Skip to main content

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ผมรับปากทันทีเพราะไม่ได้ดูละครมานานแล้วนับตั้งแต่การระบาดของโควิดร่วม 2 ปี และก็ชื่นชอบผลงานคุณฟาอยู่ก่อนแล้ว

ละครแต่ละรอบเปิดให้คนชมไม่มากนัก คิดว่าไม่ถึง 100 คนดีนัก การแสดง (ซึ่งจะเรียกว่าละครก็ไม่เชิงนัก แต่บางทีผมก็ขอเรียกว่าละครบ้างการแสดงบ้างก็แล้วกันครับ) กินเวลาราว 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีพักนิดหนึ่ง แล้วก็มีการสนทนากันต่อ ไม่น่าเขื่อว่าคนยังอยู่สนทนากันหลังละครอีกไม่น้อยเลย และหลายคนยังเป็นแฟนการแสดงของคุณฟามาหลายต่อหลายเรื่องอีกด้วย

ผมอยากใช้พื้นที่นี้บันทึกความเห็นผมต่อการแสดง “ฮิญาบ” ที่เสนอไว้และคิดต่อ 3-4 ประเด็นสั้นๆ ครับ

ข้อแรก “ฮิญาบ” ตั้งคำถามต่อการที่คนไทยพุทธหรือคนไทยนอกศาสนาอิสลามมักมองว่าการสวมฮิญาบเป็นสิ่งแปลกประหลาด ว่าการสวมฮิญาบแปลกจริงหรือ ความธรรมดาของฮิยาบในฐานะรูปแบบหนึ่งของการจัดการหัว/ผมนั้น ไม่ต่างไปจากความธรรมดาของการจัดการหัว/ผมของคนทุกวัฒนธรม ชนชั้น เพศ และศาสนา  

ผมเล่าถึงผู้คนในพื้นที่วิจัยหนึ่งของผมในภาคเหนือของเวียดนาม คือคน “ไทดำ” ว่าพวกเขาโดยเฉพาะผู้หญิง โพกหัวด้วยผ้าคลุมผมหลายแบบในต่างช่วงวัย ตามสถานะของผู้หญิง หญิงสาวโพกแบบหนึ่ง หญิงแต่งงานแล้วโพกอีกแบบ หญิงสามีตายโพกอีกแบบ แถมลวดลายยังบอกทั้งอัตลักษณ์เฉพาะเมืองและฝีมือเฉพาะตนของผู้ปักลาย พวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่พวกเขานับถือศาสนาผีแถน

ผมตั้งคำถามต่อว่า แล้วการตัดผมเกรียนสามด้าน มัน “ปกติ” กว่าการคลุมผมของหญิงมุสลิมตรงไหน แล้วการแต่งทรงผมแบบต่างๆ มันปกติตรงไหน การแต่งหน้าทาปากมันปกติตรงไหน หากคิดว่าการสวมฮิญาบเป็นสิ่งแปลกประหลาด ก็ควรสงสัยกับความ(ไม่)ปกติของการจัดการหัวและเนื้อตัวเราเองด้วย

ข้อสอง ในแง่ของการแสดง การสวมฮิญาบแสดงเป็นการท้าทายความเป็นศิลปะของการแสดงเอง ในการแสดงนี้ ผมคิดว่าคุณฟาได้ตั้งคำถามกับความเป็นการละคร/การแสดง อะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดการละครขึ้นมา มันคือหน้าตาที่ต้องเปิดเผยหมดเท่านั้นหรือ

ในการแสดงนี้ คุณจะได้เห็นเองว่า เมื่อปิดหน้าแล้ว บทบาทของเรือนร่างส่วนต่างๆ อากัปกิริยา เสียงที่เปล่ง วิธีการพูด ภาษาที่ใช้ ไปจนถึงวัสดุประกอบการแสดง ที่ว่าง อาคาร ห้อง แสง สีของแสง ตลอดจนเสียงนอกการแสดง บริบทแวดล้อมสถานที่จัดการแสดง ผู้ชม ระยะห่าง/ประชิดของผู้ชม ปฏิกิริยาของผู้ชม ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญของการแสดง  

คำถามที่ใหญ่ต่อแวดวงการแสดงและใหญ่กว่านั้นคือ ต่อแวดวงสื่อมวลชนในประเทศนี้ ทำไมการสวมฮิญาบจึงไม่ถูกยอมให้ปรากฏในการแสดงและในสื่อมวลชนทั่วไป

ข้อสาม ละครของคุณฟาจึงตั้งคำถามเลยไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันในประเทศไทย รวมทั้งประเทศไหนๆ ก็ตามที่ปิดกั้นการสวมฮิญาบเพราะอ้างว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนา  

คุณฟาถามถึงความเป็นคนที่เท่าเทียมกันใต้ฮิญาบ ใต้การแสดงออกแบบต่างๆ ว่าทำไมการแสดงออกบางแบบของคนเช่นกันจึงไม่ได้รับการยอมรับอย่างเสมอเหมือนกัน ทำไมการดำเนินชีวิตประจำวันในประเทศนี้ต้องกีดกันการสวมฮิญาบ  

ข้อสี่ ข้อนี้เป็นคำถามที่ผมได้จากการแสดงเช่นกัน แต่บังเอิญมีผู้ร่วมอภิปรายท่านหนึ่งเสนอคำถามนี้มาก่อน และคุณฟาเองก็ต่อประเด็นนี้ได้อย่างแหลมคมอยู่แล้ว ในบันทึกนี้ผมจะขอต่อประเด็นนี้เพียงสั้นๆ คือเรื่องควาเป็นศิลปะและการเป็นนักแสดงหญิงในศาสนาอิสลาม  

ละครของคุณฟาตั้งคำถามต่อสถานะทางศิลปะในศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะการแสดงกับผู้หญิงอิสลาม  

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในศาสนาอิสลาม ศิลปะถูกมองว่าเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้คนตกลงไปในความเสื่อม ศิลปะในศาสนาอิสลามจึงมีได้เฉพาะในรูปแบบที่โยงกับคัมภีร์อย่างไร้รูปเคารพ ในสถาปัตยกรรมอิสลาม เราจึงเห็นเฉพาะรูปทรงเลขาคณิตและอักษรอาหรับซึ่งถ่ายทอดข้อความจากพระคัมภีร์ ถ้าว่ากันอย่างเคร่งครัด ทัศนศิลป์แบบอื่นรวมทั้งการแสดงจึงเป็นสิ่งต้องห้าม  

ตามหลักนี้ การแสดงของคุณฟาจึง ถ้าไม่ถึงกับตั้งคำถามก็เสนอทางเลือกให้กับการเป็นมุสลิมหญิงที่ใช้ศิลปะการแสดงเพื่อทั้งสื่อประเด็นทางศาสนา และเพื่อสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเส้นทางใหม่ๆ ที่ท้าทายทั้งต่อตัวคุณฟาเองในฐานะหญิงมุสลิม และท้าทายให้แสวงหาบทบาทศิลปะหรือการใช้ศิลปะในศาสนาอิสลาม  

“ฮิญาบ” คงชวนให้คิดถึงอะไรได้อีกมาก และหากว่าจะมีการเพิ่มรอบหรือเปิดแสดงครั้งใหม่อีก ก็ขอชักชวนเพื่อนๆ หาโอกาสไปดูกันครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์