Skip to main content

เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเอง
กับ ปรีดา เรืองวิชาธร
30 ตค - 1 พย 2563

ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง


“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”

หลังเริ่มกิจกรรมแรกด้วยการเวียนพูดชื่อของทุกคนจนครบวง พี่เล็ก ปรีดา เรืองวิชาธร กระบวนกรผู้นำกิจกรรม "เปิดเปลือยตัวตน" ได้ขอให้ทุกคนในห้อง “ปล่อยวางทุกอย่างลง ให้ผ่อนคลายที่สุด ต้อนรับทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทำกิจกรรม ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดใดที่เกิดขึ้นต่อเพื่อน ไม่เป็นไร คิดได้ รู้สึกได้”

พวกเรากำลังจะเริ่มกิจกรรมที่ 2 พร้อมเฝ้าดูความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น

เคาะระฆังครั้งที่ 1 ขอให้สบตากัน

เคาะระฆังครั้งที่ 2 ขอให้ก้าวไปสวมกอดกัน

เคาะระฆังครั้งที่ 3 ถอนการสวมกอด และสบตาเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า

ก่อนพักทานอาหารกลางวัน พี่เล็กให้พวกเราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แต่ละคนเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวตนของเราสำแดงเดชออกมา เพื่อร่วมกันค้นหาว่าตัวตนคืออะไร หลังทุกคนเกิดอาการงงงงวยกับคำถามของพี่เล็ก

 

“ตัวตนคืออะไร?”

เรื่องเล่าที่แลกเปลี่ยนในวงเล็กๆ อาจจะทำให้เราเห็นภาพได้ไม่ชัดนัก หลังมื้อเที่ยงพี่เล็กมอบงานใหม่ให้แต่ละกลุ่มเลือกเรื่องที่สะท้อนการพลังงานหรือการทำงานของตัวตนได้ชัด เพื่อผูกเป็นละครสั้นๆ เพื่อช่วยให้เรามองเห็นความหมายของตัวตนได้ชัดเจนขึ้น โดยไม่ต้องท่องบท แต่เน้นส่งพลังงานตอบโต้กันสดๆ รอบนี้พี่เล็กตั้งใจสังเกตการณ์ข้างสนาม วิเคราะห์ความเป็นตัวตนไปพร้อมๆ กับผู้ชมอีก 2 กลุ่ม

“ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกแบบไหน” และ “ทำไมเขาจึงรู้สึกอย่างนั้น” พี่เล็กตั้งคำถามหลังจบละครของแต่ละกลุ่ม คำตอบของผู้ร่วมกิจกรรม รวมทั้งการสืบค้นตลอดชีวิตของพี่เล็ก ทำให้สรุปออกมาได้ว่า

อัตตา คือ การรู้สึกหรือการเห็นว่ามีเราคงที่ (มีเราเกิดขึ้นถี่ ไม่ใช่ตลอดเวลา) ทั้งที่เป็นกายและเป็นใจ ซึ่งเป็นเรามาจนถึงทุกวันนี้ และมันพร้อมจะสยายอิทธิฤทธิ์ของตัวตนเมื่อมีเหตุการณ์เข้ามากระทบ

ลักษณะร่วมของอัตตาทุกชนิดมีทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน

  1. การสำคัญมั่นหมาย เกาะกุมยึดมั่นว่านี่คือฉัน สิ่งนี้เป็นของฉัน
  2. การแบ่งแยก การสร้างพรมแดนระหว่างสิ่งนั้น สิ่งนี้ นี่คือพวกฉัน นั่นไม่ใช่พวกของฉัน อันเป็นต้นทางของทวิลักษณ์
  3. ความต้องการที่จะครอบครอง ครอบงำ กินพื้นที่ หรือสร้างอาณาจักร เพื่อดึงคนอื่นมาเป็นพวกของตัวเอง
  4. มีน้ำหนักน้อย แต่พร้อมจะมีน้ำหนักเมื่อมีอะไรมากระทบ
  5. การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

พี่เล็กได้เสริมเกี่ยวกับการแบ่งแยกในข้อ 2 ไว้ว่า “การรู้สึกไม่มีพรมแดนยากมาก ส่วนใหญ่ที่บอกว่าไม่แบ่งแยกจะอยู่แค่ที่ระดับความคิด แต่ไปไม่ถึงสภาวะธรรม”

ตัวตนล้วนพร้อมจะมีน้ำหนักเสมอ แล้วตัวตนที่ไม่มีน้ำหนักมีอยู่หรือไม่? พี่เล็กขยายถึงตัวตนที่บริสุทธิ์ หรือจิตเดิมแท้ (Pure Self) ว่า จิตเดิมแท้นี้มีความคิด การรับรู้และความทรงจำ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ประกอบกันเป็นตัวตน มีแต่เหมือนไม่มี และเราจะไม่สามารถเข้าถึงได้หากยังไม่มีการภาวนารื้อถอนมายาภาพว่ากายและใจเป็นการประกอบขึ้นชั่วคราว พี่เล็กเองก็ยังอยู่ระหว่างสืบค้นว่ามีสภาวะนี้อยู่จริงๆ หรือไม่

“เส้นทางของคุณ คุณต้องเดินเอง”

 

 

ตัวตนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
 

กิจกรรมวันที่สองเริ่มด้วยการภาวนา เพื่อฝึกการมองเห็นความคิดโดยไม่ตอบโต้ และการมองเห็นธรรมชาติอันเป็นเนื้อแท้ของเรา ก่อนพี่เล็กจะขยายลักษณะร่วมทั้งห้าและการทำงานของอัตตาผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว และเปิดให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเหตุการณ์ของตัวเอง

ทุกคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “I think therefore I am” แต่ในทางพุทธศาสนาไม่ได้เชื่อแบบนั้น อัตตาที่เกิดจากความคิด ความรู้สึกที่เชื่อว่าเรามีตัวตนอยู่ ทำประโยชน์ให้เรามากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้มากเช่นกัน พี่เล็กจึงชวนเรามามองทะลุมายาภาพว่าภายใต้ความไม่มีพิษภัยของอัตตาซ่อนเล่ห์กลอะไรไว้บ้าง

จากลักษณะเบื้องต้นของอัตตา มันยังสามารถเล่นแปรแปรธาตุได้มากกว่านี้ ตัวตนที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์หนึ่ง อาจก่อให้เกิดตัวตนหนึ่งตามมาเพื่อปฏิเสธ ตอบโต้ หรือให้ความชอบธรรมต่อการกระทำตัวตนแรก เกิดกลลวงที่ซ้อนขึ้นเป็นชั้นๆ ของอัตตา ทำให้เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวตนของตัวเอง และคอยให้ท้ายตัวเองอยู่ร่ำไป

“ขอศิโรราบได้ไหม” พี่เล็กถามขึ้นในห้องเรียน “ผมอยากทำความเข้าใจเขาอย่างซื่อตรง พอจบก็หมดหน้าที่ของผม”

ก่อนเริ่มต้นภาวนาในช่วงบ่าย ครูตั้มบอกว่า เรื่องเล่าของทุกคนช่วยส่องสะท้อนกันและกัน การภาวนาทำให้เรากลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และยอมรับอำนาจของตัวตน ภายใต้ตัวตนอันแข็งทื่อ หรืออุดมคติ มีความเป็นมนุษย์อยู่ นั่นทำให้อำนาจของตัวตนอ่อนลง

 

ตัวตนมาจากไหน?
 

กลับมาจากการผ่อนคลาย พี่เล็กโยนคำถามยากๆ มาให้ผู้เข้าร่วมอีกครั้ง จากอำนาจทั้งห้าของอัตตา อันได้แก่ การเกาะกุมยึดมั่น การแบ่งแยก การครอบงำ การสร้างน้ำหนักกดทับ และการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง “อะไรทำให้อัตตาเติบโตงอกงาม อาหารของอัตตาคืออะไร?”

“ตลอดชีวิตเราเพิ่มอาหารให้มัน อัตตาทำลายพื้นที่ตลอดอายุขัย แต่เรากลับภาวนาน้อยมาก”

ปัจจัยที่ทำให้ตัวตนเข้มข้นขึ้น มาจากทั้งภายนอก และภายใน

ปัจจัยภายนอก

  1. สังคมให้ความหมายไว้เดิม
  2. กระบวนการ วิธีการ เงื่อนไขทางสังคมที่ส่งเสริมความเข้มข้นของอัตตา เช่น คำพูด กติกา วัฒนธรรม

ปัจจัยภายใน

  1. กระบวนการรับรู้ที่ผิดพลาด คับแคบ ขาดวิจารณญาณ ขาดการรู้เท่าทัน
  2. การตอกย้ำความคิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  3. ความทรงจำที่ผิดพลาดไม่ตรงกับความจริง ซึ่งไม่ได้ถูกรื้อถอน สำรวจ ตรวจสอบ แต่ใช้มันในการตอบสนองการดำเนินชีวิต

เราอาจจะกล่าวหากระบวนการทางสังคม (ปัจจัยภายนอก) เยอะ แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการรับรู้ของเราที่อาจจะมีปัญหา แล้วยิ่งโดนสังคมทำลายล้างกระบวนการคิดและวิจารณญาณ การตั้งรับ การรับรู้ การแสวงหาความจริงกลับไม่มีสอนทั้งในโรงเรียนและในครอบครัว

หลายๆ คนน่าจะเคยถูกสอนให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย พี่เล็กได้ยกตัวอย่างว่า พี่เล็กเป็นเด็กดี แต่บางครั้งก็อยากจะเกเรบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ความขัดแย้งของตัวตนทำให้พี่เล็กสันนิษฐานว่ากระบวนการเรียนรู้ภายในคงมีความคับแคบบางอย่าง ทำให้ขาดการใคร่ครวญและการใช้เหตุผลต่อค่านิยม เชื่อโดยไม่มีการสืบค้นความจริง จนสูญเสียศักยภาพในการเรียนรู้ที่แม่นยำและเที่ยงตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การที่เรามีอคติต่อใครคนหนึ่งอาจจะทำให้เราเห็นแต่ด้านที่ไม่ดีของเขา และปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเขามีด้านที่ดีอยู่

 

การทำงานของอัตตา
 

พี่เล็กทิ้งทวนวันที่ 2 ด้วยกิจกรรมเพื่อยอมรับความจริง เพราะการยอมรับความจริงคือจุดเริ่มต้นของการทะลุทะลวงอัตตา โดยให้แต่ละคนเลือกไพ่มาคนละ 4 ใบ 2 ใบเป็นไพ่สีที่เปิดมาเราจะพบกับด้านที่ไม่น่ารักของตัวเอง อีก 2 ใบเป็นเหตุการณ์ร้ายในชีวิตที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเจอ แถมยังบอกอีกด้วยว่าถ้าอยากอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมได้

เมื่อได้รับไพ่ครบ 4 ใบแล้ว เรามีโจทย์สำคัญ 2 ข้อที่ต้องตอบ ข้อแรก ทันทีที่เห็นคำบนไพ่คุณรู้สึกหรือให้ความหมายกับมันอย่างไร ข้อสอง ถ้าคุณเป็นคนแบบนั้น หรือต้องเจอกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ จะจัดการกับมันอย่างไรต่อ วิธีที่เรารับมือกับด้านที่ไม่ดีของตัวเองรวมถึงเหตุการณ์ร้ายจะทำให้เราเห็นการทำงานของอัตตา

อัตตามีวิธีออกจากการเผชิญความทุกข์อย่างไรบ้าง?

  1. การเฉไฉหลีกเลี่ยง
  2. การมองว่าทุกอย่างมีมุมบวกเสมอ ซึ่งอาจนำไปสู่ความอ่อนแอในการเผชิญความจริงจากการที่เลือกเสพแต่ด้านบวกแล้วหนีด้านลบ
  3. การมองว่าทุกอย่างไม่เที่ยง (เดี๋ยวมันก็ผ่านไป)

พี่เล็กยอมรับว่าวิธีในข้อ 2 และ 3 ช่วยพี่เล็กมาหลายครั้ง แต่วิธีนี้ทำให้เราอยู่กับความทุกข์ได้จริงไหม หรือเราแค่รอเวลาที่จะได้มีความสุขอีก ดังนั้นศิลปะการยอมรับความจริงสำหรับพี่เล็กจึงเป็นการซ้อมเผชิญกับด้านร้ายจริงๆ และอย่ามองมุมบวกมากเกินไป

 

การยอมรับความจริง
 

หลังผ่านความหนักหน่วงของสองวันแรก ต้องเห็นด้านที่ไม่ดีของตนในวันที่ 2 จนสะบักสะบอม พี่เล็กรับวันสุดท้ายของกิจกรรมด้วยคำถาม “ทำไมในชีวิตจริงถึงยอมรับตัวเองอย่างซื่อตรงได้ยาก ทำไมเมื่อวานถึงทำได้”

พื้นที่และบรรยากาศของวัชรสิทธาอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนพร้อมที่จะยอมรับตนเอง สภาวะที่พร้อมจะฟัง โอบอุ้มสิ่งที่ผู้เล่าเป็น และไม่ด่วนตัดสินอย่างที่เราเจอในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราต้องก้าวออกจากห้องนี้ เราจะสามารถยอมรับโดยแท้จริงได้รึเปล่า? เราสามารถสร้างเงื่อนไขแบบนี้ในชีวิตจริงได้ไหม?

“วัชรสิทธามีช่วงที่มันเงียบ เป็นการสร้างความปรองดองและความสงัดของจิตใจให้พร้อมรับอะไรที่หนักหนาสาหัส ที่นี่อนุญาตให้เราใจกว้างกับตัวเอง ว่าเรามีสิทธิ์ต่ำต้อยได้ และมันมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้น”

“ห้องนี้ศักดิ์สิทธิ์มันไม่พอ มันต้องมีวัชรสิทธาเกิดขึ้นในเรือนใจของคุณ”

การฝึกซ้อมเพื่อเผชิญกับความทุกข์ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันเวลาเจอเหตุการณ์จริงๆ และบางทีการศิโรราบอย่างหมดจดอาจจะจำเป็น เพื่อให้ปัญญาญาณที่เล็ดรอดมาจากการยอมรับได้อย่างแท้จริงผุดขึ้นมา

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าอัตตามีกลลวงที่ทำให้เรามองไม่เห็นมันเยอะมาก ก่อนที่จะสลายอัตตา เราต้องเข้าใจก่อนว่าม่านหมอกของอัตตาที่บดบังความจริง (ไตรลักษณ์: อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มีอะไรบ้าง

  1. ความรู้สึกเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อน (สัญญา)
  2. ความรู้สึกต่อเนื่อง
  3. การเปลี่ยนอริยาบถ หรือการเคลื่อนย้ายของอัตตาออกจากความทุกข์ (ขันธ์ 5) เช่น เมื่อยืนเหมื่อย เราก็เปลี่ยนไปนั่ง

แล้วที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่ความจริงอย่างไร?

อัตตาไม่ได้เป็นแท่ง เป็นก้อนที่อยู่โดดๆ แต่ถูกประกอบจากร่างกายและจิตใจ (ความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ) จนกลายมาเป็นตัวเป็นตน อัตตาเกิดและดับอย่างรวดเร็วจนเราไม่ทันสังเกต จึงเข้าใจไปว่ามันมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อเราเริ่มทุกข์จากความมีตัวมีตน อัตตาได้พาเราย้ายออกจากทุกข์ซึ่งก็คือขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จากความทุกข์ที่ทนไม่ได้ไปสู่ความทุกข์ที่ทนได้ ทำให้เราหลงคิดไปว่าการมีตัวตนนั้นไม่ทุกข์

ยิ่งเราไม่ค่อยให้เวลากับการสังเกต การมองทะลุทะลวงหมอกมายาของอัตตาไปเห็นความจริงจึงยากมาก

 

วิธีสลายอัตตา
 

เครื่องมือที่จะทะลุม่านหมอกนี้ดูเหมือนจะมีแค่การภาวนาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การคิดวิเคราะห์ แต่เป็นการรู้สึกตัว

การภาวนาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ

  1. สมถกรรมฐานการใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ ร่างกายบางส่วน การเดิน หรือสิ่งของมาช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งนั้นอย่างเดียว วิธีนี้จะได้เพียงความเงียบสงบ แต่ไม่ค่อยได้ปัญญา แถมเรายังต้องใช้พลังงานสูงมากในการเพ่งไปที่จุดๆ เดียว พี่เล็กแนะนำว่าถ้าใครเจอฐานที่เหมาะกับตัวเอง ให้ฝึกแบบนั้นไปเลย
  2. วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นการภาวนาที่ทำให้เราแทงทะลุภาพลวงได้จริงๆ วิธีนี้ก็สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ฐาน ขึ้นอยู่กับว่าใครเหมาะกับฐานไหน
  • ฐานใจ เหมาะสำหรับคนที่ชอบคิดวิเคราะห์ โดยให้มองไปที่ความรู้สึกนึกคิดตรงๆ แค่เห็น แค่รับรู้ตรงๆ ไม่เลือกที่ชอบที่ชัง
  • ฐานกาย ให้รู้สึกตัวว่ากำลังเคลื่อนไหวอย่างไรโดยที่ไม่ต้องใส่ลีลาให้ต่างไปจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และให้รับรู้ว่าร่างกายนั้นเป็นแค่รูป ไม่ใช่ตัวฉันจริงๆ การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ให้รู้ว่านี่คือการเคลื่อนออกจากทุกข์

 

“อัตตาชอบให้เราสู้กับมัน แต่มันกลัวการที่เรามองเห็นมัน”

ก่อนลงสนามจริงกับการภาวนาในรอบบ่าย ครูตั้มพูดถึงการมี Presence หรือการดำรงอยู่ขณะเผชิญหน้ากับสภาพตามความเป็นจริงที่ไม่มีอคติบดบังหรือบิดเบือน ซึ่งทำให้เรามีพื้นที่ให้ตัวเองในการอยู่กับปัญหา และพื้นที่นี้เองที่อนุญาตให้มีการสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความเข้าใจกันมากขึ้น

“หลายๆ ครั้งที่เราต้องใช้กลไกของตัวตนเป็นเพราะเรากลัวพื้นที่ว่าง เราอยู่กับความว่างไม่ได้”

การภาวนาบนฐานกาย หรือ Body work ทำให้เรากลับมาอยู่กับร่างกาย มาเชื่อมโยงกับตัวเองซึ่งไปพ้นจากความคิด บางครั้งเมื่อเราอยู่ในความว่าง สิ่งที่เรากลัวก็อาจจะผุดขึ้นมา หากเราสามารถอยู่กับมันได้ มันก็จะคลี่คลายตัวของมันเอง

“พื้นที่การภาวนาที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดก็คือชีวิตประจำวัน”

การรู้ตัว หรือการมีสติเองก็เกิดและดับเหมือนกับอัตตา ไม่ได้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ของการเกิดสภาวะธรรมไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วคงอยู่ตลอดไป แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ ถ้าเราไปยึดติดกับสภาวะธรรมนั้น อัตตาก็เกิดขึ้นอีก

ก่อนวันที่ 3 จะจบลง และทุกคนต้องแยกย้ายกันไป พี่เล็กบรรเลงกีตาร์คลอเสียงร้องอันแสนจริงใจ บางทีการต่อสู้นี้อาจจะไม่ลำบากเท่าไหร่นักหากเราเลือกจับมือกัน

“อัตตาเป็นเพื่อนอยู่กับเรามานาน ตราบใดที่เราอยากรู้จักมันอย่างแท้จริง เราจะไม่ตัดสินมันเลย”

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัชรสิทธามีจัดอบรมพื้นฐานการฝึกภาวนาแบบ somatic meditation สอนโดย วิจักขณ์ พานิช โดยวิธีการฝึกของที่นี่ ที่เรียกว่า bodywork เป็นเทคนิคภาวนาที่พัฒนามาจาก inner yoga ของทิเบต และได้ถูกพัฒนาต่อโดยอาจารย์ Reginald Ray ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
พ่อเยเช เขียน "พ่อๆ ลุงณัฐสอนอะไรบ้าง?"ผมนิ่งไปนิดนึง นึกถึงสิ่งที่เรียนมาสามวัน ถามตัวเองว่าจะอธิบายเรื่องนี้ให้ลูกเข้าใจยังไงดี... "โอเค อาจจะงงๆ หน่อยนะ แต่เดี๋ยวลองเล่าไปก่อนละกัน..."++++++++++++พ่อชวนลุงณัฐมาสอนเรื่อง Myth (มิธ) ที่วัชรสิทธา จริงๆ มันต้องแปลว่าตำนาน แต่ตำนานไม่รู้แปลว่าอะไร เราเลยเรียกว่า มิธ ไปละกัน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
วัชรสิทธา • vajrasiddha
โอม มณีปัทเมหุม เขียนในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและความรู้เชิงเหตุผล พลังทางศาสนามักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ "ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด" ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธอานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เขียน บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอวงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัชรสิทธา ทว่าตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมสนทนาเนื่องจากติดราชการแดนไกล มิตรสหายหลายท่านจึงได้ช่วยกันนำเสนอแทน จึงขอนำบทความมาเผยแพร่ในที่นี้ เผื่อว่าอาจจะเป็นสาระประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย