Skip to main content

แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี


หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง


มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง

ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า ถ้าแกเกี่ยวตอนที่ราคากำลังพุ่ง แกอาจจะได้มากกว่านี้

...นี่ก็ดีมากมายแล้ว ปีก่อนนู้น ข้าเหลือแค่เจ็ดพัน...” แกว่า

...แกยังดีได้ตั้งเจ็ดพัน ข้าสิโดนปุ๋ยปลอมเข้าไป ข้าวก็ไม่งาม ได้แค่สี่พัน..” ยายจันบ่นบ้าง

...ข้าเคยได้แค่แปดร้อย...” ป้าใสว่า พลางหัวเราะหึๆ

พูดไปก็เหลือเชื่อ ทำนาเหนื่อยแทบตาย แต่ข้าวหนึ่งเกวียนราคาถูกกว่าโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง


ปุ๋ยสูตร กระสอบละ 1,000-1,300 บาท

ยาฆ่าแมลง ลิตรละ 600-800 บาท

ฮอร์โมน ลิตรละ 300-500 บาท

ค่ารถไถ ไร่ละ 700 บาท

ค่ารถเกี่ยวข้าว ไร่ละ 600 บาท

ได้ข้าวไร่ละเกวียน (100 ถัง) ก็นับว่ามากโข แต่อาจต้องหนักปุ๋ยหลายลูก หนักยาหลายลิตร หนักฮอร์โมนอีกหลายขวด ไปๆ มาๆ เหลือเข้ากระเป๋าแค่ไม่กี่พัน แถมสะสมสารเคมีไว้ในข้าวส่งต่อให้ผู้บริโภคอีกเพียบ


ปุ๋ยใส่น้อย ข้าวก็ไม่งาม พ่นยาน้อย หญ้าก็โตแซงข้าว แมลงก็ลง หอยเชอรี่ก็ระบาด พอได้ข้าวมา ยังกำหนดราคาเองไม่ได้อีกต่างหาก เท่าไรก็ต้องขาย ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง


วันหนึ่งที่หน้าร้านป้าน้อย ร้านขายของประจำหมู่บ้าน มีคนบ่นว่า ทำไมปุ๋ยมันต้องแพง มันผลิตยาก หรือต้นทุนมันสูง หรืออย่างไรกันแน่


น้าชัย อดีตคนขับรถบรรทุก ปัจจุบันทำสวนกล้วย ดูดน้ำขวดสองทีก่อนจะเล่าว่า

...หลายปีก่อน ข้าเคยขับรถบรรทุกไปขนปุ๋ย ที่ท่าเรือ ก็ไอ้ปุ๋ยอย่างที่พวกเราใช้กันนี่แหละ ทีแรกข้าก็นึกว่ามันจะมาเป็นกระสอบ เปล่า...มันมาเป็นเม็ดๆ มีท่อต่อจากเรือมาใส่กระสอบ ปิดกระสอบแล้วก็ขนขึ้นรถบรรทุก ข้าเห็นแล้ว ก็สงสัยว่า ไอ้ปุ๋ยแบบนี้ มันแพงตรงไหนวะ ...”

ตรงไหนล่ะน้า?” ไอ้จุกถาม

กูก็ไม่รู้” น้าชัย ดูดน้ำขวดอีกสองทีแล้วก็เดินกลับบ้านไป


เจ้านายฉันที่กรุงเทพฯ...” พี่ชิน คนไปทำงานกรุงเทพฯ กลับบ้านเดือนละครั้ง เล่าบ้าง

...เขารวย ทำกิจการตั้งหลายอย่าง รถนี่มีร่วมสิบคันได้มั้ง... เขารู้ว่าที่บ้านเราทำนา เขาก็เลยบอกฉันว่า กำลังเข้าหุ้นกับเพื่อนทำบริษัทผลิตปุ๋ยกึ่งเคมีกึ่งชีวภาพราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีเยอะ เดี๋ยวจะให้ฉันเอามาลองใช้”

กระสอบเท่าไรล่ะ?” ป้าแมวสนใจ


เห็นว่ากระสอบละสามร้อยกว่าบาทเองนะ”

งั้นเอามาให้ข้าสักสามกระสอบสิ สามกระสอบพันเดียว ยังถูกกว่าปุ๋ยสูตรอีกนา” ป้าแมวท่าจะเอาจริง แต่พี่ชินส่ายหัวบอกว่า

พอแกจะเอาไปจดทะเบียนบริษัท ข้างบนเขาไม่ให้แกจด”

อ้าว...ทำไมล่ะ?”

เขาว่า ของแกถูก เดี๋ยวไปตีตลาดทำให้ปุ๋ยแพงของเขาขายไม่ได้ ตอนนี้ก็เลยต้องทำแบบส่งขายเอง โฆษณาไม่ได้ ฉันก็อยากเอามาลองใช้ แต่เห็นแกกลุ้มๆ อยู่เลยไม่กล้าถาม”

ในวงการปุ๋ยก็มีมาเฟียด้วยหรือพี่?” ไอ้จุกถาม

มันก็มีทุกวงการนั่นแหละ”


นับแต่แผนพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ผลิตข้าวเพื่อการส่งออก หน่วยงานรัฐก็มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์นี้สิ ปลูกแล้วจะได้ผลิตผลเยอะ แล้วก็ต้องใช้ปุ๋ยสูตรนั้นสิดี ใช้ยาสูตรนี้สิได้ผล จากเคยปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งปุ๋ยพึ่งยา ก็เปลี่ยนมาเป็น “ข้าวกะหรี่ติดยา” นอกจากจะมีชื่อข้าวเป็นเบอร์นั้นเบอร์นี้ (เบอร์ตองไม่มี) แล้วยังติดยาติดปุ๋ย ต้องใส่ตลอด ถ้าไม่ใส่หรือใส่น้อย ข้าวก็ไม่โต ใส่นานปีเข้า ดินเริ่มเสื่อม เลยต้องใส่เพิ่มขึ้นทุกปี


ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกปี

ราคายาเพิ่มขึ้นทุกปี

แต่ราคาข้าวขยับอยู่แค่สี่พัน ห้าพัน

คนทำนาเอง ขายข้าวได้แค่ไม่กี่พัน

คนเช่านาเขาทำ แทบไม่เหลืออะไรเลย


ชาวนา (แท้ๆ) คนไหน ไม่เป็นหนี้ เป็นเรื่องแปลกประหลาด ครอบครัวต้องใช้เงิน ลูกต้องส่งเรียน ไม่ดิ้นรนไปรับจ้างหางานทำ ก็เอาที่เข้าธนาคาร ไม่มีปัญญาปลดหนี้ ธนาคารก็ฟ้อง ก็ยึด


ตอนเอาโฉนดไปจำนอง เจ้าหน้าที่แทบจะอุ้มเข้าไป แต่พอจะไปขอประนอมหนี้ น้ำแก้วเดียวเขาก็ไม่ให้กิน

ตอนนี้ข้าวราคาดี นายทุนเลิกให้เช่า จ้างคนมาทำนาแทน สมัยนี้เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างสะดวกดาย ไถ หว่านข้าว ฉีดยา ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว ใช้เครื่องจักรแทบจะทุกขั้นตอน ถ้าข้าวยังราคาดี จัดการเป็น ก็ได้กำไรเหนาะๆ ไร่ละหลายพัน


ในอนาคต อาหารและพลังงาน คือสิ่งที่กำลังจะขาดแคลน

จะแปลกอะไร เมื่อมีข่าวว่า นายทุนซาอุฯ มาลงทุนทำนาในเมืองไทย

แขกขายน้ำมัน รวยแค่ไหนก็ยังต้องกินข้าว


แต่ประเทศไทย คิดกันคนละอย่าง

ลงทุนกับเรื่องพลังงานมากมายมหาศาล แล้วก็ปล่อยให้คนทำนา ค่อยๆ แห้งตายเพราะโดนสูบเลือดสูบเนื้อจนหมดตัว พอเข้าเมืองกรุงไปประท้วง คนกรุงเทพฯ ก็ด่าว่าทำให้การจราจรติดขัด

โอหนอ...ชาวนาไทย


ถ้าไม่มีการมองโลกในแง่ดี (อย่างสูงยิ่ง) หล่อเลี้ยงจิตใจ

ชาวนาไทยคงฆ่าตัวตายกันหมดแล้ว



บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…