Skip to main content

(มะพร้าวกะทิ)

ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาด
ฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

แต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผม
อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก
แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆ

ผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี
มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ ราวกับกำลังเคี้ยวเนยก้อน จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง จะว่าไม่อร่อยก็ไม่ใช่ เมื่อกินพร้อมกับน้ำตาลทราย กลับหวานมันเพลินปาก
ตอนนั้นผมคิดตามประสาเด็กว่า ทำไมจึงเรียกว่ามะพร้าวกะทิ น่าจะเรียกว่า มะพร้าวเนยมากกว่า

หลายปีต่อมา ผมได้พบเจอกับเจ้ามะพร้าวกะทิอีกครั้งสองครั้ง แต่ไม่ค่อยประทับใจนัก เพราะรสชาติ ออกจะมันเลี่ยนเกินบ้าง เก่าจนเหม็นหืนบ้าง ทั้งผมเองก็ไม่ได้ติดอกติดใจเป็นพิเศษ จึงไม่ได้ขวนขวาย

จนกระทั่ง วันหนึ่ง หลังจากจัดข้าวของเข้าที่เข้าทางแล้ว แม่บ้านของผมไปสอยมะพร้าวข้างบ้านมากองรวมกันไว้ เนื่องจากมีคนมาติดต่อขอซื้อมะพร้าว
เธอชี้ให้ผมดูมะพร้าวต้นที่อยู่หน้าบ้านด้านติดกับถนน
“ต้นนี้แหละ...มะพร้าวกะทิ”

ทราบกันดีว่า ถ้ามะพร้าวต้นไหน เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะให้อยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น ปะปนกับมะพร้าวธรรมดา ส่วนต้นไหนที่ไม่เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะไม่มีทางได้มะพร้าวกะทิจากต้นนั้นเลย

จำนวนต้นมะพร้าวที่ให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ต่อ ต้นมะพร้าวธรรมดา จะเป็นสัดส่วนเท่าไร ผมไม่ทราบ แต่สำหรับราคารับซื้อนั้น มะพร้าวกะทิราคาผลละ 30-40 บาท ขณะที่มะพร้าวธรรมดาผลละ 5-7 บาทเท่านั้น

เมื่อแม่บ้านสอยมะพร้าวจากต้นนั้นลงมากองรวมกัน แม่ยายผมก็เดินมาสมทบ แกจับลูกมะพร้าวเขย่าทีละลูก ๆ เงี่ยหูฟังอย่างผู้ชำนาญการ
“ลูกนี้ไง มะพร้าวกะทิ พอเขย่าแล้วมันดังกล๊อกๆ”  แกส่งมะพร้าวกะทิให้ผมสองลูก
“สองลูก ก็ขายได้หกสิบ” ผมคำนวณอย่างรวดเร็ว
“อย่าขายเลย เก็บไว้กินเหอะ” แกบอก

ผมยิ้ม เดินเอามะพร้าวไปเก็บในครัว
แกทำให้ผมคิดได้
จะขายทำไม ของดีเราปลูกได้ ต้องเก็บไว้กินเองสิ

เย็นวันนั้น แม่บ้านตัดกล้วยกำลังสุกจากข้างบ้านมาทำ กล้วยบวชชีใส่มะพร้าวกะทิ เป็นของหวาน ที่ทั้งหวาน ทั้งมัน
อร่อยมาก...
หลังจากห่างเหินไปนาน การเจอกันระหว่างผมกับมะพร้าวกะทิครั้งนี้ ค่อนข้างน่าประทับใจ เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี ก่อนจะต้องพบกันอีกหลายครั้ง
        
(แก๊งหาหอย)

สังคมชาวบ้าน ไปมาหาสู่กันทั้งด้วยธุระปะปังและกิจนอกการงานเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งที่มีเพื่อนบ้านมาส่งข่าวกับแม่ยายของผม ว่าวันนี้ เวลานี้ ขึ้นรถที่ตรงนั้น จากนั้นแม่ยายของผมก็จะนั่งขัดนั่งลับเหล็กแท่งยาวคล้ายชะแลง แต่ปลายแหลมแบน ไว้รอท่า

เมื่อผมถามภรรยาก็ได้คำอธิบายว่า
แม่ยายของผม นอกจากทำสวนผัก และทำนาแล้ว แกยังมีงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งคือการ “ ไปขุดหาหอย”

ขุดหาหอย ? ... ที่ไหน...? อย่างไร...?

จากบ้านแหลมถึงชะอำ ชายหาดทอดตัวยาวหลายสิบกิโลเมตร ทั้งหาดที่เป็นทราย และหาดที่เป็นเลน ตลอดความยาวของแผ่นดินริมทะเลจะมีบริเวณที่หอยน้ำเค็มนานาชนิด ผลัดกันขึ้นมานอนอาบแดดตลอดทั้งปี

คนที่รู้แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับทะเล พอทราบว่าหอยขึ้นที่ไหนก็จะมาบอกพี่น้องพวกพ้อง ให้ไปขุดหาหอยกัน  บรรดาผู้นิยมการขุดหาหอย ไม่ว่าจุดที่หอยขึ้นนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็จะต้องดั้งด้นไปกันจนได้

สมาชิกชมรมนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย ว่ากันว่า จุดที่หอยขึ้น และมีคนไปขุดหานั้น ครึกครื้นระดับงานวัดย่อมๆ เลยทีเดียว
กิจกรรมที่ว่านี้ แม่ยายผมไม่เคยพลาดสักครั้ง ต่อให้ติดงานอะไรก็ต้องหาเวลาว่างไปจนได้ ผมเลยขนานนาม กลุ่มผู้นิยมการขุดหาหอยนี้ว่า  “แก๊งหาหอย”    
    
วันไหนจะไปหาหอย จะมีเพื่อนบ้านร่วมแก๊งเดินมาบอกแม่ยายผมล่วงหน้า พอถึงวันนัด เช้าตรู่ก็ขึ้นรถกันไป ตกบ่าย แม่ยายผมก็จะหอบผลงานเป็นกระสอบใส่หอยทะเลสารพัดชนิดมาวางที่ข้างครัว น้ำหนักก็ไม่มากไม่มาย แค่ครั้งละสิบกว่ากิโลกรัม เท่านั้น

หอยที่มายกพลขึ้นบกนั้นมีสารพัดชนิด ใครชอบหอยอะไรก็หาขุดหากันตามรสนิยม ส่วนใหญ่ ที่แม่ยายผมเอามาทุกครั้ง จะต้องมีหอยแครง,หอยคราง,หอยเสียบ และหอยตลับ บางครั้งก็จะได้หอยหวาน และหอยแมงภู่ติดมาด้วย

เมื่อผมถามถึงการขุดหา แม่ยายผมเล่าว่า หอยแต่ละชนิดก็มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป วิธีการและความยากง่ายในการขุดหาก็ไม่เท่ากันด้วย หอยบางชนิดอยู่ไม่ลึก ก็ค่อยๆ คราดทรายหา แต่
อย่างหอยเสียบซึ่งเนื้อเยอะ รสชาติดี แต่ต้องใช้วิธีขุดหา ขุดๆ ไป บางทีหอยมันก็ดำทรายหนีไปได้

เมื่อมีหอยมากมายทั้งปริมาณและชนิดขนาดนี้ เมนูอาหารหลายวันต่อมาจึงเต็มไปด้วยหอย
ทั้งหอยแครงลวง ,ยำหอยแครง,หอยเสียบผัดฉ่า,หอยเสียบผัดมะพร้าว,หอยตลับผัดพริกเผา,แกงหอยใส่ใบมะขาม ฯลฯ

น่าแปลกที่กินหอยติดกันทุกมื้อ ผมก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ อาจเพราะเป็นของสดกระมัง
ทีแรกผมเห็นปริมาณหอยที่แม่ยายจับมาแต่ละครั้งมากมาย ผมก็คิดอย่างที่หลายคนคิด นั่นคือ ถ้าเอาไปขาย คงได้ราคาคงไม่น้อย     ทว่า เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องมะพร้าวกะทิ คือ จะขายทำไม ของดีเราหามาได้ เก็บไว้กินเองไม่ดีกว่าหรือ ?

ครอบครัวของเราได้กินของอร่อย หากมีมากก็แบ่งให้ญาติพี่น้องให้บ้านใกล้เรือนเคียง
เงินนั้นเป็นเรื่องรอง ปล่อยให้น้ำใจ ไหลไปสู่กันและกัน
จิตใจคนก็ชุ่มชื่นเหมือนแผ่นดินหลังฝนตก
    
เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมที่ของกินแทบไม่ต้องซื้อ
ผมคิดถึง ข้าวสาร และ น้ำมัน(ทั้งที่ปรุงอาหารและที่เติมรถยนต์) ที่ราคาขึ้นแทบทุกวัน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ของดีเรามี แต่เราไม่เก็บไว้กินเอง ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน คิดแต่จะส่งขายเอากำไร
สังคมเดือดร้อน เพราะคนที่มีมาก กั๊กไว้ไม่ยอมแบ่งปัน
ก็แล้วใครจะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องความเห็นแก่ตัว และ การเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม

ในเมื่อเงินและอำนาจมันบังตาเขาหมดแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…