การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
หากถามว่า แล้วผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยเรียนรู้การสอนมาจากไหน ผมว่าส่วนใหญ่เรียนรู้มาจากที่ตนเองเรียนมา เรียนรู้จากอาจารย์และระบบการจัดการเรียนการสอนที่แต่ละคนร่ำเรียนมา มากกว่านั้นก็อาจจะได้จากการแลกเปลี่ยนกับอาจารย์รุ่นพี่รุ่นน้อง ลองผิดลองถูกกันไปและเลือกแนวทางที่ถูกจริตของแต่ละคนกันไป
คนที่เริ่มสอนใหม่ๆ ให้ยืนหน้าชั้นสัก 1 ชั่วโมง ไม่กี่นาทีก็ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว อาจารย์ใหม่มักเตรียมตัวสอนมาก จนบางครั้งมากเกินไป เพราะกลัวว่าจะยืนปากแข็งอยู่หน้าชั้นเรียน หรือกลัวหมดเรื่องพูด อาจารย์เก่าๆ มักอาศัยความเก๋า ลากเอาประสบการณ์มากมายมาแปลงเป็นบทเรียนได้ไม่รู้จบ ยิ่งใครมีมุกตลกมาก ก็ยิ่งพาให้ชั้นเรียนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่อาจารย์บางท่านก็ใช้บทบรรยายเข้มๆ ที่เรียกร้องการสอบของนักเรียน ในการประคองให้ชั้นเรียนเงียบกริบไปได้จนจบภาคการศึกษา
เมื่อต้นปีการศึกษาที่แมดิสัน มีอาจารย์ใหม่คนหนึ่ง เป็นชาวฝรั่งเศส เพิ่งจบมหาวิทยาลัยในอเมริกา มาสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ สอนวันแรกก็เป็นข่าวดังไปทั่วมหาวิทยาลัยเพราะแกใช้สื่อการสอนออนไลน์ประกอบตลอดเวลา คือเนื่องจากเป็นห้องใหญ่ แกกลัวจะสื่อสารได้ไม่ทั่วถึง ก็เลยให้นักศึกษาส่งข้อความคำถามหรือข้อวิจารณ์ต่อประเด็นในห้องบรรยายใหญ่ ส่งผ่านโซเชียลมีเดียที่เปิดค้างไว้ตลอด แล้วให้ TA ในห้องคอยนำเสนอขึ้นจอใหญ่ไปพร้อมๆ กับการบรรยายเลย ห้องเรียนนี้กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อจะจัดการสอบกลางภาคผ่านสื่อออนไลน์ สุดท้าย สื่อการสอนใหม่ เทคนิคใหม่ๆ นี้จะเปลี่ยนห้องเรียนไปอย่างไร ทั้งมหาวิทยาลัยกำลังรอผลกันอยู่
การสื่อสารในห้องเรียนเป็นปฏิกิริยาระหว่างนักเรียนกับผู้สอน บางครั้งก็เกิดการตีความที่ผิดพลาดระหว่างกันได้ โดยเฉพาะในห้องเรียนขนาดใหญ่ ในอดีตอันใกล้ที่ผ่านมา ห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเกิดประเด็นการดูถูกทางชาติพันธ์ุกันบ่อยๆ มีครั้งหนึ่ง นักศึกษาเดินออกจากห้องเรียนก่อนเวลา 2 นาที ขณะที่อาจารย์กำลังบรรยายเรื่องการละเมิดสิทธิที่ทำกินของชนพื้นเมืองอเมริกันโดยคนขาว อาจารย์พูดตามหลังนักศึกษา 2 คนนั้นว่า "นี่เป็นตัวอย่างของคนขาวที่งี่เง่าไม่ยอมเรียนรู้ปัญหาอะไร" หลังห้องเรียนนี้ มีอีเมลกระหน่ำถล่มผู้สอนอย่างหนัก เพราะปรากฏว่านักเรียน 2 คนนั้นต้องรีบออกไปเข้าห้องสอบอีกวิชาหนึ่งที่จะเริ่มใน 2 นาทีนั้น
เมื่อสอนๆ มาได้ครึ่งเทอม ก็เลยทำให้คิดถึงวิธีการสอนที่ผมมักใช้ ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปมาเป็นข้อๆ ได้ง่ายๆ แต่แค่อยากรวบรวมหลักการบางอย่างที่ใช้ในห้องเรียนแบบสัมมนาว่าผมพยายามจัดการอย่างไร
1. การอธิบาย ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป ผมยึดหลักว่า จะพยายามไม่อธิบายก่อนที่นักเรียนจะลองคิดเองก่อน ไม่อธิบายมากจนกระทั่งไม่มีช่องให้นักเรียนไม่ได้คิดเอง ไม่อธิบายน้อยกระทั่งนักเรียนไม่เข้าใจ ซึ่งก็ยากทั้งสองด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งโจทย์หรือตั้งประเด็นถกเถียงให้นำไปสู่การเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการให้นักศึกษาเข้าใจ โดยไม่บอกก่อนว่าผลจากการคิดไปในเส้นทางนี้จะทำให้นำไปสู่ข้อสรุปอะไร แต่หลายต่อหลายครั้งก็ต้องยอมเฉลยบทเรียนให้นักศึกษาฟัง ก็คือแทรกการเล็คเชอร์เข้าไปนั่นแหละ เพราะบางทีก็เกรงว่าผู้เรียนจะไม่เข้าใจทั้งหมด
บางทีก็ยากเหมือนกันที่จะตัดสินว่า ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่เขาอ่านมาอย่างที่เขาพูดหรือแสดงสีหน้าหรือเปล่า ผมไม่เชื่อว่าการทำข้อสอบจะวัดผลการเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ดี แต่เชื่อว่าหากผู้เรียนได้เรียนรู้จริงๆ แล้วจะใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วเอง แต่ในห้องเรียน บางครั้งก็วัดไม่ได้ว่าบทเรียนที่พยายามให้เขาเรียนรู้นั้น เขารู้แล้วหรือยัง ก่อนที่เขาจะสามารถไปทบทวนเองและค้นคว้าต่อเองได้ บางทีก็คิดว่าตนเองไว้ใจนักศึกษามากเกินไปจนกลัวว่าเขาได้บทเรียนไม่พอ
2. การตอบโต้กับการวิจารณ์ การเรียนในห้องเรียนสัมมนามักต้องอ่านเอกสารกันก่อนเข้ามาเรียน แล้วแลกเปลี่ยนความรู้กัน ที่น่าสนใจคือ นักเรียนแต่ละซีกโลกจะมีมุมมองต่อเอกสารที่ห้อ่านแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากค่านิยมหรือระบบคุณค่าที่สังคมพวกเขาหล่อหลอมมาด้วย นักเรียนอเมริกันถูกสอนให้วิจารณ์งานเขียนจากมุมมองแบบเสรีนิยม และหลักความเสมอภาค เน้นหลักความสมเหตุสมผลและการใช้หลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยทั่วๆ ไปก็จะถือว่าไปด้วยกันได้กับการศึกษาสมัยใหม่ การวิจารณ์ก็จะไปกันได้อย่างสนุกมาก แต่ถึงที่สุดแล้ว เราจะทำอย่างไรผู้สอนจึงจะประคับประคองให้การวิจารณ์นั้นแหลมคมขึ้น พร้อมๆ กับทำให้นักเรียนได้บทเรียนจากเรื่องราวที่อ่านด้วย ไม่ใช่อ่านแบบจับผิดอย่างเดียว
แต่ส่วนนักเรียนจากเอเชียรวมทั้งนักเรียนไทยทั่วไป จะกลับมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะมักวิจารณ์จากค่านิยมอนุรักษ์นิยม บางครั้งใช้หลักศาสนา หลักศีลธรรม หรือบางทีก็ไปได้แค่ว่าข้อเขียนนี้อธิบายไม่ชัด เขียนภาษาไม่ดี แต่บอกไม่ได้ว่าไม่ชัดอย่างไร ไม่ดีอย่างไร ข้อยุ่งยากสำหรับผมคือ จะทำอย่างไรให้พวกเขายอมรับข้อเสนอแบบอื่นๆ ที่แตกต่างจากระบบคุณค่าที่เขามีอยู่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลและหลักฐานแบบวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีคิด ด้วยมุมมอง แบบที่เขายังไม่คุ้นเคย โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเรายัดเยียด
3. การติชม ต้องรู้จักชื่นชมนักศึกษา ไม่ว่าจะในแง่ไหน แล้วติอย่างเป็นระบบ ข้อนี้นักศึกษาไทย หรือจากประสบการณ์การสอนชั้นเรียนนานาชาติ นักศึกษา "เอเชียน" รวมทั้งนักศึกษายุโรป จะเรียกร้องจากผู้สอนน้อยกว่านักศึกษาอเมริกัน ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ไม่เอื้อต่อการศึกษา เป็นการ "ตามใจ" เอาอกเอาใจผู้สอนจนเคยตัว ผู้เรียนต้องรู้จักเรียกร้องเอาจากผู้สอน ขณะเดียวกัน ผู้สอนก็ต้องอธิบายผู้เรียนได้อย่างชัดเจนว่าทำไมจึงให้คะแนนอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ว่าดี ดีอย่างไร ที่ว่าไม่ดี ไม่ดีอย่างไร
มีหลายครั้งที่ผมสอนนักศึกษาอเมริกันที่มาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เขามักจะยอมรับไม่ได้ว่าทำไมผมถึงให้เกรดเขาต่ำกว่า A บางคนเขียนอีเมลมาถามอย่างยืดยาวแล้วตามมาคุยด้วยถึงห้องทำงาน บางคนให้อธิบายว่าทำไมสิ่งที่เขาตอบอย่างสมเหตุสมผลจึงทำให้ได้คะแนนน้อย หลายครั้งผมต้องตอบไปว่าก็เพราะในเมื่อเรียนวิชานี้แล้ว ก็ต้องได้รับบทเรียนบางอย่างที่ผมตั้งเป้าหมายและได้บอกไปแล้วแต่แรก ในเมื่อคำตอบอย่างสมเหตุสมผลของคุณมันไม่ได้แสดงว่าคุณได้เรียนสิ่งที่ผมสอน ก็ต้องบอกให้รู้ว่ายังไม่ใช่ ต้องปรับปรุงตัว
4. ระวังการละเมิด ทางเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธ์ุ สิ่งเหล่านี้ต้องระวังให้มากในคำพูด ในการอธิบาย บางครั้งคนพูดอาจหลุดการเหยียดหยามในเรื่องเหล่านี้จากคำพูดที่ไม่ระวังตัวอย่างการพูดล้อเลียนต่างๆ การตลกมักจะทำให้เผลอหลุดการเหยียดหยามต่างๆ ออกมาได้ บางทีนอกจากนักเรียนจะไม่ขำแล้วยังก่อปัญหาด้วย ต้องระวังปากระวังคำให้มาก
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งรู้ว่าแม้แต่ "Black accent" ก็เป็นคำพูดดูหมิ่นไปได้หรือเป็นคำพูดที่มีความหมายลบไปได้ เพราะคำว่า accent กลายเป็นคำที่มีความหมายลบไปแล้ว เนื่องจากเป็นการสื่อว่า "ผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐาน" นักเรียนอเมริกันแก้ให้เป็นคำว่า "Black vernacular" แทน ส่วนนักเรียนคนหนึ่งใช้คำว่า "tribe" โดยไม่ได้ตั้งใจเหยียดหยามใคร แต่ก็ทำให้ต้องอภิปรายกันเกือบครึ่งชั่วโมงว่าทำไมปัจจุบันการใช้คำนี้จึงมีปัญหา คำนี้มีความหมายเชิงลำดับชั้นวิวัฒนาการ จึงแฝงอคติชาติพันธ์ุ แถมยังลดทอนความแตกต่างในสังคมเดียวกันลง ทำให้เข้าใจว่าทุกคนในสังคมเดียวกันนั้นเหมือนกันหมด
5. การยอมรับผิด เมื่อนักเรียนแย้งผู้สอนอย่างมีเหตุผล มีหลักฐานที่ชัดเจน ผู้สอนก็ต้องฟัง การใช้เหตุผลและหลักฐานของผู้สอนต้องชัดเจน ข้อนี้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ปกติมากๆ แต่เมื่อสวมหัวโขนเป็นผู้สอนแล้ว หลายคนลืมตัว คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เอง ผมประทับใจมากที่นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งถามผมหลังห้องเรียนเลิกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งพูดไปในชั้นนั้น ผมได้มาจากไหนมีหลักฐานอะไรหรืออ้างอิงใคร ผมตอบไม่ได้ชัดเจน ก็เลยต้องยอมรับว่ายังสรุปแบบนั้นไม่ได้ และก็ต้องระวังตัวให้มากขึ้นเมื่อจะพูดอะไร
แต่หลายคนก็หลีกเลี่ยงการตอบโต้ของนักเรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบทางเดียว บรรยายอย่างเดียว ไม่ให้นักเรียนอ่านหนังสือ ข้อดีของการบรรยายอย่างเดียวในระบบมหาวิทยาลัยแบบไทยๆ คือ ผู้สอนได้ตำรามากมายเอาไว้ขอตำแหน่งทางวิชาการ นักเรียนได้เอกสารมาใช้ท่องสอบอย่างเป็นระบบ แต่นักเรียนจะไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ การสร้างสรรค์ของนักเรียนอาจไม่เป็นระบบเพราะไม่ได้ตอบโต้กับผู้สอนที่มีประสบการณ์การคิดการวิจัยมากกว่า
6. การประคองให้ห้องเรียนไปพร้อมๆ กัน ห้องเรียนหนึ่งห้องก็มักมีนักเรียนที่มีทักษะไม่เท่ากัน มีควารู้พื้นฐานที่แตกต่างกัน บางคนแสดงออกมาก ตรงประเด็นดี แต่บางทีก็จะล้ำคนอื่นมากไป ส่วนบางคนแสดงออก แต่ยังหลงประเด็นบ้าง ก็ต้องดึงกลับมา บางคนไม่กล้าแสดงออก อาจจะด้วยข้อจำกัดของการสื่อสาร ข้อจำกัดของลักษณะนิสัยขี้อาย ซึ่งไม่เหมาะกับการเรียนในระดับสูง และอาจด้วยไม่ค่อยได้ถูกฝึกให้ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ยากคือการประคองให้ทั้งห้องไปด้วยกัน
ในห้องเรียนขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยในอเมริกาอาศัยระบบผู้ช่วยสอน ในการจี้ผู้เรียนในห้องติวที่เล็กลง ในเมืองไทยก็มีความพยายามใช้ระบบนี้อยู่บ้าง แต่ในห้องเรียนสัมมนาขนาดเล็ก ที่ทุกคนอยู่ต่อหน้าต่อตากัน บางครั้งสิ่งที่ยากในการประคับประคองให้นักเรียนไปพร้อมๆ กันคือการให้ความสำคัญกับประเด็นแลกเปลี่ยนที่หลงทางไปบ้าง แล้วดึงกลับมาอยู่ในร่องรอยเดียวกัน อย่างที่ไม่ทำให้นักเรียนที่ตามไม่ทันหรือหลงทางรู้สึกแย่จนไม่กล้าแสดงออกอีก
การจัดการห้องเรียนในมหาวิทยาลัยฝรั่ง ก็ไม่ได้ยากหรือง่ายไปกว่าห้องเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทย อยู่แต่ว่าผู้สอนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจให้เป็นอย่างไรมากกว่า เพียงแต่ในเมืองไทยขณะนี้ มีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้มากมาย มีการละเมิดเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความเห็นมากมาย ก็ปล่อยไปตามเวรตามกรรมก็แล้วกันครับ