Skip to main content

จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 

<--break->

เกริ่น

พลังทะลุทะลวงนี้แทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือหากจะมี ก็ยังไม่เคยปรากฏพร้อมกันอย่างทรงพลัง กว้างขวาง อย่างที่เป็นมาแบบนี้มาก่อน หากจะเทียบกับขบวนการประชาชนในอดีต คงต้องเทียบกับพลังของ 

(1) การเปลี่ยนแปลงการปกครองทศวรรษ 2470-2480 

(2) การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยในทศวรรษ 2480 

(3) การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ชาวไร่ชาวนากรรมกร ในทศวรรษ 2510 (ยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519) 

(4) ขบวนการคอมมิวนิสต์ทศวรรษ 2510-2520 

(5) “ม็อบมือถือ” การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2530 

(6) สมัชชาคนจนและการเมืองบนท้องถนน ของเอ็นจีโอชนชั้นกลางและคนจน ชาวไร่ชาวนา ชนชั้นล่าง ในทศวรรษ 2530-40

(7) การเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงในทศวรรษ 2540-2550 

การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 จึงนับได้ว่าเป็นทั้งการสานต่อและสร้างประวัติศาสตร์ประชาชนหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์ไทยอย่างสำคัญและทรงพลัง

ฝ่าทะลุ 5 กำแพง

คณะราษฎร 2563 ได้ส่องแสงทะลุกำแพงมาแล้วมากมาย สรุปรวมได้อย่างน้อย 5 กำแพงด้วยกัน แต่ละการทะลุทะลวง ได้สานต่อการเพิ่มอำนาจทางการเมืองของประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแต่ละยุคสมัย ให้ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างสร้างสรรค์และมีมิติใหม่ๆ ยิ่งขึ้น ดังนี้

1. กำแพงชนชั้น คณะราษฎร 63 เป็นการรวมตัวต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองที่ข้ามพรมแดนของชนชั้นมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่ทนายอานนท์เป็นลูกชาวนา คุณไมค์เป็นลูกกรรมกร มาร่วมสู้กับลูกหลานชนชั้นกลางระดับบนและระดับล่างหลายกลุ่ม ตลอดจนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างระดับการศึกษากัน ต่างช่วงชั้นทางสังคมกันมาร่วมมือกัน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับชนชั้นกลางระดับล่างอย่างคนเสื้อแดง การประสานกันของมวลชนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมต่อกันของขบวนการประชาชนในปัจจุบัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเทียบเท่าได้กับการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510 ก่อนหน้านั้นการขยายฐานอำนาจประชาชนในทศวรรษ 2470-2480 ยังคงเป็นการแสดงพลังของประชาชนชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับบนเป็นหลัก ส่วนการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนและคนเสื้อแดง โดยมากก็ยังคงเป็นพลังของชนชั้นกลางระดับล่าง คณะราษฎร 63 จึงนับได้ว่าสร้างการเชื่อมโยงของชนชั้นได้กว้างขวางไม่น้อยไปกว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510 

2. กำแพงพื้นที่การเมือง คณะราษฎร 63 สร้างความเชื่อมโยงข้ามพื้นที่ในสามลักษณะด้วยกัน 

ประการแรก ข้ามพื้นที่ทั่วประเทศไทย พื้นที่การเมืองไม่ใช่กรุงเทพฯ เพียงเท่านั้นอีกต่อไป ในอดีตมีสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาในทศวรรษ 2510 ขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2510-2520 และขบวนการคนเสื้อแดงทศวรรษ 2550 ปัจจุบันมีขบวนการคณะราษฎร 63 ที่มีมวลชนเข้าร่วมครอบคลุมทั่วประเทศเช่นนี้

ประการที่สอง ข้ามประเทศ ในอดีต คณะราษฎร 2475 และเสรีไทยในทศวรรษ 2480 ได้เคยสร้างเครือข่ายข้ามประเทศในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมยุโรปและญี่ปุ่น ในปัจจุบัน คณะราษฎร 2563 สร้างเครือข่ายข้ามประเทศผ่านเครือข่ายออนไลน์ เกิดการรวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อเกื้อหนุนกันสร้างกระแสประชาธิปไตยผ่าน #MilkTeaAlliance และการเชื่อมต่อออนไลน์ใน platform และรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งวรรณกรรมออนไลน์ใน แอพพลิเคชันอ่าน/เขียนวรรณกรรมอย่าง “จอยลดา”

ประการที่สาม ข้ามออนไลน์สู่ออฟไลน์ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและ online platforms ต่างๆ คณะราษฎร 63 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาขยับและเชื่อมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์อย่างชาญฉลาด พวกเขาพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นเพียงนักเลงคีย์บอร์ดที่กลัวแดดกลัวฝน ไม่อดทน และกลัวความเสี่ยง นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ใหญ่หลวงและใกล้ตัวของพวกเขาอย่างยิ่ง จนทำให้เขาตระหนักว่าลำพังการเคลื่อนไหวในโลกอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอต่อการสร้างผลสะเทือนแต่อย่างใด ทำให้เขาต้องลุกจากหน้าจอมาลงถนน 

3. กำแพงเพศสภาวะ การก้าวข้ามที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมมีการทะลายกำแพงเพศภาวะอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยมากแล้วกำแพงเพศภาวะที่ผ่านมายังคงอยู่ในกรอบของสังคมสองเพศ (binary gender) หากแต่การให้สิทธิหรือเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบันไปพ้นจากเพียงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชาย-เพศหญิงไปสู่ non-binary gender เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของความหลากเพศภาวะ ทั้งในแง่ของผู้มีส่วนปลุกพลังและขับเคลื่อนมวลชนเอง และผู้เข้าร่วมคณะราษฎร 63 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ชัดทั้งในประเด็นเรียกร้องและการแสดงออกของอัตลักษณ์ทางเพศ สัญลักษณ์ทางเพศ การใช้ภาษา ทั้งหมดชี้ว่า คณะราษฎร 63 ไม่เพียงเปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่ยังทำให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศคือความปกติของสังคม หากแต่คนเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ อย่างทัดเทียมกับเพศทางการชาย-หญิง 

นอกจากนั้น ขบวนการนี้ยังสัมพันธ์กับการรื้อระบบ beauty privilege หรือการให้ค่าความงามของเรือนร่างเป็นพิเศษ ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและยกเลิกการประกวด “ดาว เดือน ดาวเทียม” ในหลายๆ มหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงประเด็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิการใช้แรงงานทางเพศ กฎหมายการทำแท้ง การส่องแสงดาวทลายกำแพงเพศภาวะนี้นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตอย่างชัดเจน

4. กำแพงการมองคนไม่เท่ากัน การไม่เคารพความเป็นคนเป็นกำแพงพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของประชาชนตั้งแต่ไหนแต่ไรมา กล่าวได้ว่าทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนคือการเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง การตัดสินชะตาชีวิตตนเอง การเคารพประชาชนในฐานะคนเท่ากัน แต่ความโดดเด่นประการหนึ่งของคณะราษฏร 63 คือการทลายกำแพงระบบอาวุโส การท้าทายระบบอาวุโสพัฒนามาตั้งแต่การต่อต้านระบบ SOTUS ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การตั้งคำถามกับระเบียบเครื่องแบบ ผมทรงนักเรียน การละเมิดสิทธินักเรียนในโรงเรียน ตลอดจนการแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียนนับตั้งแต่ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย การตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและปกป้องสิทธินักเรียน เช่น กลุ่มนักเรียนเลว 

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คือความเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยที่ผู้ใหญ่เดิมเข้าใจหรือถูกขีดเส้นไว้ได้ถูกทลายลง จนเกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน เยาวชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้กล่าวกันว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้มีเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรืออย่างน้อยก็อีกครั้งหนึ่งหลังจากขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510

5. กำแพงสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสถาบันกษัตริย์และสถาบันตุลาการถูกเปิดเปลือยให้เห็นว่ากำลังเป็นสถาบันที่ก่อปัญหาแก่ระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นสถาบันที่เป็นปฏิบักษ์ต่อสถาบันประชาชน กล่าวคือ  

ประการแรก คณะราษฎรเป็นมวลชนกลุ่มแรกๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริงหลังคณะราษฎร 2475 หลังขบวนการ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์ขยายฐานอำนาจทั้งในเชิงสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ มาโดยลำดับ โดยขาดการทัดทานอย่างจริงจังของขบวนการการเมืองประชาชนใดๆ มาก่อน หากจะไม่นับขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ขบวนการประชาชนต่างๆ ไม่เพียงไม่ทัดทานอำนาจสถาบันกษัตริย์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนที่ผ่านมามักกลับเสริมอำนาจทางสังคมให้กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลับกลายเป็นการขยายทุนทางการเมืองให้แก่สถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้าม คณะราษฎร 63 ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันกษัษตริย์ตลอดจนเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นสถาบันที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นสถาบันที่อยู่นอกและเหนือการเมืองอย่างแท้จริง เป็นที่เคารพเลื่อมใส เป็นศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ประการที่สอง ล่าสุด เมื่อรัฐบาลเผด็จการ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งโดยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง การจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม ตลอดจนการไม่เคารพสิทธิการประกันตัวของศาล และการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาทางความคิดของเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ไร้หลักนิติธรรมมาอย่างต่อเนื่องอย่างไร แกนนำคณะราษฎรจึงกลายเป็นตัวแทนของเหยื่อความอยุติธรรมและไร้มนุษยธรรมของกระบวนการตุลาการและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด นับเป็นปฏิบัติการเปิดเปลือย “ความอ-ยุติธรรมอำมหิต” ขนานใหญ่แบบที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

ข้าม 4 ความมืดมน

ถึงแม้พลังนี้ได้ทะลุทะลวงกำแพงขวางกั้นความก้าวหน้าของสังคมไทยไปได้ไกลเพียงใด พวกเรายังจะต้องร่วมกันเป็นกระแสธารของดวงดาว จนก่อเกิดเป็นสายทางช้างเผือกของขบวนการประชาชน พวกเราจะยังต้องฝ่าทะลุกำแพงอีกมากมาย อย่างน้อยยังมีอีก 4 พรมแดนอันมืดมนที่ท้าทายการต่อสู้ต่อไป ดังนี้ 

1. ความมืดมนของกลุ่มคนเบี้ยล่าง (the subalterns) ประชาชนและคณะราษฎร 63 จะต้องเรียนรู้มิติของความเหลื่อมล้ำที่หลากหลายขึ้น ใช้แสงของสิทธิมนุษยชนนำทางให้ชัดขึ้น เข้าใจปัญหาผู้ทุพพลภาพทางกายและจิตใจ ปัญหาชาติพันธ์ุ ปัญหากรรมกร ปัญหาชาวไร่ชาวนา เรียนรู้ข้ามชนชาติ ข้ามพรมแดน ไปสู่แรงงานพลัดถิ่นข้ามชาติ เรียนรู้ให้มากขึ้นถึงปัญหาการรวมศูนย์อำนาจและการกัดกีนปิดกั้นอำนาจลักษณะต่างๆ ในแวดวงต่างๆ เช่น การรวมศูนย์อำนาจและการปิดกั้นสิทธิทางศาสนา (สำหรับชาวพุทธ พระถูกควบคุม ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับชาวมลายูมุสลิม พวกเขาถูกปิดกั้นสิทธิทางอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง ฯลฯ) 

2. ความมืดมนของกลไกอำนาจ คณะราษฎร 63 จะต้องร่วมกันแปลงพลังการเคลื่อนไหวของมวลชนในโลกออนไลน์และบนท้องถนน ให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง ให้เกิดวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตยและเคารพในสิทธิมนุษยชน ให้การเห็นคนเท่ากันและการเคารพความเห็นต่างกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เป็นบรรทัดฐนของสังคม ต้องสร้างสะพานระหว่างพลังมวลชนกับกลไกของรัฐ หาวิธีเข้าสู่ระบบการเมือง สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ อาศัยกลไกต่างๆ เพื่อแก้/รื้อรัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายตั้งแต่กฎหมายการชุมชน/ควบคุมฝูงชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แก้กฎหมาย ม. 112 

3. ความมืดมนของวัฒนธรรมการเมือง ความมืดมนนี้มาจากความคิดทางการเมืองและวิถีชีวิตที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ความมืดมนนี้ก่อให้เกิดพรมแดน ระหว่างคนต่างรุ่น (generation gap) ระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ระหว่างคนที่ยังเชื่อมั่นกับระบอบเผด็จการยังเชื่อในลัทธิคนดี กับคณะราษฎร 63 และมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในวัฒนธรรมอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน เราต้องสื่อสารข้ามพรมแดนปิดกั้นคนเหล่านี้ สร้างแนวร่วมข้ามคนเหล่านี้ หรือกระทั่งต้องเรียกร้อง (call out) ผู้คนที่มีบทบาทในสังคม เรียกคนที่ยังอยู่ในชุมชนของความคิดที่ว่า “แค่ทำดี เป็นคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง ประเทศก็จะดีเอง” ให้ออกมาจากที่พักพิงปลอดภัย (comfort zone) นั้น เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์มาไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่า ไม่เพียงแต่ความดีจะมีหลายแบบ ลำพังความดีและคนดีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หากระบบไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมกัน การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และการเคารพในความเป็นมนุษย์ ต้องชี้ให้พวกเขาเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยเองไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่ประชาชนจะมีความสุขขึ้นกว่านี้ได้ ไม่มีทางลัดและไม่มีคนดีที่ไหนจะทำแทนเราได้

4. ความมืดมนของอนาคตแต่ละคน แม้ว่าในทุกวันนี้ พวกเราจะยังเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศชาติให้ดีขึ้นตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย หากแต่วันข้างหน้า ไม่มีทางรู้ได้ว่าพวกเราเองนั่นแหละที่จะกลับกลายไปเป็นนักอนุรักษนิยมอีกหรือไม่ ยามใดก็ตามที่พวกคุณเข้าสู่เวทีอำนาจ เข้าสู่ผลประโยชน์มหาศาล ต้องเฝ้าถามตนเอง ตรวจสอบตนเองอยู่เสมอว่า ขณะนี้คุณได้ถูกระบบกลืนกลายจนเป็นอีกคนหนึ่งที่ฝืนต้านการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ อย่าเพิ่งเชื่อว่า “เวลาจะอยู่ข้างเรา” เพราะเมื่อเราเติบโต มีอำนาจวาสนา เราเองนั่นแหละที่อาจจะฝืนเวลาอยู่ อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้เห็นวันนั้นจริงๆ ว่า “อนาคตหลังจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” เมื่อผ่านไปอีก 10 ปี 20 ปี ทำอย่างไรอุดมการณ์จะยังคงอยู่ ทำอย่างไรที่พวกคุณเองจะไม่ถูกดูดกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดิมที่ตนเองต่อต้านอีก ทำอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นแบบ “คนเดือนตุลาเลี้ยวขวา” หรือ “คอมมิวนิสต์นิยมเจ้า” ไม่ต้องกลับไป “สู้ไปกราบไป” อีก นี่เป็นอีกความมืดมนที่ท้าทายแสงดาวของปัจจุบันอยู่ในอนาคตอันใกล้ คือตัวคุณเองที่เป็นอุปสรรครอตัวคุณอยู่

สรุป

ในระยะเพียงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยความกล้าหาญ ซื่อตรงต่อตนเองและประวัติศาสตร์ ยึดมั่นต่อหลักการที่ให้ความสำคัญแก่พลังสร้างสรรค์ ความเสมอหน้า และมนุษยธรรม คณะราษฎร 63 ได้ทำให้ขบวนการประชาชนก้าวไปไกลและสานต่อพลังของการเคลื่อนไหวจากยุคก่อนหน้า นับตั้งแต่ทศวรรษของการอภิวัติช่วง 2470-80 ทศวรรษของประชาธิปไตยเบ่งบานโดยนิสิตนักศึกษาช่วงปี 2510 ทศวรรษของชนชั้นกลางเก่าและใหม่ช่วงปี 2530-2550 จนทุกวันนี้เป็นทศวรรษของคณะราษฎร 2560 หวังว่าทศวรรษของคณะราษฎรจะได้รับการสานต่อไปข้างหน้า หวังว่าแสงดาวที่สาดสว่างอยู่ในวันนี้ จะยังฝ่าข้ามพรมแดนไปสาดส่องกลบลบความมืดมนในอีกหลายมิติทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ต่อไป

แม้วันนี้ดวงดาวของเราหลายดวงจะยังรอการปลดปล่อยจากการคุมขังที่ไม่ชอบธรรมและไร้มนุษยธรรม ผมและเพื่อนๆ ในที่นี้ต่างก็มั่นใจว่า แสงดาวของพวกเขาย่อมจะไม่อาจถูกกักขังจองจำได้ พวกเราจะต้องมั่นคงต่อตนเองว่าจะสู้เพื่อให้เขาได้รับอิสรภาพ และสานต่อการต่อสู่ของประชาชนโดยสันติ ไปจนกว่าวันที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างแท้จริง 

 

อ่าน บนเวที “เปิดไฟให้ดาว” จัดโดย People Go

ณ Skywalk ปทุมวัน กรุงเทพฯ 

10 พฤษภาคม 2564

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์