Skip to main content

พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)

ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้และยังไม่ได้อ่านฉบับแปล ซึ่งคิดว่าจะต้องอ่านแน่ๆ แต่ที่รู้จักหนังสือนี้เพราะได้อ่านหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000) ตั้งแต่ปี 2018 และใช้สอนมาตลอด เห็นอิทธิพลของงานคูฮาต่อจักรบาร์ตีสูงมาก แต่จักรบาร์ตีขยายประเด็นและยกระดับทางทฤษฎีให้งานของคูฮาไปไกลมาก
 
ผมก็เลยถามในห้องเสวนาว่า มีใครทราบหรือเปล่าว่าคูฮาได้อ่านงานของจักรบาร์ตีเล่มนี้ไหมแล้วคูฮามีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไร ปรากฏว่าทุกท่านไม่แน่ใจว่าคูฮาเคยมีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ไหม เรื่องนี้ผมคงจะค้นหาเองต่อไป
 
แต่จากคำตอบและความเห็นส่วนหนึ่ง เลยทำให้รู้ว่า เพื่อนนักวิชาการไทยยังอ่านงานหนังสือ Provincializing Europe กันน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่อิทธิพลทั่วโลก และนักวิชาการไทยก็ใช้กันอยู่บ้างเหมือนกัน  
 
ผมก็เลยนึกถึงบันทึกที่เคยเขียนหลังอ่านหนังสือเล่มนี้กับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่คณะ ที่ มธ. เมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2018) ขึ้นมาได้ ก็ขอเอามาแปะไว้ข้างล่าง มีสองตอน ผมไม่ได้เรียบเรียงใหม่ให้ต่อกัน ขอแปะไว้แกนๆ แบบนี้แล้วกันครับ เผื่อใครสนใจไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านต่อ 
 
==========
(21 มีนาคม 2018)
 
วันนี้ สอน Provincializing Europe ของ Dipesh Chakrabarty (2000) แล้วพบว่า นอกจากจะเห็นประเด็นมากขึ้นแล้ว ยังเห็นการเมืองไทยในหนังสือเล่มนี้มากขึ้นอีกด้วย ดังนี้
 
(1)
 
"โครงสร้างความคิดเรื่องเวลาของประวัติศาสตร์โลกแบบ 'แรกก็เกิดในยุโรป แล้วจึงเกิดขึ้นที่อื่นในโลก' เป็นแนวคิดแบบพวกลัทธิคลั่งประวัติศาสตร์ (historicist) ส่วนพวกนักชาตินิยมที่ไม่ใช่ตะวันตกภายหลังก็จะผลิตแบบฉบับท้องถิ่นของคำอธิบายเดียวกัน ด้วยการแทนที่ 'ยุโรป' ด้วยศูนย์กลางระดับท้องถิ่นที่สร้างกันขึ้นมา" 
 
"พวกประวัติศาสตร์นิยมจึงจัดวางเวลาทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นมาตรวัดความห่างทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยก็ในการพัฒนาเชิงสถาบัน) ที่ถูกทึกทักเอาว่ามีอยู่ระหว่างสังคมตะวันตกและสังคมไม่ตะวันตก" (p. 7)
นี่ชวนให้นึกถึง The Other Within และงานเรื่อง "อย่างไหนที่เรียกว่าศิวิไลซ์" ของธงชัย วินิจจะกูล 
 
(2) 
 
จักรบาร์ตีชี้ว่า ในงาน "On Liberty" ของ J.S. Mill "ชาวอินเดียและแอฟริกัน 'ยังไม่' ศิวิไลซ์พอที่จะปกครองตนเอง" (p. 7) คนเหล่านี้จึงต้อง "รอ" ไปก่อนจนกว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะปกครองตนเองได้ "มิลล์กล่าวไว้ในบทความ "On Representative Government" ว่า 'การศึกษาทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้" (p. 9) 
 
ขนาดนักเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ ยังพูดถึงพวก subaltern ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นนำในประเทศไทยที่พูดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คือรอให้คนมีการศึกษาก่อนจึงค่อยให้อำนาจทางการเมืองและจึงค่อยให้เลือกตั้ง
 
(3)
 
ทัศนะต่อการไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองของสังคมที่ถูก Eric Hobsbawm เรียกว่า "prepolitical" ในทัศนะของจักรบาร์ตี ก็ถือว่าเป็นแนวคิดแบบยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอีกแบบหนึ่ง เพราะ "กิจกรรมที่อาศัยพระเจ้าหลายองค์ วิญญาณต่างๆ และผีสางเทวดาต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางอำนาจและศักดิ์ศรีของทั้งคนเบี้ยล่างและชนชั้นนำในเอเชียใต้ สิ่งที่ปรากฏ [ทางศาสนา] นี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสิ่งที่ลึกกว่าหรือ "จริงกว่า" ในความจริงทางสาธารณ์ (secular reality)" (p. 14)
 
นี่ชวนให้นึกถึงการถกเถียงกันเรื่องศาสนาเมื่อสองสามวันก่อนที่มีการพยายามอธิบายกันว่าการเมืองต้องแยกจากศาสนา แต่น่าสงสัยว่าทัศนะแบบนี้ก็เป็นวิธีคิดแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอยู่อีกหรือเปล่า
 
(4) 
 
Provincializing Europe ไม่ใช่การทำยุโรปให้เป็นบ้านนอก ไม่ใช่การบอกว่ายุโรปเป็นแค่ถิ่นหนึ่ง และยิ่งไม่ใช่การปฏิเสธอิทธิพลของยุโรป และไม่ใช่ไม่ยอมรับวิธีคิดสากลของยุโรปแล้วยึดมั่นแต่สัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (p.42-43) แต่เป็นการยอมรับทั้งการมีอยู่ของอำนาจ "จักรวรรดินิยมยุโรป" และการที่พัฒนาการเป็นสัมยใหม่นั้น ไม่ได้เกิดจากยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลส่งกลับไปจากนอกยุโรปด้วย (p. 43)
 
จักรบาร์ตีจึงวิจารณ์ทั้งแนวคิดที่ถ่วงพัฒนาการประชาธิปไตยและแนวคิดที่ก้าวหน้าแบบส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะวิธีคิดที่ทั้งสองกลุ่มมีร่วมกันคือ ยึดเอายุโรปเป็นแกนกลางทั้งคู่ ยึดเอาประชาธิปไตยแบบสังคมที่มีกฎุมพีเป็นแกนกลางทั้งคู่ เชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบกฎุมพีมากกว่าทั้งคู่
แนวคิดแบบนี้มองข้ามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนเบี้ยล่างที่ถูกกดทับ (subaltern) ซึ่ง มีความสมัยใหม่ทางการเมือง (the political modernity) หากแต่อยู่ในโลกอีกแบบที่ยังไม่สมัยใหม่
 
===========
 
(29 มีนาคม 2018) 
 
Dipesh Chakrabarty ใน Provincializing Europe อ่านงานมาร์กซ์ได้อร่อยมาก
เอามาร์กซไปสนทนากับอริสโตเติลเรื่อง convention หรือ “ขนบ” แล้วโยงไปเรื่อง being-in-the-world ของไฮเดกเกอร์ แล้วชี้ให้เห็นว่า capitalism ด้านที่มาร์กซพูด คือส่วนที่ที่จริงมันหลุดไปจาก capitalism น่ะ มันมีอยู่ ซ้อนอยู่ในระบบทุนนิยมนี่แหละ แล้วมาร์กซเองก็พูดถึงด้วยนั่นแหละ เพียงแต่เขายังไม่ได้ทำอะไรต่อมากนัก
 
จักรบาร์ตีสร้างข้อถกเถียงผ่านมโนทัศน์เรื่อง "abstract labor" แรงงานนามธรรม ที่มาร์กซถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญของระบบทุนนิยม (ไม่ใช่เงินตราและสินค้า ซึ่งมีมาก่อนหน้าทุนนิยมอยู่แล้ว) เมื่อโยงกับอริสโตเติล แรงงานนามธรรมก็คือ “ขนบ” ของชุมชนชีวิตแบบทุนนิยมนั่นเอง เพียงแต่ในชุมชนทุนนิยม มันยังมีขนบอื่นๆ ซ้อนอยู่ด้วย
 
แรงงานนามธรรมคือสิ่งที่ทำให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนแบบทุนนิยมได้ คือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ต้องสนใจ "มูลค่า" (value) การใช้ของสิ่งของโดยสิ้นเชิงเลย แรงงานนามธรรมคือการทำให้แรงงานที่มีมูลค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสิ่งที่วัดค่าเทียบกันได้หมด ทำให้ของที่เกิดจากแรงงานที่แตกต่างกัน มีที่มาที่ไป มีประวัติศาสตร์ มีกรอบทางสังคม มีวิถีชีวิต ที่ห่อหุ้มแรงงานที่แตกต่างกัน กลายมาเป็นเพียงแรงงานที่วัดค่าเทียบกันได้ 
 
ผ่านการควบคุมด้วยวินัย แรงงานนามธรรมทำให้คนเป็นเครื่องจักรเพราะแรงงานคนถูกตีค่าเป็นแค่จังหวะสม่ำเสมอของกล้ามเนื้อ ทำให้แรงงานคนเทียบกับแรงงานเครื่องจักรได้ ทำให้เครื่องจักรกับคนทำงานร่วมกันได้ จักรบาร์ตีชี้ว่า มาร์กซพูดเรื่องวินัยไว้ไม่ต่างกับที่ฟูโกต์เอามาขยายใน Discipline and Punish 
 
จักรบาร์ตีเสนอให้อ่านหนังสือ Capital ของมาร์กซด้วยการหาประวัติศาสตร์สองด้าน History 1 คือประวัติศาสตร์สากลของระบบทุนนิยม History 2(s) คือการหาประวัติศาสตร์ที่ซ้อน แทรก ดำเนินควบคู่ ไม่อาจถูกลดทอน แล้วแถมยังบั่นทอนระบบทุนนิยม ซึ่งมาร์กซเองก็กล่าวถึงอยู่เป็นระยะๆ 
 
ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งคือเรื่อง life, vital forces (หมายรวมถึงจิตสำนึก เจตจำนง และสังคม/ชุมชน) ที่ให้กำเนิดแรงงานอีกทีหนึ่ง มันเป็นพลังที่ล้นพ้นเกินไปจากการกำกับควบคุมของทุน ในขณะที่ทุนพยายามลดทอนพลังชีวิตให้เหลือเพียงแรงงานนามธรรม แต่ก็ยังไม่สำเร็จง่ายๆ
 
บันทึกเอาไว้ก่อน กำลังคิดจะเอามาใช้เร็วๆ นี้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์