Skip to main content

โอม มณีปัทเมหุม เขียน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัชรสิทธามีจัดอบรมพื้นฐานการฝึกภาวนาแบบ somatic meditation สอนโดย วิจักขณ์ พานิช โดยวิธีการฝึกของที่นี่ ที่เรียกว่า bodywork เป็นเทคนิคภาวนาที่พัฒนามาจาก inner yoga ของทิเบต และได้ถูกพัฒนาต่อโดยอาจารย์ Reginald Ray ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช 
 ทำไมต้อง somatic meditation

somatic meditation เน้นแง่มุมของความสัมพันธ์ต่อ SOMA  นั่นคือเป็นการภาวนาที่เน้นการฟังและสื่อสารกับร่างกาย ผู้ปฏิบัติตระหนักว่าร่างกายนั้นเป็น living being เป็นต้นกำเนิดปัญญาญาณ ที่กำลังสื่อสารข้อความทางจิตวิญญาณแก่เราอยู่ตลอดเวลา 

ไม่ว่าเราจะนั่งสมาธิเป็นหรือไม่  somatic journey ของชีวิตก็กำลังดำเนินไปในทุกขณะ การที่เราใช้ชีวิต มีประสบการณ์สุขทุกข์ มีนิสัย ความเคยชิน ความเครียด ความสุข ความเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ทั้งหมดโดยไม่มียกเว้น เป็นส่วนหนึ่งของ somatic process อันสะท้อนถึงปัญญาญาณที่เรามีอยู่ในเนื้อในตัว (แม้อาจยังไม่เคยตระหนักถึงพลังของมันเลยก็ตาม)

SOMA คือ อะไร?

อธิบายง่ายๆ ตามประสาคนที่ไม่เคยใส่ใจว่าร่างกายเคยสื่อสารอะไรกับเราด้วยเหรอ...
SOMA ก็คือร่างกายนั่นเอง

...แต่ถ้าถามต่อว่า ร่างกายคืออะไร? ก็อาจช่วยให้เราเข้าใกล้ความหมายที่แท้จริงของ SOMA มากยิ่งขึ้น 
เพราะหากต้องการรู้จัก SOMA จำเป็นที่เราจะต้องเริ่มสำรวจร่างกายในแง่ของ "ประสบการณ์ตรง"

ความสัมพันธ์แรกที่มีกับ SOMA คือกระบวนการที่เรียกว่า "การกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว"
มันคือเทคนิคการผ่อนคลายง่ายๆ ที่ไม่ต้องเรียกว่านั่งสมาธิหรือฝึกสติก็ได้

เมื่อเราผ่อนคลาย ลมหายใจของเราก็จะเบาลงและละเอียดขึ้น ความรู้สึกในร่างกายชัดขึ้นและเมื่อสัมพันธ์กับจินตนาการอย่างเหมาะสม ความรู้สึก sync จะช่วยให้เราออกสำรวจความเป็นไปได้ในจักรวาลของ SOMA ที่ไปไกลกว่าร่างกายในทางความคิด

การสัมพันธ์กับ SOMA ขั้นต่อไป คือความสัมพันธ์กับผืนดิน ประสบการณ์ตรงที่มีต่อร่างกายขยายลงไปรับรู้การมีอยู่ของผืนดิน พลังของผืนดินโอบอุ้มเราอยู่เสมอจากด้านล่าง ทว่าในช่วงแรกเราอาจรู้สึกราวกับผืนดินเป็นอื่น เป็นอะไรแข็งๆ ที่อยู่นอกตัว แต่เมื่อฝึกไประยะหนึ่ง เราอาจเริ่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะหาขอบเขตหรือเส้นแบ่งที่กีดกั้นพื้นที่การตระหนักรู้ของร่างกายและผืนดินด้านล่าง 



จินตนาการหรือความจริง? 

ระหว่างการภาวนาในท่าประหลาด ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า... ไม่ว่าจะเป็นการหายใจด้วยฝ่าเท้า หรือหายใจผ่านขึ้นมาจากผืนดินแล้วปล่อยกลับลงไปในผืนดินนั้น ทั้งหมดที่ทำอยู่เป็นเพียงจินตนาการที่เราทำขึ้นมาหรือเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ ...แต่ที่แน่ๆ พอทำไปโดยไม่ต้องคิด บางทีฝ่าเท้ามันก็เกิดความอุ่นและเผลอได้ยินชีพจรชัดอย่างประหลาด และพอยิ่งเปิดรับความเป็นไปได้ที่ไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้าได้มากขึ้น ร่างกายก็ดูจะสื่อสารกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนมันค่อยๆ แปรเปลี่ยนโลกทัศน์ที่เรามีต่อร่างกาย ผืนดิน และปัญญาญาณของ SOMA ทั้งหมด

นอบน้อมต่อ SOMA และให้ SOMA เป็นผู้นำทาง

มันเป็นรูปแบบการภาวนาที่กลับหัวกลับหางไม่น้อย เราเริ่มต้นด้วยการฝึกที่จะสัมพันธ์กับอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันมีความรู้สึกรางๆ ที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นตรงนั้นตรงนี้ในร่างกาย ซึ่งวิทยากรก็แนะนำให้เราไว้วางใจในประสบการณ์ตรงเหล่านั้น สิ่งที่เพื่อนๆ แชร์ก็เป็นประสบการณ์จำพวก "มันเป็นงี้ๆๆๆ รู้สึกตรงนี้ๆๆ ... แต่ไม่แน่ใจว่าคิดไปเองหรือเปล่า" , "มันรู้ตัวตลอดนะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าหลับไปหรือเปล่า", "ได้ยินเสียงคนนำตลอด แต่ก็เหมือนจะหลับไป มีความคิดเรื่องนี้ๆๆๆ แต่จะว่าไม่รู้ตัวก็ไม่ใช่..." ทุกอย่างดูกำกวมมากๆ แต่ก็ออกแนวเร้นลับ น่าตื่นเต้นดี

การภาวนาคือการสื่อสารและฟัง SOMA ในฐานะผู้นำทาง มันเป็นเทคนิคภาวนาที่ไม่ต้องการความชัดเจนแน่นอนของความเข้าใจทางศาสนา เพราะเป้าหมายคือ การฝึกสิ่งที่เรียกว่า การตระหนักรู้ในทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมี somatic awareness ดำรงอยู่เป็นพื้นฐาน

Unfolding Journey

การผ่อนคลายตามจังหวะของการหายใจที่สัมพันธ์อยู่กับความรู้สึกตัว นอกจากจะนำไปสู่การพัฒนาพลังการตระหนักรู้ (awareness) ยังนำไปสู่การทำงานกับกรรม ที่วิทยากรใช้ชื่อเก๋ๆ ว่า การคลี่ออก (ของกรรม) "unfolding journey" 

การไว้วางใจในปัญญาญาณของ SOMA คือการไว้วางใจในธรรมชาติเดิมแท้ของร่างกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างแห่งการตระหนักรู้อันไร้ขอบเขต การวางใจอยู่ในธรรมชาตินั้น ทำให้สิ่งที่นอนก้นอยู่ในจิต ค่อยๆ "surface" ขึ้นมาบนพื้นผิวของจิตสำนึก สิ่งที่เป็นก้อนเป็นปมในจิต ค่อยๆ คลี่ออกสู่แสงสว่างแห่งการตระหนักรู้  กระบวนการดังกล่าวใน somatic meditation ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดหรือบังคับได้ ทว่ามีชีวิต มีจังหวะของมันเอง และเป็นสิ่งที่เราสามารถวางใจได้ ดังคำกล่าวของ เรจินัลด์ เรย์ ที่ว่า "Trust the Unfolding Journey"

SOMA as Sacred Being 

การฝึก somatic meditation มาพีคตรงที่ ถึงจุดนึงเราเริ่มสนทนากับ SOMA นอบน้อมเคารพ ราวกับ SOMA เป็น "องค์" หรือ "เทพ" ที่สถิตอยู่ในตัวเรา เราเริ่มต้นด้วยการทักทาย นอบน้อม ขอให้ท่านช่วยนำทาง เราใช้เวลากับท่านช่วงเวลาหนึ่ง ฟังท่าน รับรู้พลังและการมีอยู่ของท่าน สาส์นและข้อความที่ท่านส่งมา และสัญญาว่าจะกลับมาเจอท่านอีก

มันคือความหมายเดียวกับ การดำรงอยู่ของ "พุทธะ" ในตน กายของพระพุทธเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ในการเชื่อมต่อกับพลังการตื่นรู้และญาณทัศนะแห่งจักรวาล 

ทุกอารมณ์ ทุกความคิด ทุกความรู้สึกในร่างกายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะหลับ ตื่น หรือไม่แน่ใจว่าหลับหรือตื่น จะถูกเชื้อเชิญให้จดบันทึกไว้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้มันสมเหตุสมผลหรือปะติดปะต่อ มันอาจเป็นภาพความคิด ความฝัน หรือความรู้สึกทางกาย  ทุกอย่างล้วนถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของ somatic process ที่สำคัญทั้งสิ้น

มันให้ความรู้สึกเหมือนถอดรหัสความเร้นลับ ที่ต้องใช้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด แต่ขณะเดียวกัน รหัสที่ถอดมาได้ ก็ใช่ว่าจะ "ถูก" หรือ "ผิด" เพราะตระหนักถึงการแปรแปลี่ยนที่เกิดขึ้นได้เสมอ การภาวนาคือการสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่มีชีวิตในแต่ละขณะนั้นๆ โดยมีคำว่า "ไม่เสมอไป" เป็นมนตราสำคัญ

somatic meditation แต่ละเซสชั่นนั้นไม่เคยซ้ำกัน และเราก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า unfolding journey ของเราจะเป็นยังไงต่อ สิ่งที่ทำได้มีเพียงการเคารพต่อ SOMA และทุกประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังเกิดขึ้น การทำงานกับ space ในร่างกายตามศูนย์หรือจุดรวมความรู้สึกต่างๆ ก็เพื่อการเตรียมพร้อม ให้เกิดการตระหนักรู้และความผ่อนคลายมากพอที่จะ "อนุญาต" ให้ประสบการณ์เหล่านั้น "ผ่าน" ตัวเราไปได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกันกับท่าทีของการศิโรราบต่อชีวิตนั่นเอง




  






 








  


 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัชรสิทธามีจัดอบรมพื้นฐานการฝึกภาวนาแบบ somatic meditation สอนโดย วิจักขณ์ พานิช โดยวิธีการฝึกของที่นี่ ที่เรียกว่า bodywork เป็นเทคนิคภาวนาที่พัฒนามาจาก inner yoga ของทิเบต และได้ถูกพัฒนาต่อโดยอาจารย์ Reginald Ray ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
พ่อเยเช เขียน "พ่อๆ ลุงณัฐสอนอะไรบ้าง?"ผมนิ่งไปนิดนึง นึกถึงสิ่งที่เรียนมาสามวัน ถามตัวเองว่าจะอธิบายเรื่องนี้ให้ลูกเข้าใจยังไงดี... "โอเค อาจจะงงๆ หน่อยนะ แต่เดี๋ยวลองเล่าไปก่อนละกัน..."++++++++++++พ่อชวนลุงณัฐมาสอนเรื่อง Myth (มิธ) ที่วัชรสิทธา จริงๆ มันต้องแปลว่าตำนาน แต่ตำนานไม่รู้แปลว่าอะไร เราเลยเรียกว่า มิธ ไปละกัน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและความรู้เชิงเหตุผล พลังทางศาสนามักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ "ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด" ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธอานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เขียน บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอวงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัชรสิทธา ทว่าตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมสนทนาเนื่องจากติดราชการแดนไกล มิตรสหายหลายท่านจึงได้ช่วยกันนำเสนอแทน จึงขอนำบทความมาเผยแพร่ในที่นี้ เผื่อว่าอาจจะเป็นสาระประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย