ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566วัฏจักรของความขัดแย้ง 50 ปี
ตลอด 50 ปีของการเมืองไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 การเมืองประเทศไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ มามากมายหลายประการด้วยกัน คำถามคือ ประชาธิปไตยตั้งแต่ 14 ตุลา จนผ่านมา 50 ปีมีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างไรบ้าง อะไรกันที่ทำให้ประเทศไทยต้องร่างแล้วฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่แล้วก็ฉีกอีก กันมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ 50 ปีที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญถึง 10 ฉบับด้วยกัน แล้วพลังประชาชนแบบไหนกันที่จะช่วยผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ที่สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้จริงอีกครั้งหนึ่ง
หลัง 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยที่แลดูเริ่มผลิดอกออกผลจากการต่อสู้ของประชาชนท่ามกลางยุคสมัยการปกครองของเผด็จการอย่างยาวนานถึง 15 ปี (ตั้งแต่ พศ. 2501 ถึง 2516) เป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่กล่าวขานกันว่า “เป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง” ในปี 2517
แต่นั่นก็หาได้ทำให้ชีพจรประชาธิปไตยของประเทศนี้ได้สงบราบเรียบลงไม่ ด้วยเพราะกลับกลายเป็นว่า การโค่นล้มเผด็จการถนอม-ประภาส ได้เปิดศักราชใหม่ของเผด็จการที่ไร้เสถียรภาพต่อมาอีกอย่างน้อยกว่า 10 ปี (ตั้งแต่ 2519 ถึง 2522 และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบอีก 8 ปี ตั้งแต่ 2523 ถึง 2531)
จนถึงปี 2531 เราจึงจะมีการเลือกตั้งที่ได้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่แล้วก็ถูกรัฐประหารไปเสียอีกในปี 2534 จนประชาชนต่อสู้ให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2540 แล้วก็ยังถูกรัฐประหารอีกในปี 2549 ได้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 แล้วเกิดรัฐประหารปี 2557 จนได้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2517 และ 2540 กับรัฐธรรมนูญรวมทั้งธรรมนูญการปกครองของคณะรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 คือ การที่รัฐธรรมนูญ 2517 และ 2540 มีที่มาจากการเรียกร้องและการต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและการเสียสละของประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด หรือเรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นดอกผลของพลังเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2521, 2550 และ 2560 (หากไม่นับธรรมนูญการปกครองโดยคณะรัฐประหารแล้ว) มีฐานะไม่ได้แตกต่างกันคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร เพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จนทำให้แยกให้ชัดเจนได้ยากว่า รัฐสภาอันมาจากรัฐธรรมนูญที่เขียนด้วยมือและลมหายใจของเผด็จการนั้น เป็นระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระบบรัฐสภาแบบเผด็จการครึ่งท่อนกันแน่
ฉะนั้นจึงไม่ผิดเลยที่เราจะกล่าวว่า การเมืองไทยในปัจจุบันยังคงไม่ได้หลุดพ้นออกจากวัฏจักรอุบาทว์ของการเมืองแบบร่างแล้วฉีก ฉีกแล้วร่าง ร่างแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่ผ่านมา 50 ปี ถึงกระนั้นก็ตาม วัฏจักรอุบาทว์นี้หาได้หมุนวนเวียนอยู่กับที่ไม่ หากแต่เป็นวัฏจักรที่เป็นดังเกลียวคลื่นของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเผด็จการ ที่เคลื่อนไปข้างหน้าอยู่เสมอ
ผมอยากจะกล่าวว่า ในวัฏจักรเกลียวคลื่นแห่งความขัดแย้งนี้ ประชาชนค่อย ๆ รุกคืบกัดกินอำนาจของเผด็จการมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่เสมอ แต่ในกระบวนการนั้น ผู้มีอำนาจก็ปรับเปลี่ยนสร้างเล่ห์กลและชุดคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อต่อกรกับประชาชนเสมอ แม้กระทั่งในครั้งล่าสุด พวกเขายังกล้าขยายขอบเขตอำนาจของพวกเขาออกมาเกินกว่าดุลอำนาจเดิมด้วยซ้ำไป ดังที่จะได้อภิปรายต่อไปข้างหน้า
ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ
หลัง 14 ตุลา การเมืองไทยเคลื่อนไปในทิศทางที่เปลี่ยนโฉมหน้าของทั้งเผด็จการและประชาชนอย่างสำคัญ เราอาจแบ่งยุคของการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับอำนาจเผด็จการออกได้เป็น 3 ยุคด้วยกันคือ (1) ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ครอบคลุมตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510-2520 (2) ยุคประชาธิปไตยกินได้ ในทศวรรษ 2530-2540 และ (3) ยุคเผด็จการครึ่งท่อน ในทศวรรษ 2550-2560
(1) ประชาธิปไตยครึ่งใบ, 2510-2520
การพัฒนาทุนนิยมในทศวรรษ 2500-2510 ได้ผลิตชนชั้นกลางใหม่ในขณะนั้นขึ้นจำนวนมาก พวกเขากลายเป็นแนวหน้าของการเรียกร้องอำนาจของประชาชน และเป็นส่วนสำคัญของการโค่นล้มเผด็จการทหาร ซึ่งค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง
ในขณะที่การหนุนหลังเผด็จการไทยโดยมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกากำลังเสื่อมถอยลง อันเนื่องมาจากการแพ้สงครามเวียดนามในปี 2518 ปีที่ไซ่ง่อนตกเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ แต่อันที่จริงสหรัฐฯ ถอนทหารไปก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ปี 2513 แล้ว อันเนื่องมาจากทั้งความถดถอยลงของกำลังทหาร ที่พ่ายแพ้ยับเยินในการต่อสู้กับกองทัพและประชาชนชาวเวียดนาม และพลังการต่อต้านสงครามของประชาชนในสหรัฐฯ เอง
หากแต่ความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกาและการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือนี่เอง ที่ยิ่งทำให้อำนาจเผด็จการไทยมองเห็นภัยคุกคามต่อตนเองอย่างชัดเจน และมีส่วนทำให้กลุ่มอำนาจนำไทยต้องพยายามสร้างเสถียรภาพ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก หากแต่เสถียรภาพดังที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็กลับถดถอยลงจนไม่สามารถยึดครองอำนาจและสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างยาวนานได้อีกต่อไป
ในขณะนั้น แม้ว่าจะมีประชาชน ทั้งกรรมกร ชาวนาชาวไร่ นิสิตนักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์มาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับฝ่ายรัฐไทยแล้ว ขบวนการประชาชนเหล่านั้นก็ดูจะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของภัยคุกคามจากภายนอก มากกว่าที่จะเป็นพลังประชาชนในประเทศโดยตรง หากแต่อันที่จริงแล้ว พลังเหล่านี้เพียงอาศัยความร่วมมือจากภายนอก เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในมากกว่า
อย่างไรก็ดี เมื่อการเมืองโลกเปลี่ยนอีกครั้ง สหรัฐอเมริกากับจีนสานสายสัมพันธ์กันใหม่ในทศวรรษ 2520 และเกิดการปะทะทางการทหารกันระหว่างจีนกับเวียดนาม (ใน พศ. 2522) อันเนื่องมาจากการที่เวียดนามบุกกับพูชา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยยิ่งอ่อนกำลังสนับสนุนลงไปอีก หากจะไม่นับความผิดพลาดบกพร่องของตัวพรรคฯ เองเพียงด้านเดียว
ในขณะนั้น ดุลอำนาจในประเทศไทยจึงพลิกผันกลับไปกลับมาระหว่าง ชัยชนะในการโค่นล้มเผด็จการของนักศึกษาและประชาชน ประกอบกับการเข้าร่วมขบวนการต่อต้านอำนาจเผด็จการครั้งใหญ่ของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย หากแต่ก็กลับพลิกไปสู่ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาชน
จนในที่สุดเผด็จการเองก็ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพและกลับมาครองอำนาจนำอย่างเบ็ดเสร็จยืดเยื้อดังในทศวรรษก่อนหน้าได้อีกต่อไป จนนำมาซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในทศวรรษ 2520 นั่นคือการให้มีการเลือกตั้ง นิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ หากแต่อำนาจการบริหารส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในมือของทหารและชนชั้นนำอำนาจ โดยมีอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” (ตามข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล พิมพ์ปี 2544) เป็นแกนสำคัญที่ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการต่างยอมรับร่วมกันถึงอำนาจบารมีตามประเพณีของสถาบันกษัตริย์
(2) ประชาธิปไตยกินได้, 2530-2540
ประชาธิปไตยครึ่งใบค่อยๆ เสื่อมลงจนถึงความพยายามครั้งสุดท้ายของคณะทหารในการรัฐประหารปี 2534 ที่โค่นอำนาจการเลือกตั้งของประชาชน แล้วล้มเหลวไม่เป็นท่าในที่สุดเมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2535 สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการลงได้
การขับเคลื่อนของประชาชนครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดยุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยขึ้นอีกยุคหนึ่ง นั่นคือการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกกันว่าเป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน” เนื่องจากกระบวนการสรรหาคณะผู้ร่าง ตลอดจนการพิจารณาผ่านรัฐสภา เป็นไปตามหลักการที่ยึดถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
แต่ยิ่งกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญนี้เองที่กลายเป็นหมุดหมายใหม่อันสำคัญเพราะนับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญได้นำมาซึ่งโครงสร้างอำนาจอย่างใหม่ที่ทำให้เกิด “ประชาธิปไตยที่กินได้” (คำของประภาส ปิ่นตบแต่ง)
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2530-2540 เติบโตอย่างก้าวกระโดดยิ่ง หากแต่เป็นการเติบโตที่ไร้ฐานการผลิตที่แท้จริง เพราะเต็มไปด้วยทุนเก็งกำไรที่ดินและเงินตรา จนก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งกลับไปสู่ภาคการเกษตร อีกส่วนหนึ่งไปสู่ภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ เช่น ประกอบกิจการค้าขายและการผลิตขนาดเล็ก
หากแต่ในด้านของอำนาจทางการเมืองแล้ว ยุคนี้เป็นยุคของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต. อบท. อบจ.) และการที่พรรคการเมืองสามารถแสดงบทบาทในการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นหนทางในการบริหารนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่เลือกนักการเมืองเข้าสภามาได้อย่างแท้จริง
นอกเหนือจากนโยบายด้านการกระจายรายได้ ยังเกิดนโยบายสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยให้ประชาชนเป็นอิสระจากการลงทุนแบกรับภาระด้านสุขภาพขนาดใหญ่ด้วยตนเอง ในยุคนี้นี่เองที่ประชาชนเริ่มหวงแหนอำนาจจากการเลือกตั้ง พวกเขาเข้าใจถึงอำนาจที่จะแสดงออกได้ผ่านการเลือกตั้ง พวกเขาต่อต้านอำนาจเผด็จการและนักการเมืองที่เกาะกินอำนาจอยู่กับเผด็จการที่หนุนเนื่องกันล้มและด้อยค่าประชาธิปไตยของการเลือกตั้ง จนเกิดขบวนการประชาชนที่สำคัญคือ “ขบวนการคนเสื้อแดง” ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็เกิดขบวนการประชาชนที่ปกป้องอำนาจเผด็จการและอนุรักษนิยมคือ “ขบวนการคนเสื้อเหลือง” และ “มวลมหาประชาชน” (ดูงานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ของ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, นิติ ภวัครพันธ์ุ พิมพ์ปี 2556)
พร้อมๆ กับที่รัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกการควบคุมอำนาจจากการเลือกตั้ง ด้วยการสร้างองค์กรอิสระขึ้นมามากมาย องค์กรอิสระเหล่านี้เองที่จะกลายมาเป็นขวากหนามต่ออำนาจของประชาชน และเป็นฐานกำลังสำคัญของเผด็จการครึ่งท่อนในยุคถัดไป
ในส่วนของอำนาจบารมีตามประเพณี หลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนโดยกองทัพในเดือนพฤษภาฯ 53 ได้ทำให้อำนาจบารมีได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2475 อำนาจบารมีกลายเป็นจุดอ้างอิงของความเป็นกลางทางการเมือง ได้รับการคาดหวังให้เป็นกลไกสำคัญในการไกล่เกลี่ยขจัดความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นอำนาจที่จำเป็นขาดมิได้ หากแต่ในท้ายที่สุด เมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้ว ความศรัทธาที่ประชาชนมีต่ออำนาจนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป
(3) เผด็จการครึ่งท่อน, 2550-2560
เผด็จการครึ่งท่อน คือการอำพรางอำนาจเผด็จการไว้อย่างปิดไม่มิดใต้เสื้อกั๊กประชาธิปไตย ในทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 เริ่มตั้งแต่ที่มาของรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 การร่างรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการที่ไร้การยึดโยงกับประชาชน โดยคนกลุ่มน้อย และแม้จะมีการทำระชามติ ก็เป็นประชามติที่ปิดกั้นการรณรงค์เพื่อแสดงความเห็นที่แตกต่าง
รัฐธรรมนูญ 2550 และที่ร้ายกว่าคือ รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายเลือกตั้งที่ตามมา ได้เปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยให้ย้อนกลับไปเกือบจะเทียบเท่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบในทศวรรษ 2520 นั่นคือ สร้างระบบการเมืองที่การเลือกตั้งแทบจะไร้ความหมาย หรือนักการเมืองถูกด้อยค่า ถูกกำกับควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยอำนาจเผด็จการที่ฝังรากอยู่ในรัฐธรรมนูญ
เนื้อในของรัฐธรรมนูญทั้ง 2550 และ 2560 ฝังรากเผด็จการเอาไว้หลายประการด้วยกัน เป็นต้นว่า อำนาจองค์กรอิสระอันล้นหลาม ทั้งๆ ที่มีที่มาจากเผด็จการทหาร แต่กลับสามารถควบคุม ขับไล่ ตัดสิทธิ์ นักการเมืองผู้ได้อำนาจโดยตรงมาจากประชาชนได้ อำนาจ สว. จากการแต่งตั้งมีอย่างล้นหลามถึงขนาดเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีการเปิดช่องให้ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมีที่มาจากประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ทั้งที่พี่น้องประชาชนสละชีวิตและบาดเจ็บไปเป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 นอกจากนั้นยังมีการกำกับควบคุมจากแนวนโยบายของรัฐ วางกรอบให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องทำตามการกำกับไว้ล่วงหน้าของรัฐบาลเผด็จการทหารไปยาวนานนับสิบๆ ปี
ยิ่งไปกว่านั้น เผด็จการครึ่งท่อนยังทำลายสมดุลอำนาจเดิมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน ด้วยการปรับเปลี่ยนให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเดิมเป็นของรัฐ เท่ากับเป็นของสาธารณะ เป็นของประชาชน และจึงมิใช่ของส่วนพระองค์ กลายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และยังเพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์มีกองกำลังส่วนพระองค์ อีกทั้งยังทรงมีอำนาจแต่งตั้งผู้ปกครองคณะสงฆ์ได้ เหล่านี้ทำให้สถาบันกษัตริย์ตกอยู่ในภาวะเปราะบางสุ่มเสี่ยงกับการที่จะให้คุณให้โทษแก่ประชาชน และเสี่ยงต่อการละเมิดหลักการสำคัญของการเป็น “สถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” (democratic constitutional monarchy) เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางสูงสุดของสถาบันเอาไว้ให้พ้นไปจากการมีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง
อย่างไรก็ดี ผลประการหนึ่งจากการที่สถาบันกษัตริย์ถูกดึงมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการทหารและชนชั้นนำอำนาจที่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศมาโดยตลอดในทศวรรษ 2550-2560 ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน และพื้นที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งในความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน และกลายเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของพลังประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่อาจไม่เอาใจใส่ได้
ความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ โดยเฉพาะฉบับ 2560 ยังมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการกลบเกลื่อนความขัดแย้งระหว่างอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ถูกปิดกั้นละเมิดโดยชนชั้นนำส่วนน้อย เกิดการอำพรางกลบเกลื่อนอำนาจเผด็จการไว้ใต้หน้ากากการเลือกตั้งและรัฐสภา เพื่อสืบทอดการผูกขาดอำนาจและโภคทรัพย์ของทุนขนาดใหญ่ไม่กี่ตระกูล ที่มั่งคั่งร่ำรวยมาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษของยุคเผด็จการครึ่งท่อน
ดังนั้น หากใครก็ตามที่ไม่เห็นว่าโจทย์การเมืองไทยปัจจุบันคือโจทย์ของการปฏิรูปทางการเมือง แล้วยืนยันหัวชนฝาว่า โจทย์การเมืองไทยขณะนี้เป็นแต่เพียงโจทย์ของการแก้ปัญหาปากท้องแล้วละก็ แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ หรือจงใจที่จะละเลยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ นั่นคือการวางรากฐานโครงสร้างการเมืองที่เอื้อต่อการใช้อำนาจของประชาชนเพื่อประชาชน ผ่านการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย
พลังขับเคลื่อนสู่รัฐธรรมนูญใหม่
ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ได้เกิดเหตุปัจจัยใหม่ๆ หลายประการที่ทั้งสั่งสมมาจากอดีตและที่ก่อกำเนิดขึ้นใหม่ในระยะอันใกล้ ทั้งหมดนั้นแทนที่จะทำให้สิ้นหวัง ผมกลับคิดว่ามีพลังต่างๆ มากมายที่ชวนให้เกิดความหวังได้ว่า จะเป็นพลังที่มีส่วนก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่งอย่างแท้จริงได้ ดังนี้
ข้อแรก พลังของประชาชนที่ตกทอดมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็น ยุคคณะราษฎร 2475, ยุคขบวนการคอมมิวนิสต์และสหพันธ์ชาวนาชาวไร่, ยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19, ยุคพฤษภา 35, จนถึง ยุคคนเสื้อแดงในทศวรรษ 2550 พลังเหล่านี้คือพลังของประชาชนอย่างแท้จริง พวกเขาคือ “คนรุ่นใหม่” ในยุคสมัยของพวกเขา เป็น “ชนชั้นใหม่” ที่ผุดออกมาเหมือนตาน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ต้นน้ำประชาชนหลั่งไหลกลายเป็นลำธารและแม่น้ำประชาชน เพื่อหล่อเลี้ยงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของทุกๆ คนอยู่เสมอ
พลังของคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคเหล่านี้ไม่เคยจางหายไป แม้ว่าบางคน บางส่วนในพวกเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ได้บ้าง หรือไม่ก็ละทิ้งอุดมการณ์ไปโดยสิ้นเชิง หากแต่ “โครงสร้างอารมณ์” ของประชาชนในอันที่จะสร้างสังคมที่เสมอภาค เสรี และเป็นธรรมนั้น จะยังคงอยู่ต่อไป และจะยังคงส่งต่อความคิด อุดมการณ์ ความใฝ่ฝัน กำลังแรงกาย และกำลังใจ ที่จะผลักดันให้คนรุ่นต่อๆ มาได้เห็นถึงความเป็นไปได้ และได้ริเริ่มลงแรง ลงใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
ข้อสอง พลังของประชาชนที่ก่อตัวขึ้นใหม่ ที่เราได้เห็นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2560 ได้ก่อตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง กว้างขวาง และหลากหลายในหลายมิติด้วยกัน
- ด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่ใน พศ. นี้ ก็คือมรดกทางอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ในอดีต ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
- ด้านสอง เป็นความแพร่กระจายของขบวนการประชาชน ในปัจจุบันพื้นที่ทางการเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลักอีกต่อไป การเมืองของกรุงเทพฯ เป็นเพียงส่วนเดียวของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั่วประเทศ ข้อสรุปนี้เห็นได้ชัดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการเยาวชนทศวรรษ 2560 ที่กระจายทั่วประเทศ และผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กระแสของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะพรรคของฝ่ายเผด็จการอย่างถล่มทลาย
- ด้านสาม ประชาชนได้สรุปบทเรียนและเลือกแล้วว่า วิถีทางของการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในปัจจุบันนั้น จำต้องวางอยู่บนการเมืองของการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา และการเดินขบวนเรียกร้องเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งและการเดินขบวนรณรงค์เป็นการเมืองของการนำเสนอจุดยืนทางการเมือง เพื่อสร้างการยอมรับทางความคิดและอุดมการณ์ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติและไร้ความรุนแรง
- ด้านที่สี่ การเคลื่อนไหวของประชาชนรุ่นปัจจุบันสัมพันธ์กับเงื่อนไขร่วมสมัย การเมืองปัจจุบันจึงมิใช่เป็นเพียงการเมืองเพื่อปากท้องและการเมืองเพื่อกระจายอำนาจการนำเสนอและบริหารนโยบายเท่านั้น หากแต่ยังมีข้อเรียกร้องของการเมืองความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเมืองวัฒนธรรม การเมืองอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกตัวตน ความร่วมสมัยของพลังประชาชนรุ่น 2560 ยังสัมพันธ์กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่เพื่อการขับเคลื่อนทางการเมือง
สรุป
ความพลิกผันของการเมืองไทยและวัฏจักรของการร่าง-ฉีกรัฐธรรมนูญนั้น แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยมิได้เป็นบทบัญญัติสูงสุดที่ใครจะแตะต้องมิได้ หากแต่รัฐธรรมนูญคือผลของการต่อรองอำนาจในแต่ละช่วงเวลาของสังคมไทย รัฐธรรมนูญคือข้อตกลงหรือฉันทานุมัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่สังคมไทยยอมรับหรือจำต้องหักหาญให้ประชาชนยอมรับ แน่นอนว่าเมื่อโครงสร้างและสังคม-วัฒนธรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็คือการหาฉันทานุมัติใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนนั่นเอง
วิถีทางของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จึงต้องวางอยู่บนหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ต้องสามารถแตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนกัน จนถึงกับแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกหมวด ทุกวรรค ทุกตัวอักษร เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของประชาชนในปัจจุบันขณะให้มากที่สุด
ณ ปัจจุบันขณะ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางสร้างโครงสร้างอำนาจที่ฝังเผด็จการครึ่งท่อนเอาไว้ในตัว จึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และไม่สามารถสนองประโยชน์ประชาชนได้ โจทย์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญจึงย่อมต้องเป็นโจทย์ของการแก้ไขโครงสร้างอำนาจเป็นสำคัญ
รัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์ปากท้องของประชาชนได้ ก็คือรัฐธรรมนูญที่วางโครงสร้างอำนาจให้เอื้อต่อการใช้อำนาจของตัวแทนประชาชน การตอบโจทย์ปากท้องของประชาชนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการวางโครงสร้างอำนาจให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง หรืออย่างน้อยที่สุด รัฐธรรมนูญใหม่จะต้อง ทั้งตอบโจทย์ปากท้องของประชาชน และแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจในระดับพื้นฐานอย่างแท้จริง