Skip to main content

 

เรียบเรียงจากประสบการณ์ที่ได้จาก
คอร์สอบรมดอกไม้สื่อใจ

กับ อ.เชค ดิเรก ชัยชนะ
17-18 สิงหาคม 2562

ณ วัชรสิทธา

บทความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค
 

ผมนึกถึงข้อความหนึ่งในวีดิโอที่พูดถึงเรื่องการคัดลอกงานออกแบบกับการได้รับแรงบันดาลใจ ซึ่งผมคงไม่รู้สึกว่ามันเกี่ยวกันเลย หากผู้เข้าเรียนท่านหนึ่งไม่บอกว่ามีเพื่อนเขาทักมาว่า

แบบนี้ไม่ต้องเรียนก็จัดได้

อันที่จริงแล้วเพื่อนของผู้เรียนท่านนั้นเพียงแค่แซวเล่นๆ แต่คำแซวนี้ทำให้ผมได้มาเชื่อมโยงกับข้อความบางส่วนจากวีดิโอที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้น ซึ่งมีเนื้อความทำนองว่า กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ในไทยกว่า 90% เปิด Pinterest ดูเพื่อเป็น reference รูปแบบงานที่ออกมาจึงมีแนวโน้มจะเหมือนกันเป็นอย่างมาก แต่เราจะรู้ได้เลยว่างานชิ้นไหนเกิดจากไอเดีย ชิ้นไหนก๊อปมา



 

การจัดดอกไม้ อิเคบานะ (Ikebana) มีส่วนคล้ายกับเรื่องงานออกแบบ แต่เป็นในทางกลับกันคือ เราจะรู้ได้ทันทีว่างานไหนเกิดจากความพยายามในการสร้างความงาม และงานไหนเกิดจากการหยิบจับความงามที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติขึ้นมาแสดง

ขั้นตอนการจัดดอกไม้อิเคบานะเน้นไปที่การตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งในรายละเอียดของพืชพันธุ์ ภาชนะ และพื้นที่

ความงามที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากสภาวะจิตของผู้จัดที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับผลงาน พื้นที่ และผู้ชม โดยปราศจากความก้าวร้าวในการบังคับให้ผลงานแสดงผลบางอย่าง

สิ่งที่ผมสงสัยเป็นอย่างแรกๆ เลย คือการตัดแต่งกิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการบังคับธรรมชาติ

เมื่อเริ่มคิดถึงวิธีในการอธิบายก็พบว่า สิ่งที่อธิบายได้ดีที่สุดน่าจะเป็นความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้เห็นในตัวผลงาน ซึ่งความเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสภาวะของการเปิดพื้นที่การรับรู้ การตัดแต่งกิ่ง ริดใบ ที่เกิดจากสภาวะจิตที่เปิดรับอย่างเต็มที่ จึงเหมือนกับว่าผู้จัดได้สื่อสารกับธรรมชาติแล้วว่า ธรรมชาติต้องการแสดงความงามในทิศทางไหน

การชื่นชมความงามในการจัดดอกไม้อิเคบานะนั้นแสนเรียบง่าย เพราะเราแค่รับรู้ความงามในแบบที่มันเป็นตรงๆ โดยไม่ต้องอาศัยการตีความใดๆ

ฟังดูง่ายและเหมือนว่าจะทำแบบมั่วๆ ก็ได้ แต่ความจริงมันมีจุดที่ท้าทายอยู่ คือเมื่อตัวผู้จัดเริ่มปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้ ภาชนะ และพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย

การสังเกตเห็นความงามในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยนั้นท้าทายในระดับหนึ่ง และที่ท้าทายขึ้นไปอีกคือการมองให้เห็นความงามในสิ่งที่เราไม่ชอบ ซึ่งจะมาในรูปแบบของพืชพันธุ์ ภาชนะ และสถานที่ที่เรารู้สึกว่ายากต่อการจัดให้สวย

ผู้จัดต้องทำงานกับการออกจากความเคยชินในการพยายามคิดหาวิธี และฝึกฝนที่จะขยายขอบเขตการรับรู้ใหม่ๆ การเรียนจัดดอกไม้สองวันจึงเป็นการฝึกที่กินพลังงานมากกว่าที่คิดไว้ เป็นการภาวนาที่มีผลงานให้สามารถสะท้อนผลของการฝึกได้เป็นอย่างดี

ในคลาสเรียนจะมีช่วงที่ผู้เรียนทุกคนนำผลงานขึ้นมาวางบน Shrine เพื่อนำเสนอและให้ทุกคนชื่นชมความงาม ในครั้งแรกๆ และแทบทุกคนมักจะมีแนวคิดประกอบการจัดมาอธิบาย แต่พอจัดไปได้สักพัก คำอธิบายประกอบผลงานก็กลายเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และบางทีก็แทบไม่มีคำอธิบายใดๆ

เมื่อชื่นชมผลงานเป็นที่เรียบร้อย องค์ประกอบทุกอย่างก็ถูกแยกคืนกลับเข้าที่ และผลงานที่งดงามก็กลับสู่ความว่าง

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัชรสิทธามีจัดอบรมพื้นฐานการฝึกภาวนาแบบ somatic meditation สอนโดย วิจักขณ์ พานิช โดยวิธีการฝึกของที่นี่ ที่เรียกว่า bodywork เป็นเทคนิคภาวนาที่พัฒนามาจาก inner yoga ของทิเบต และได้ถูกพัฒนาต่อโดยอาจารย์ Reginald Ray ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
พ่อเยเช เขียน "พ่อๆ ลุงณัฐสอนอะไรบ้าง?"ผมนิ่งไปนิดนึง นึกถึงสิ่งที่เรียนมาสามวัน ถามตัวเองว่าจะอธิบายเรื่องนี้ให้ลูกเข้าใจยังไงดี... "โอเค อาจจะงงๆ หน่อยนะ แต่เดี๋ยวลองเล่าไปก่อนละกัน..."++++++++++++พ่อชวนลุงณัฐมาสอนเรื่อง Myth (มิธ) ที่วัชรสิทธา จริงๆ มันต้องแปลว่าตำนาน แต่ตำนานไม่รู้แปลว่าอะไร เราเลยเรียกว่า มิธ ไปละกัน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและความรู้เชิงเหตุผล พลังทางศาสนามักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ "ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด" ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธอานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เขียน บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอวงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัชรสิทธา ทว่าตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมสนทนาเนื่องจากติดราชการแดนไกล มิตรสหายหลายท่านจึงได้ช่วยกันนำเสนอแทน จึงขอนำบทความมาเผยแพร่ในที่นี้ เผื่อว่าอาจจะเป็นสาระประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย