Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร 

 


คำกล่าวเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์”
จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 12 กันยายน 2555


ยุคใครยุคมัน
ผมอยากเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์” ด้วยคำพูดของนักปรัชญาชาวเดนนิชในศตวรรษที่ 19 ชื่อ ซอเรน เคียร์เคอกอร์ด ที่ว่า
“คนทุกๆ รุ่นต้องเริ่มต้นอะไรของตนเองอยู่เสมอ…คนทุกๆ รุ่นต้องลงแรงสร้างอะไรเอง ไม่ต่างกันทุกรุ่น”
คำพูดของนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่น่านำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ คำพูดของจอน แบล็คกิง นักมานุษยวิทยาดนตรีอเมริกันที่เชี่ยวชาญดนตรีแอฟริกัน เขาคิดต่อจากเคียร์เคอกอร์ดแล้วเสนอว่า
“ถ้าคุณเป็นประพันธกรที่เก่งกาจ และเคารพไชคอฟสกี้อย่างที่สุด แล้วคุณเอางานไชคอฟสกี้มาเรียบเรียงใหม่ในยุคสมัยของคุณ ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็ไม่สามารถเรียบเรียงและเล่นเพลงของไชคอฟสกี้ได้ในแบบเดียวกับที่ไชคอฟสกี้เล่นในยุคสมัยของเขา ไม่ใช่เพราะไชคอฟสกี้เป็นอัจฉริยะจนใครต่อใครเอาอย่างไม่ได้ แต่เพราะดนตรีในยุคสมัยของคุณ มันแตกต่างจากดนตรีในยุคของไชคอฟสกี้”
ผมจึงอยากตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ในยุคของคุณ พวกคุณจะต้องมีพิธีกรรมนี้จริงๆ หรือ? แล้วอะไรกันแน่คือคุณค่า ไม่ใช่แค่เหตุผล ของการจัดพิธีรับน้องในยุคสมัยของคุณ? หรือถึงที่สุดแล้ว ยุคสมัยคุณยังต้องการการรับน้องอยู่อีกหรือ?
 
ประสบการณ์ไม่รับน้อง
สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมชอบไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลาน ผมชอบบรรยากาศที่นั่น ชอบอาหารโรงอาหารที่นั่น ชอบกล่ินสี กลิ่นดิน งานศิลปะ ชอบนั่งดูพวกที่มาเรียนศิลปะเรียนโบราณคดีแต่งตัวกัน ชอบไปหาเพื่อนที่รู้จักซึ่งก็มีไม่กี่คน แต่เพื่อนผมที่เรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” บอกว่า มันชอบมานั่งที่ธรรมศาสตร์ มันบอกพวกธรรมศาสตร์ช่างคิดช่างเขียนช่างอ่านกันดี
 
แต่ถึงผมจะชอบมหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลานขนาดไหน ผมก็ไม่อิจฉาและงงทุกครั้งที่เห็นการรับน้องแบบที่นั่น เขาพาน้องเดินไปเดินมาที่สนามหลวง ไปกันเป็นฝูงๆ ให้น้องแต่งตัวแปลกๆ บางทีจะเรียกว่าแต่งตัวยังไม่ได้เลย อีกอย่างที่เขาทำคือ ให้น้องใส่ป้ายชื่อใหญ่ๆ
 
ที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่านก็มีประเพณีประหลาด อย่างอื่นผมไม่รู้ แต่สมัยผมที่ผมรับรู้คือ เขาให้นิสิตปีหนึ่งผู้หญิงใส่รองเท้าขาว นิสิตผู้ชายต้องผูกไท ผมงงทุกทีว่าทำไมน้องใหม่ผู้หญิงจะต้องระวังไม่ให้รองเท้าเลอะเทอะมากกว่าน้องผู้ชาย และทำไมน้องใหม่ผู้ชายต้องเอาผ้ามารัดคอเข้าห้องเรียนด้วย
 
ผมนึกดีใจขึ้นมาที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยหน้าพระลาน ผมอยากเรียนคณะจิตรกรรมที่นั่น แต่นึกๆ ดูว่า หากเข้าไปได้ ผมคงต้องอึดอัดอยู่ที่นั่นไม่ได้ เพราะไม่ชอบถูกว้ากถูกรับน้องแบบนั้น คณะรองลงมาที่อยากเข้าคือคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยสามย่าน เพราะอยากสร้างงานศิลปะให้คนเข้าไปอาศัย แต่ตอนหลังก็นึกดีใจที่ผมไม่ต้องไปเอาผ้ารัดคออยู่ปีนึง
 
อยู่ธรรมศาสตร์ พอมาถึงมหาวิทยาลัยทีไร ผมบอกตัวเองแทบทุกนาทีว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ผมคิดว่าหากเรามีเหตุผลกับสิ่งที่เลือกทำ และไม่ได้ทำร้ายใคร ผมก็จะทำ ผมก็เลือกไม่ไปงานรับน้อง ไม่ไปรับใครเป็นน้อง ไป “บายเหนี่ย” ตอนปีสี่ครั้งเดียว แต่ไม่สนุก เพราะไม่รู้จักใคร และที่จริงก็ไม่อยากรู้จักใคร
ที่ธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะพยายามรณรงค์ให้เรียกกันว่า “การรับเพื่อนใหม่” แต่คำว่าเพื่อนใหม่ก็ไม่ติดปาก คนมาใหม่ก็จะเป็นน้องอยู่ตลอดอยู่นั่นเอง ธรรมศาสตร์สมัยผมแม้ส่วนมากไม่รับน้องรุนแรง แต่มีบางคณะเหมือนกันที่ใช้วิธี “ว้ากน้อง” มีบางคณะเหมือนกันที่ให้น้องทำอะไรโง่ๆ อย่าให้เอ่ยชื่อคณะเลย
 
รับน้องทำไม
การรับน้องไม่ได้มีขึ้นเพื่อการศึกษาแน่ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องทำอะไรที่ดูโง่ๆ ตามๆ กัน จะต้องเชื่อฟังพี่อย่างง่ายๆ ซื่อๆ กระทั่งถึงกับไร้ศักดิ์ศรี เพื่อจะให้สามารถสร้างงานศิลปะได้ดีอย่างนั้นหรือ จะต้องใส่รองเท้าขาว เอาผ้ารัดคอ เพื่อให้ท่องตำราได้คล่องแคล่วอย่างนั้นหรอ ไม่ใช่แน่
 
หรือถ้าจะบอกว่าการรับน้องเพื่อสร้างสัมพันธ์ สร้างการมีเพื่อน ก็ไม่ใช่แน่ เพราะคนในโลกนี้คบหาเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมรับน้องอะไร ผมเองไม่เคยไปรับน้อง ก็มีเพื่อนฝูงมากมายจนไม่สามารถสังสันทน์ได้ครบ
 
ถ้าลองวิเคราะห์ดู ผมคิดว่าการรับน้องแบบนั้นสร้างระบบรุ่น และระบบอาวุโสแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบนี้รวมเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ การอุปถัมภ์เกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยทำงานแข็งขันมาก สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็คงยังมีอยู่ ใครจบจากสถาบันไหน ก็จะสร้างเครือข่ายของสถาบันนั้น ถ้าคุณสังเกตวงการบางวงการ องค์กรบางองค์กร บริษัทบางบริษัท จะมีผู้จบจากบางสถาบันครอบงำอยู่ตลอด สืบทอดกัน ไม่ใช่เพราะความสามารถอย่างเดียว แต่เพราะความเป็นสถาบัน ยิ่งหากอาชีพนั้นเฉพาะเจาะจงตามคณะที่เรียนกันมา ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็จะยิ่งมีความสำคัญต่อการรับไม่รับรุ่นพี่รุ่นน้องกันเข้าทำงาน
 
หากวิเคราะห์ตามนักคิดทางสังคมอย่างมักซ์ เวเบอร์ การสืบทอดสถาบันและรุ่นมีลักษณะไม่ต่างจากระบบการสืบทอดอำนาจแบบประเพณี ความเป็นพี่น้องคล้ายระบบสืบสายโลหิต ระบบเครือญาติ พิธีกรรมรับน้องทำหน้าที่สร้างความผูกพันแบบเครือญาติที่วางอยู่บนระบบอาวุโส เข้ากลุ่มเจอกันก็ต้องไหว้ เรียกพี่เรียกน้องกันทั้งๆ ที่อายุก็ห่างกันไม่เท่าไหร่ หรือบางทีคนที่ “ซิ่ว” มาก็มี เข้าโรงเรียนไม่พร้อมกันก่อนหลังบ้างก็มี บางคนสมัยก่อนสอบเทียบมาก็มี อายุจึงไม่ได้ลดหลั่นกันตามปีที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่พิธีกรรมนี้ก็จะทำให้ระบบอาวุโสทำงานไปตลอด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
 
ระบบการรับน้องจึงมีส่วนทำลายระบบความสามารถ ระบบการใช้เหตุผล บางครั้งอาจเป็นการบ่มเพาะระบบพวกพ้อง ที่เกื้อกูลกันแม้ไม่ถูกกฎเกณฑ์ แม้ผิดกฎหมาย
 
เลยไปกว่านั้น ผมว่าพิธีรับน้องสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา เพราะไม่มีการศึกษาระดับอื่นที่มีการรับน้อง หรือเดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่สมัยผมไม่เห็นมีใครรับน้องอนุบาล รับน้องประถม รับน้องมัธยม มีแต่ในระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มี
 
การรับน้องจึงเป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคม ที่สร้างขึ้นมาจากการทำให้แตกต่าง ทำให้พิเศษไปจากการศึกษาระดับอื่นๆ ทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันระหว่าง “ผู้มีการศึกษา” ทั้งๆ ที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย–ตามที่ควรจะเป็น–ไม่ได้มุ่งสอนให้คนเชื่องเชื่ออะไรง่ายดายอย่างนั้น
 
แต่การสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา แยกพวกเรียนมหาวิทยาลัยออกจากคนไม่ได้มีโอกาสเข้าหรือไม่ได้จบมหาวิทยาลัย ทำให้พวกจบมหาวิทยาลัยแปลกแยก แต่กลับอยู่เหนือสังคม ทั้งๆ ที่สังคมเลี้ยงดูอุ้มชูให้พวกเขาเติบโตมา ภาษีประชาชนที่มาชดเชยช่วยให้ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐราคาถูก กลับสร้าง “ชนชั้นผู้มีการศึกษา” ขึ้นมาดูถูกประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูมหาวิทยาลัย การรับน้องมีส่วนสร้างกลุ่มคนที่ “อกตัญญูต่อสังคม” เหล่านี้
 
ประดิษฐ์ประเพณีใหม่
ประเพณีต่างๆ ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมารับใช้ยุคสมัยของมัน สนองสังคมที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา แต่ประเพณีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว มักกลับมาครอบงำคน จนกระทั่งคนที่เดินตามมันหลงลืม ไม่รู้แล้วว่าคุณค่าของประเพณีนั้นๆ คืออะไร แล้วก็เลยไม่ทันได้ตรวจสอบทบทวนว่ามันยังมีประโยชน์สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่
 
ผมอยากเสนอว่า ในยุคสมัยของพวกคุณ คุณน่าจะมาคิดกันว่า จะรับน้องหรือไม่? จะรับกันไปทำไม? หากจะทำกิจกรรมบางอย่างทดแทน จะทำอะไร? จะทำไปเพื่ออะไร?
 
ผมคิดว่าเราควรจะคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน อย่างถึงลูกถึงคน อย่างหลากหลายแง่มุม อย่างสุดทางของเหตุผลและระบบคุณค่า
 
มาทบทวนกันว่า พวกคุณยังต้องการสร้างและสืบทอดระบบอุปถัมภ์อยู่หรือไม? พวกคุณยังอยากแยกตนเองเป็นชนชั้นผู้มีการศึกษาอยู่หรือไม่? หรืออย่างน้อย พวกคุณยังอยากทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตรวจสอบสงสัย หรือดัดแปลงหรือไม่?
 
เราไม่ควรพูดเลี่ยงเพียงแค่ด้วยสำนวนที่ว่า “ความคิดใครความคิดมัน มุมมองใครมุมมองมัน” เพราะถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมที่ “รุ่นน้อง” ถูกทำให้ต้องยอมรับอย่างจำยอม ไม่ใช่เพราะ “ความคิดใครความคิดมัน” การพูดว่าความคิดใครความคิดมันเป็นการกลบเกลื่อนการใช้อำนาจเหนือการแลกเปลี่ยนเชิงเหตุผลของคนในประชาคม
 
ประเพณีธรรมศาสตร์
บอกแล้วว่าประเพณีของยุคไหนก็เป็นเรื่องที่แต่ละยุคต้องคิดกันเอาเอง ผมคิดแทนไม่ได้ แต่อยากเสนอแนวทางหนึ่งไว้เป็นข้อคิดว่า การจะตัดสินว่า จะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันคิดถึง “คุณค่า” คิดถึง “ความหมายที่ลึกซึ้ง” ของยุคสมัย และค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะตนของประชาคม เพื่อที่เราจะได้นำเสนอคุณค่าที่แตกต่าง เป็นเอกเทศ แบบเท่ๆ ของเราเองให้กับสังคม
 
ผมคิดถึงคุณค่า “ธรรมศาสตร์” ที่ไม่ต้องเลี่ยนมาก ไม่ต้อง “ธรรมส้าดธรรมศาสตร์” ไม่ต้องอ้างคาถา 14 ตุลา, 6 ตุลา, ปรีดี, ป๋วย กันตลอดเวลาหรอก ตอนผมเรียน ผมก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องพวกนี้มากนักหรอก มันน่าเบื่อจะตาย ถูกกรอกหูจากรุ่นพี่ตลอด
 
เพียงแต่อย่าลืมว่า พวกคุณเป็นหนี้สังคมไทยอย่างไร ลำพังเงินบิดามารดาคุณไม่สามารถลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง ให้มีเงินจ้างอาจารย์มาสอน ให้มีเพื่อนๆ ดีๆ มีคนที่มีคุณภาพของสังคมมาให้คบหาประชาคมกันได้หรอก พวกคุณจึงเป็นหนี้สังคมที่สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบนี้ขึ้นมา
 
แต่คุณค่าของธรรมศาสตร์คืออะไร? ธรรมศาสตร์ในยุคของคุณคืออะไร? ธรรมศาสตร์ที่คุณจะสร้างต่อไปคืออะไร? ธรรมศาสตร์สมัยนี้ควรสืบทอดและสร้างอะไรใหม่? ธรรมศาสตร์ควรประดิษฐ์ประเพณีรับน้องของตนเองแบบใด? หรือธรรมศาสตร์ไม่ต้องการการรับน้องอีกต่อไปแล้ว? เป็นเรื่องที่ต้องตรองกันดู

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://socanth.tu.ac.th

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ