Skip to main content

มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

โดย ศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์

ถอดความและเรียบเรียงจากสรุปปิดเสวนา “เปิดประตูสู่พุทธศาสนามหายาน”
เนื่องในโอกาสรำลึก ๙๐ ปีชาตกาล อ.เสถียร โพธินันทะ

๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินปัญโ

บทความ โดย วิจักขณ์ พานิช

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดถึงโคมไฟที่มีหลายสี ท่านพูดไว้ประมาณว่า โคมไฟหลายอันให้สีเขียว สีแดง สีฟ้าต่างกัน แล้วเรามานั่งทะเลาะกันว่าสีไหนเป็นของแท้ แต่อาจารย์พุทธทาสบอกว่า สิ่งที่อาจจะสำคัญกว่าก็คือ มันให้แสงสว่างด้วยกันทั้งนั้น ให้ไปดูที่ความสว่างของโคม ไม่ใช่ไปดูที่สีที่ต่างกัน นั่นเป็นแรงบันดาลใจมากๆ สำหรับตัวดิฉันเองที่จะเข้าใจพุทธศาสนาจะเถรวาทหรือมหายาน ซึ่งดิฉันคิดว่าเถรวาทกับมหายานก็เหมือนสีที่ต่างกัน แต่ให้แสงสว่าง พาเราพ้นทุกข์ด้วยกันได้ทั้งสิ้น

สมมติเราจัดความคิดของการบรรยาย “เปิดประตูสู่พุทธศาสนามหายาน” ออกเป็น 3 มิติ ดิฉันจะใช้แนวคิดที่เราอาจจะคุ้นเคย แต่จะไม่ใช้มันในลักษณะแนวคิดทางการเมือง ก็คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

เสรีภาพ

ถ้าเราพูดในความหมายทางศาสนธรรม ไม่จำเป็นต้องมีความหมายทางการเมือง ดิฉันเข้าใจว่า การหลุดพ้น นิพพาน อุดมการณ์โพธิสัตตว์ การพ้นทุกข์ การบรรลุธรรม ซาโตริ  คำพวกนี้คือคำที่พูดถึง "อิสรภาพทางจิตวิญญาณ" ดิฉันจะถือว่าอุดมการณ์เถรวาท มหายาน หรือศาสนธรรมทั้งหลายคือการมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ พ้นจากกิเลส พ้นจากความทุกข์

ความเสมอภาค 

ดิฉันมีความรู้สึกว่า มหายานเน้นเรื่องเสมอภาคสูงมาก ทั้งในแง่ธรรมชาติของสรรพสัตว์ที่มีพุทธภาวะโดยเสมอกัน และในแง่ศักยภาพในการบรรลุธรรมซึ่งเสมอกัน หากเทียบกับเถรวาท ดิฉันไม่คิดว่าเถรวาทไม่มีแนวคิดเรื่องเสมอภาค แต่ดูเหมือนเถรวาทที่เราคุ้นเคยอยู่ในวัฒนธรรมไทยอาจจะเน้นเรื่องเสมอภาคน้อย เรามักจะได้ยินคำสอนเรื่องบัวสี่เหล่า บัวใต้ตม บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวพ้นน้ำ แนวทฤษฎีเหล่านี้ คล้ายๆ จะสื่อนัยว่าเราอาจจะไม่สามารถบรรลุธรรมได้เท่ากัน แต่ดิฉันคิดว่า ไม่ใช่เราไม่สามารถบรรลุธรรมได้เท่ากัน แต่ใช้เวลาต่างกัน เป็นประเด็นเรื่องเวลา ไม่ใช่ประเด็นเรื่องความเสมอภาค

ดิฉันยังเคยอ่านงานของท่านธรรมปิฎก ท่านเขียนคำนำให้หนังสือพุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชนของท่าน อ.เสน่ห์ จามริก ดิฉันจำประเด็นนึงได้ อาจารย์พูดถึงเรื่องความเสมอภาคของคน ท่านธรรมปิฎกพูดทำนองว่า “ในทางพุทธศาสนา คนเราเกิดมาอาจจะไม่ได้เสมอภาคกันทุกคน เพราะเราสะสมกรรมมาต่างกัน แต่ความเสมอภาคนั้นสำคัญในแง่ที่เราต้องได้รับความเสมอภาคหรือสิทธิที่เท่ากันในโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นความเสมอภาคอยู่ที่สิทธิในโอกาสที่จะพัฒนาตน ท่านธรรมปิฎกก็บอกว่า นี่แหละคือหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนจากพุทธศาสนา ดังนั้นในแง่นี้ ความเสมอภาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี แต่เป็นสิ่งที่มหายานเน้นมาก


ภราดรภาพ

ประเด็นที่สามคือ เรื่อง ภราดรภาพ เราได้ยินการพูดถึงสาวกยาน ปัจเจกยาน และโพธิสัตตว์ยาน  สาวกยานคือการฟัง ตั้งเป้าหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ซึ่งนี่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดถ้ามองจากคติมหายาน ปัจเจกยานก็คือบรรลุด้วยตนเองแล้วไม่สอน ส่วนโพธิสัตตว์ยาน ในทางเถรวาท ดิฉันเข้าใจว่า คือ สัมมาสัมพุทธะ คือบรรลุธรรมเอง และสอน

สมมติเราพูดจากมุมของโพธิสัตตว์ยาน ดิฉันคิดว่าที่สำคัญคือสองประเด็น คือ หนึ่ง เป็นการตั้งเป้าที่ไปไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์จะคิดถึงได้ ก็คือสรรพสัตว์ และไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตแต่เป็นการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหมด สอง มหายานเน้นตรงนี้ แต่เถรวาทอาจจะไม่เน้นพอ ก็คือ การที่เราสามารถช่วยกันบรรลุธรรมได้  สองอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คือการที่เราตั้งเป้าไปสู่สรรพสัตว์ และการที่เราช่วยเหลือกันบรรลุธรรมได้

ตรงนี้ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่นี้คำถามเรื่องภราดรภาพ จึงเป็นคำถามที่สำคัญมากในมหายาน และอาจจะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่การเน้นเรื่องความกรุณา การที่พูดว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นคนสุดท้ายที่จะบรรลุธรรม อารมณ์ของมหายานเป็นอารมณ์แห่งความซาบซึ้ง เถรวาทเป็นอารมณ์แห่งปัญญา แต่ว่ามหายานเป็นความซาบซึ้ง เราซึ้งใจในความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของโพธิสัตว์ทั้งหลาย



ความสัมพันธ์ระหว่างอิสรภาพทางจิตวิญญาณ กับ ภราดรภาพ

สมมติเราพูดจากกรอบนี้ ถ้าเราจับเนื้อหาของมหายานลงเป็น 3 หลักการ เสรีภาพหรืออิสรภาพทางจิตวิญญาณ เสมอภาค และภราดรภาพ ดิฉันอยากตั้งข้อสังเกตและเป็นคำถามที่ดิฉันประทับใจมากในวันนี้ คือการแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณเชื่อมโยงกับคำถามเรื่องภราดรภาพอย่างไร

ดิฉันได้ยินพระไพศาลพูดถึง เรื่องเล่าส่วนตัว การเชื่อมโยงกับชีวิตท่านเสถียร โพธินันทะ ส่วนที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ขบวนการขับเคลื่อนของพุทธศาสนายุคกึ่งพุทธกาล

ส่วนแรก ท่านพูดว่า สมัยวัยรุ่นท่านสนใจมาร์กซิสท์ ท่านถูกสอนให้ทำเพื่อมวลชน ธรรมศาสตร์รักประชาชน... หลวงพี่บอกว่า เพื่อมวลชนแต่ตอนนั้นหดหู่ เหมือนอุดมการณ์แห่งชีวิตท่านล่มสลายไปในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนั้น แล้วท่านบอกว่าท่านรู้สึกได้แรงบันดาลใจเมื่อได้ยินมหายานพูดถึง “เพื่อสรรพสัตว์” โห มันใหญ่ไปกว่าแค่เพื่อมวลชน และนั่นเป็นแรงบันดาลใจประการหนึ่ง ที่ทำให้หลวงพี่ทำงานสังคมให้กับสังคมโดยรวมด้วยศาสนธรรมมาตลอดชีวิตของท่าน ในแง่นี้ คำถามเรื่องภราดรภาพที่สำคัญคือ เราทำอะไร เพื่อใคร และเป้าหมายเรากว้างแค่ไหน นี่คือภราดรภาพในมิติที่หนึ่ง คือ เราทำอะไร เพื่อใคร และเราเกิดแรงบันดาลใจที่ทำให้เรายอมทำ ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจ เราจะไม่ยอมทำ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากว่า เราทำอะไร เพื่อใคร

อีกมิติหนึ่งของภราดรภาพ ได้ยินจากคุณอนุรุตม์ พูดถึงสามสหายที่เป็นจุดกำเนิดของยุวพุทธิกสมาคม มีเพื่อนสามคนอายุไม่ต่างกันมาก คนนึงเป็นวัยรุ่น อีกสองคนอายุยี่สิบกว่า นั่งคุยกันกันจนถึงดึกดื่น เมื่อคุยแล้ว วิชาการกับธุรกิจมาเจอกันมันจึงเกิดอะไรบางอย่าง ก็เกิดมาจริงๆ และหน่วยงานนี้ก็มีอายุมาถึง 70 ปี ดิฉันคิดว่าอันนี้คือมิติที่สองของภราดรภาพ ความเป็นเพื่อน ความเป็นมิตรสหาย ในแง่นี้มิตรภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ

เวลาเราพูดถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ดิฉันได้ยินว่า ภราดรภาพ คือแรงบันดาลใจ เป้าหมายของสิ่งที่เราทำ และมิตรภาพ มีพลังในการทำให้การขับเคลื่อนสู่เสรีภาพทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นประเด็นเรื่องเสมอภาค ก็ได้ยินอยู่หลายครั้งในการพูดถึงว่าคุณเสถียรเป็นคนธรรมดา เป็นลูกเจ้าของร้านชำ เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีพื้นที่ที่คนจะได้ยิน ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นอัจฉริยะหรืออะไร ข้อนี้ดิฉันถือว่าเรากำลังเห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงของ เป้าหมายของอิสรภาพทางจิตวิญญาณหรือเสรีภาพ โยงสู่เรื่องความเสมอภาคของผู้คนในสังคม และที่สำคัญคือภราดรภาพ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนที่เป็นไปได้


พุทธศาสนาไทยในอนาคต บนพื้นฐานของเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะชวนคุย คือ ข้อเสนอของพระไพศาลที่พูดถึงอนาคต ว่าเราจะมีพุทธศาสนาที่หลากหลายมากขึ้น บทบาทของฆราวาสและผู้หญิง บริโภคนิยม และชาตินิยม

สมมติเรามองจุดวิเคราะห์ของพระไพศาลด้วยกรอบคิด 3 ข้อ ที่ดิฉันเสนอ ดิฉันก็จะอธิบายว่า พุทธศาสนาที่หลากหลาย นี่คือประเด็นภราดรภาพ เรานับญาติกับใคร เรานับใครเป็นพวกเรา เรากีดกันใครออกจากกลุ่มเรา คำถามนั้นก็จะเป็นคำถามที่จะสำคัญมากในอนาคต

อันที่สองคือเรื่องบทบาทของฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิง ดิฉันคิดว่านี่คือประเด็นเรื่องเสมอภาค ต่อไปก็จะสำคัญเช่นกัน  

ประเด็นที่สามของพระไพศาลคือ ประเด็นเรื่องบริโภคนิยม อันนี้เป็นประเด็นชัดเจนว่า ท่านใช้คำว่าเราถูกครอบงำโดยบริโภคนิยม ซึ่งก็คือ เราไม่มีอิสรภาพ เราถูกครอบงำด้วยกาม กิน เกียรติ อย่างที่ท่านว่า

อันสุดท้ายคือชาตินิยม เวลาที่ท่านพูดถึงกรณีต่างๆ เช่นยกตัวอย่าง ทรัมป์ โรฮิงญา ศรีลังกา ดิฉันอยากจะยกตัวอย่าง แคนาดา Brexit หรือสังคมไทยในสิบปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่มีปัญหาหลัก ที่ท่านเรียกว่าชาตินิยม แต่ดิฉันอยากเรียกว่าเป็นปัญหาภราดรภาพ


มหายาน: ภราดรภาพพาเราไปสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณได้

ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาบ่อยครั้ง เหมือนเราอยากได้ความเสมอภาค แล้วเราเอาภราดรภาพเป็นราคาที่เรายอมจ่าย ดิฉันคิดว่าอันนั้นคือปัญหาของโลกในปัจจุบันและอนาคต แรงบันดาลใจที่ได้จากการฟังวันนี้ คือดิฉันคิดว่า มหายานเห็นความสำคัญของภราดรภาพ คือการช่วยกันและตั้งเป้าหมายร่วมกัน ช่วยกันบรรลุธรรมและตั้งเป้าหมายร่วมกัน ในแง่นี้คำถามของดิฉันก็คือว่า ภราดรภาพจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสังคมในศตวรรษที่ ๒๑ ต่อไปได้หรือไม่อย่างไร

ขอจบด้วยตัวอย่างเล็กๆ อันนึงจาก CNN เมื่อสักสองสามอาทิตย์ก่อนมีข่าวเล็กๆ อันนึง ก็คือ ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยเยล ภาควิชาจิตวิทยามีเปิดวิชาใหม่ ชื่อ Happiness Lab ปรากฏว่ามีนักศึกษามาลงทะเบียนถล่มทลายในประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของมหาวิทยาลัยเยล จนอาจารย์ที่เปิดวิชาปวดหัวรับไม่ไหว ข้อสังเกตคืออย่างนี้ เขาพบว่านักศึกษาในอเมริกาปัจจุบัน เนื่องจากใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นน้อยลง การเดทที่เป็นเรื่องปกติ มีสถิติน้อยลง นักศึกษาเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น สถิติฆ่าตัวตายมากขึ้น ของพวกนี้ในประเทศไทยก็เกิดแล้ว ถ้าเราไปคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยก็จะรู้ดีว่าเป็นปัญหามาก เขาพบว่า สาเหตุหนึ่งที่สำคัญมากมันเริ่มต้นที่คนที่คิดเอทีเอ็ม คือคนที่เริ่มคิดเอทีเอ็ม เขาเริ่มคิดแค่ว่า ทำยังให้คนเข้าคิวในแบงค์ใช้เวลาน้อยลง ไม่ต้องเสียเวลา ในที่สุดคนก็ใช้อัตโนมัติหมด พอเอทีเอ็มสำเร็จ มันก็เข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต คนเดี๋ยวนี้ซื้อของผ่านเน็ท ในชีวิตประจำวัน คนมีความสัมพันธ์กับคนอื่นแบบเจอหน้าค่าตาแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ ทักทายคนขับรถรับจ้าง คุยกับคนขายหนังสือพิมพ์ คุยกับเพื่อน แหย่เพื่อน นักศึกษาในอเมริกา สถิติต่อวัน คือใช้เวลาในอินเตอร์เน็ตราว 8-10 ชั่วโมงเจอเพื่อนน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นน้อยลง เวลาเจอมนุษย์ตัวเป็นๆ กับเครียดมากขึ้น อยู่กับอินเตอร์เน็คแฮ้ปปี้กว่า เป็นอวตารเป็นอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

ดิฉันคิดว่านี่คือปัญหาหลักของศตวรรษที่ ๒๑ ในแง่นี้ ต่อไปเสรีภาพในความหมายตัวตน ปัจเจก ที่สุดโต่ง individualism ที่สุดโต่งเนี่ยต้องทำตัวเป็นมิตรกับภราดรภาพมากขึ้น และการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ดิฉันหวังว่าไม่เอาภราดรภาพเป็นราคาที่เรายอมจ่าย  สิ่งที่มหายานให้กับเราอย่างสำคัญ คือภราดรภาพพาเราไปสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณได้ คำถามที่สำคัญอันนึงของการขับเคลื่อนงานทางด้านศาสนธรรมในศตวรรษที่ ๒๑ คำตอบส่วนหนึ่งซึ่งเราอาจมองข้ามไป และการเสวนาวันนี้ทำให้เห็นชัดขึ้น คือคำถามเรื่องภราดรภาพ เราจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับใคร ความใกล้ชิดสนิทซึ้ง ความเป็นมิตรสหาย ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรักความผูกพัน เป็นเรื่องที่สำคัญ เราสามารถช่วยกันและตั้งเป้าหมายร่วมกันได้

 

 

 

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัชรสิทธามีจัดอบรมพื้นฐานการฝึกภาวนาแบบ somatic meditation สอนโดย วิจักขณ์ พานิช โดยวิธีการฝึกของที่นี่ ที่เรียกว่า bodywork เป็นเทคนิคภาวนาที่พัฒนามาจาก inner yoga ของทิเบต และได้ถูกพัฒนาต่อโดยอาจารย์ Reginald Ray ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
พ่อเยเช เขียน "พ่อๆ ลุงณัฐสอนอะไรบ้าง?"ผมนิ่งไปนิดนึง นึกถึงสิ่งที่เรียนมาสามวัน ถามตัวเองว่าจะอธิบายเรื่องนี้ให้ลูกเข้าใจยังไงดี... "โอเค อาจจะงงๆ หน่อยนะ แต่เดี๋ยวลองเล่าไปก่อนละกัน..."++++++++++++พ่อชวนลุงณัฐมาสอนเรื่อง Myth (มิธ) ที่วัชรสิทธา จริงๆ มันต้องแปลว่าตำนาน แต่ตำนานไม่รู้แปลว่าอะไร เราเลยเรียกว่า มิธ ไปละกัน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและความรู้เชิงเหตุผล พลังทางศาสนามักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ "ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด" ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธอานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เขียน บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอวงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัชรสิทธา ทว่าตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมสนทนาเนื่องจากติดราชการแดนไกล มิตรสหายหลายท่านจึงได้ช่วยกันนำเสนอแทน จึงขอนำบทความมาเผยแพร่ในที่นี้ เผื่อว่าอาจจะเป็นสาระประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย