออกพอได้ขาย ไอ้จกกับเมียก็ขยันดูแล หมั่นรดน้ำ เก็บขายได้วันละหลายสิบบางวันก็เป็นร้อย

ราคาเห็ดแพก(หนักหนึ่งขีด)ส่งแม่ค้า แพกละ 7 บาท


ราคาเห็ดใส่ถุง ดอกเล็กบ้างใหญ่บ้าง ถุงละสองขีด ราคาถุงละสิบบาท

เห็ดนั้น มีเท่าไรแม่ค้าก็เอาหมด จะส่งเป็นกิโลก็น่าจะได้ราคาราว 35-40 บาท

ทำให้ไอ้จกเริ่มเชื่อมั่นว่า น่าจะไปได้ดีในอนาคต ไอ้จกกะว่าจะทำโรงใหญ่ ลงสักหมื่นก้อนไปเลย ถ้าเห็นผลลัพธ์ชัดๆ อย่างนี้ กู้เงินสหกรณ์ฯ มาลงทุนก็ไม่ต้องกลัว

 

สถานการณ์ข้าวยากหมากแพง วัตถุดิบในการประกอบอาหารล้วนขึ้นราคา ความต้องการก็เพิ่มขึ้นไม่หยุด เมื่อเมียไอ้จก ขอแบ่งที่จากพ่อแม่เพื่อทำโรงเห็ดก็ไม่มีปัญหา อะไรๆ มันก็ทำท่าจะดี

 

แต่ติดอยู่นิดเดียว

ก็ตรงที่ว่า ผักทั้งหลายที่เขาปลูกไว้นั้น ต้องฉีดยา แล้วเมื่อฉีดยา ก็เลี่ยงไม่ได้ที่มันจะฟุ้งเข้าไปในโรงเพาะเห็ด แล้วเมื่อเห็ด ซึ่งไวต่อทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมี โดนยาฆ่าแมลงเข้า มันก็จะไม่ออกดอก


จะไม่ให้ฉีดก็ไม่ได้ เพราะที่ดินนี้ มันไม่ใช่ของไอ้จก

จะไปเช่าที่เขา ก็ไม่คุ้มแน่ๆ เพราะที่ๆ มีน้ำก็แพง ส่วนที่ถูกๆ ก็ไม่มีน้ำ ไกลบ้าน ดูแลไม่ได้

ถึงความสัมพันธ์กับพ่อตาแม่ยายจะดี ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเขายังต้องปลูกผักยังต้องฉีดยา ไอ้จกก็หมดสิทธิ์เพาะเห็ด

แม้ว่าเห็ดยังคงราคาดี คนซื้อก็มีมากมาย

แต่อะไรๆ ที่ทำท่าจะดี หรือ ลู่ทางทำกินที่ทำท่าจะไปได้สวย ก็จำต้องเอวังด้วยประการฉะนี้

 

...อะไรๆ มันก็ดี ยกเว้นแต่ว่า...มันไม่ใช่ที่ของเรา...”

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…