Skip to main content

1.jpg

ผมสมัครเข้าร่วมโครงการหนึ่งปี “ชุมชนทดลอง # 2” ของมูลนิธิที่นา [1] ด้วยความไม่รู้ กล่าวคือ ไม่รู้เรื่องวิปัสสนา ไม่รู้เรื่องศิลปะ และไม่รู้เรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ  ความไม่รู้นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้ารู้แล้วคงไม่ต้องมา

เมื่อได้คุยกับทีมงานหลายท่านก่อนเริ่มโครงการ ก็ได้รับความห่วงใยเกรงว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะคาดหวังมากเกินไป เนื่องจาก the land ไม่ใช่ utopia ซึ่งผมก็เข้าใจ ขณะเดียวกันผมเองก็ห่วงใยเกรงว่า ทีมงานจะคาดหวังกับผู้เข้าร่วมโครงการมากเกินไปเช่นเดียวกัน

เพราะในความต่างของปัจเจกที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหลวมๆ นี้ หากผู้เข้าร่วมไม่มีความชัดเจนในจุดประสงค์ของตนเอง ก็อาจล้มเลิกความตั้งใจเสียง่ายๆ

สำหรับผม ซึ่งมีความรู้สึกเบื้องแรกคือ การเข้าร่วมโครงการคลับคล้ายกับการมาเข้าค่ายเป็นเวลาหนึ่งปี อาจชัดเจนในจุดประสงค์มากกว่าผู้เข้าร่วมบางท่าน แต่นั่นก็ด้วยวัยวุฒิที่มากกว่า ทั้งไม่ได้หมายความว่า ในเบื้องปลาย ผมและคุณจะได้รับประสบการณ์อย่างเดียวกัน เพราะแม้ว่าเราจะมาอยู่ร่วมกันเนื่องจากความสนใจที่คล้ายกัน ทว่า เราแต่ละคนย่อมสร้างประสบการณ์จากแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง และแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเองย่อมจะแตกต่างกัน

เราทุกคนมีเรื่องที่สนใจ และเรื่องที่เราสนใจนั้น คือแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง เราจะมีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองไปตลอดจนกว่าเราจะลงมือปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติเราจึงได้รับประสบการณ์ ประสบการณ์ [2]  นั้นคือความรู้สึกว่าเราได้ “เป็น” ดังที่เราได้คาดการณ์ไว้ ยิ่งทำมากตัวเราก็ยิ่งชัดมากขึ้น ยิ่งสร้างสรรค์ศักยภาพก็ยิ่งปรากฎ

ผมสนใจเรื่องการทำอาหาร แต่หากผมไม่ได้มาลองทำอาหารที่ the land ผมก็คงไม่มีโอกาสรู้ว่าผมทำอาหารเป็นด้วย  ผมสนใจเรื่องศิลปะ แต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เช่นเดียวกัน หากเปลี่ยนจาก “ผม” เป็น “คุณ” แนวคิดเกี่ยวกับตนเองของคุณ ก็คือสิ่งที่รอการพิสูจน์ และสิ่งที่ได้พิสูจน์แล้วจะเปลี่ยนเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับตนเอง

คุณอาจรู้ว่าตนเองเป็นคนรักธรรมชาติ รักศิลปะ แต่หากคุณไม่ทำอะไรที่แสดงถึงความรักต่อธรรมชาติ ต่อศิลปะ คุณย่อมมีเพียงแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง

คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือตัวตนสูงสุดของคุณที่คุณต้องการจะเป็น ... ? หน้าที่ของเราคือแสดงมันออกมา มันอยู่ข้างในตัวเรานี่เอง

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า concept เกี่ยวกับตัวเรา เป็นชุดปฏิบัติการที่รอการปฏิบัติ และ the land คือ workshop หลายมิติที่พร้อมจะรองรับปฏิบัติการของเราแต่ละคน  และ - - ย่อมมีการเปรียบเทียบเป็นธรรมดาเพราะ the land ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอย่างที่บางคนคิดว่าควรจะมี หรือควรจะเป็น บางคนคิดว่า the land น่าจะเป็นชุมชนต้นแบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง หรืออย่างน้อยก็มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่านี้ แต่ผมกลับเห็นต่างออกไป

the land มีเสน่ห์เพราะมันเป็นพื้นที่ทดลอง ผู้เข้าร่วมโครงการมีสิทธิ์จะทดลองใช้ชีวิต ทดลองงานความคิด หรือ ทดลองปฏิบัติการบางอย่าง ซึ่งคุณไม่อาจไปทดลองในพื้นที่อื่นได้ concept ของที่นี่จึงไม่ควรจะเป็นอย่างอื่น

เราอาจทดลองทำการเกษตร แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตร
เราอาจทดลองสร้างงานศิลปะ แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็น gallery
เราอาจทดลองนั่งวิปัสสนา แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม
ผมรู้สึกกับ the land อย่างนั้น จึงมาที่นี่ด้วยความสมัครใจและสบายใจ

ผมเห็นป๊อบทดลองทำราวตากผ้าจากไม้ไผ่ เห็นน้อยเนื้อทดลองจับปลาด้วยบุ้งกี๋ เห็นเน้ตทดลองทำกล้วยตาก เห็นไม้ทดลองปลูกผัก เห็นพี่ทอมทดลองเพื่อการทดลอง และเห็นว่ามีหลายคนพร้อมจะทดลองทานอาหารที่ผมทำ แต่ละคนล้วนสนุกกับการทดลอง  แต่ละคนล้วนได้ประสบการณ์จากการทดลอง

ความต่างของปัจเจกที่มาอยู่รวมกันจึงคล้ายพรรณไม้หลากสีในระบบนิเวศน์เขตร้อน ขณะที่ความคิดรวมหมู่ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การทดลองและการสร้างสรรค์ เป็นพลังงานเข้มข้นที่รอการเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม
ทั้งที่เห็นด้วยตา และเห็นด้วยใจ

ใครจะรู้ - - การทดลองบางอย่างอาจจะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
ผมจึงตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นการทดลองใหม่ๆ ที่ the land

ชุมชนทดลอง    experimental community
โอกาสทดลอง    chance to try
ชีวิตจริง        real life

----------

[1] มูลนิธิที่นา > www.thelandfoundation.org

[2] แนวคิดเรื่อง ประสบการณ์ จาก “สนทนากับพระเจ้า (Conversation with God)”, Neal Donald Walsch ; รวิวาร โฉมเฉลา แปล

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…