Skip to main content

คืนหนึ่ง
ผมฝันถึงสถานที่หนึ่งซึ่งผมไม่เคยคาดคิดว่าจะฝันถึง
สถานที่แห่งนั้นเป็นทางเดินที่ทอดยาว เชื่อมระหว่างอาคารหนึ่งไปสู่อาคารหนึ่ง
ผมเดินไปตามทางนั้นด้วยความรู้สึกประหลาด ประหลาดเพราะรู้ว่านี่คือความฝัน แต่ทั้งรู้ว่าฝันผมกลับตื่น
ตื่นโพลงอยู่ในความฝัน ผมเดินไปตามทางด้วยความตื่นโพลง และรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่ในภาพวาดซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง แม้แต่ใบไม้แห้งก็แทบจะไม่ไหวติง

ผมรู้จักสถานที่แห่งนั้นดี มันคือทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารพักอาศัยไปยังอาคารปฏิบัติรวมของศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา สถานที่ที่ผมไปอบรมวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวัน

ผมพยายามหาเหตุผลว่า ทำไมผมจึงฝันถึงสถานที่แห่งนั้น และทำไมผมจึงรู้สึกอย่างนั้น บางที อาจเป็นเพราะความคุ้นชินบางอย่างที่ได้รับขณะที่อยู่ที่นั่น ซึ่งไม่อาจหาได้จากที่อื่น และบางทีอาจเป็นเพราะลึกๆ แล้วผมปรารถนาจะได้ประสบการณ์แห่งความรู้สึกนั้นอีกครั้ง
ความสงบ, เงียบ ไม่มีเสียงพูดคุย ไม่มีเสียงผู้คน ไม่มีแม้เสียงของตัวเอง หากลองตั้งสมาธิให้ดีจะได้ยินกระทั่งเสียงลมหายใจและเสียงหัวใจเต้น เสียงใบไม้ไหว เสียงนกในป่าที่มองไม่เห็นตัว เสียงปลากระโดด เสียงลมพัด เงียบราวกับเป็นเวลากลางคืน แต่นี่คือเวลากลางวัน ในสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมร้อยคน ยากจะหาที่ไหนเหมือน, มีคนอยู่รวมกันมากขนาดนี้ แต่กลับเงียบขนาดนี้

เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมวิปัสสนาและกลับมาสู่วิถีชีวิตคนเมืองอีกครั้ง ผมเริ่มรู้สึกถึงความแปลกแยกบางอย่างที่ก่อตัวอยู่ภายใน ดูเหมือนจะเป็นความแปลกแยกกับ “เสียง”

เมืองคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ความสั่นสะเทือน มีแสงเจิดจ้าในยามค่ำ มีสีสันจากป้ายเรืองแสง มีสรรพเสียงจากทุกทิศทุกทางทุกเวลา เราอยู่กับแสงและเสียงแทบจะตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นลืมตาจนถึงล้มตัวลงนอน และอาจมากเสียจนไม่อาจคุ้นชินเมื่ออยู่ในสภาวะที่ปราศจากมัน

ความเงียบจึงคล้ายสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ไม่ใช่แค่กำลังจะหายไปจากเมือง แต่มันกำลังจะหายไปจากใจมนุษย์ด้วย

“...เด็กยุคนี้ขี้เหงาเพราะเขาโตมากับเสียง ไม่เคยอยู่เงียบๆ ไม่รู้จักต้นไม้ว่าต้นไหนหน้าตาเป็นยังไง หลายคนเลี้ยงลูกด้วยทีวีซึ่งน่าเป็นห่วง สังคมเราร่ำรวยขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็เป็นไปในเชิงบริโภคมากขึ้น ซื้อๆๆ เด็กมีโลกของตัวเอง มีที่ครอบหู ฟังเพลงตลอดเวลา ชอบความบันเทิงที่ใช้เสียง บันเทิงแบบเงียบๆ ไม่รู้จัก ทั้งที่จริงความเงียบก็เบิกบานได้ พอเปิดทีวีดัง ชอบเสียงดัง ใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่เสียงดัง หูก็ตึงตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เรากำลังสู้กับเด็กที่หูตึง เด็กจำนวนมากเป็นคนหูพิการไปแล้วโดยไม่รู้ตัว น่ากลัวมาก อันตราย

ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤติ แต่ไม่มีใครรู้ เยาวชนฟังเพลงดังๆ ชอบดังๆ ฟังทั้งวัน ไม่สามารถอยู่เฉยได้ กลับถึงบ้านเปิดทีวี วิทยุ ไม่เคยได้อยู่เงียบๆ พรีเซนเตอร์ หรือคนอ่านสปอตทั้งหลายก็พูดเบาๆ หรือพูดปกติไม่เป็นแล้ว สังคมที่ไม่มีความสงบคือสังคมที่วิบัติ...”

(เสียงดังกำลังคุกคามถ้วยชาวิถี  ปานชลี สถิรศาสตร์ ,โลกของเราขาวไม่เท่ากัน : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์)

หลายคนอาจคิดว่า ความสุขกับความสนุกนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมกลับเห็นต่างออกไป
เสียงต่างๆ อาจทำให้เราสนุก รื่นรมย์ บันเทิง แต่ถ้ามากเกินไป บ่อยเกินไป เสียงใดก็แล้วแต่ไม่อาจให้ความสนุกได้อีกแล้ว มากๆ เข้าจากความสนุกก็จะกลายเป็นทุกข์

ความเงียบสงบต่างหากที่จะทำให้เราได้พบกับความสุขที่แท้จริง
เพราะความเงียบคือการลดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยที่เราเรียกว่าเสียงเพื่อเราจะได้พบกับความสงบ
ความเงียบเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากลับสู่ภายใน และเกิดสำนึกปรารถนาสันติ
ความเงียบคือการกลับสู่ธรรมชาติดั้งเดิม กลับสู่ความจริง

ในโลกปัจจุบัน
เราแต่ละคนยังเป็นปัจเจกชนที่ปรารถนาสิ่งเร้า และสั่นไหวไปตามสิ่งที่มาเร้า ในขณะที่สภาพแวดล้อมยังเต็มไปด้วยสรรพเสียง ซึ่งบางครั้งก็มากถึงขั้นมลภาวะ ชีวิตที่ดำเนินไปทำให้เราต้องพบกับเสียงมากมายในแต่ละวัน บ้างดัง บ้างเบา บ้างหยาบ บ้างไพเราะ ทั้งเสียงที่น่าพึงพอใจ ที่ไม่น่าพึงพอใจ และที่ไม่ทำให้รู้สึกอะไร แต่เราแทบไม่พบกับความเงียบเลย

บางคนคิดว่าความเงียบคือหายนะ เขาไม่อาจอยู่กับความเงียบได้แม้หนึ่งอึดใจและต้องดิ้นรนหาสรรพเสียงอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจเขาไม่ปรารถนาความสงบ ก็ยากที่จะได้พบกับความสุขที่แท้

ความสนุกจากสรรพเสียง กับความสุขจากความเงียบมิใช่สิ่งเดียวกัน สุนทรียะจากการรังสรรค์ของมนุษย์คือความสนุก แต่สุนทรียะจากความสงบ คือความสุขที่ดี่มด่ำล้ำลึกกว่า

เมื่อได้มีประสบการณ์ถึงความเงียบยาวนานถึงสิบวัน ก็คงไม่แปลกที่ผมจะคิดถึงมัน
ถ้ามีใครสักคนบอกผมว่า “สวรรค์ คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยความเงียบ” ผมคิดว่า ผมอาจจะเชื่อเขา

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…