Skip to main content

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

เท่าที่ผมได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของภาควิชานี้มาต่อเนื่องหลายปี และยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับทั้งกิจกรรมการจัดแสดงผลงานนักศึกษาและผู้บรรยายพิเศษในกิจกรรมต่าง ๆ ของภาควิชา รวมทั้งยังส่งผลงานวิชาการมาร่วมตีพิมพ์วารสารของภาควิชาในฉบับปฐมฤกษ์ ก็เนื่องจากว่าผมเล็งเห็นถึงการให้เสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะและความแข็งแกร่งทางวิชาการของคณาจารย์และนักศึกษาภาควิชานี้

ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา การให้อิสระในการแสดงออกของทั้งอาจารย์และนักศึกษาทำให้ภาควิชานี้ รวมทั้งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการกล่าวขานกันกว้างขวางว่า เป็นสถาบันศึกษาศิลปะที่มีมาตรฐานสูง มีความก้าวหน้าทั้งทางวิชาการและการแสดงออกทางศิลปะในระดับแนวหน้า ไม่เพียงไม่น้อยกว่า แต่ยังอาจจะเหนือกว่าสถาบันศิลปะเก่าแก่บางสถาบันด้วยซ้ำไป  

นั่นย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองจำนวนมากส่งเสริมให้นักศึกษามาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาฝีมือดี ความรู้ดี จำนวนมากตั้งใจมาศึกษาที่นี่ แม้จะด้วยค่าเล่าเรียนในอัตราค่อนข้างสูง เพราะเป็นโครงการพิเศษ  

แต่ในระยะ 2-3 ปีให้หลังนี้ การบริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับมีแนวทางที่สวนทางกับทิศทางอันรุ่งเรืองในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่า คณะวิจิตรศิลป์ยุคนี้เกิดความมัวหมองตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

นับตั้งแต่กรณีการปรับเปลี่ยนการบริหารงบประมาณของภาควิชาที่ตามระเบียบเดิมเป็นการบริหารที่ภาควิชามีเดียฯ เองมีอิสระในการบริหาร ไปเป็นการบริหารภายใต้อำนาจของคณะ กรณีการไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลป์จัดงานแสดงประจำปีของนักศึกษาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา กรณีการยึดผลงานนักศึกษา กรณีการข่มขู่หรือถึงกับดำเนินคดีทางการเมืองกับนักศึกษา แล้วล่าสุดคือกรณีการตรวจสอบผลงานนักศึกษาก่อนจัดแสดง ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำเยี่ยงนี้มาก่อน  

นั่นทำให้ผมมีคำถามต่าง ๆ แก่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เลยเรื่อยไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

ข้อแรก ผมสงสัยว่าคณะวิจิตรศิลป์ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารชุดปัจจุบันมองว่าศิลปะคืออะไร ศิลปะคือผลงานสวยงามที่จรรโลงความสุขความบันเทิง หรือแม้แต่โน้มนำไปสู่พุทธิภาวะ แก่ผู้ชม ผู้เสพย์ เท่านั้นหรือ หรือที่คับแคบยิ่งกว่านั้นคือ งานศิลปะจะต้องรับใช้หรือสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ ความดีงามตามบรรทัดฐานของรัฐบาล ตามบรรทัดฐานของสังคม เท่านั้นหรือ  

ถ้าเช่นนั้น พวกท่านก็คงต้องเลิกสอนศิลปะตะวันตก เลิกสอนแม้กระทั่งศิลปะไทย แล้วหันไปสอนศิลปะมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เขียนงานบนฝาผนังถ้ำ หรือปัจจุบันนี้หากพวกท่านได้ดำเนินการเช่นนั้นไปแล้วหรือกำลังจะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปดังนั้น ผมก็ขออภัยที่มิได้ล่วงรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ ในรายละเอียด

ข้อต่อมา ผมสงสัยว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ศิลปะตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ผลิตคนป้อนนโยบายรัฐ ป้อนกระแสสังคม เพียงเท่านั้นหรือ บทบาทของศิลปินหรือนักวิชาการ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ในทัศนะของผู้บริหารคณะฯ ขุดนี้ คือการผลิตซ้ำวัฒนธรรม อุดมการณ์ ค่านิยม ระบบคุณค่าของสังคมหรือของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อทัดทาน เลยอย่างนั้นหรือ  

แต่หากผู้บริหารคณะฯ ยืนยันว่า แนวทางการบริหารของตนเองไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ก็โปรดอธิบายให้สาธารณชน อย่างน้อยให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนได้รับรู้ว่า สิ่งที่พวกท่านกำลังกระทำอยู่ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงออกที่แตกต่างไปจากกรอบบรรทัดฐานของรัฐและสังคมไทยอย่างไร  

ข้อสาม หากผู้บริหารคณะฯ เห็นดังนั้น ทำไมคณะผู้บริหารจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่า คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมการแสดงออกของนักศึกษา ในแนวทางที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อบรรทัดฐานของรัฐไทยและสังคมไทยทั่วไป คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ส่งเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ  

ทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยเพื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษา ตลอดจนสาธารณชนจะได้เข้าใจว่า ขณะนี้แนวทางการบริหารงานจะเป็นแบบนี้ หากนักศึกษาและผู้ปกครองไม่ประสงค์จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศิลปะตามแนวทางคับแคบเช่นนี้ จะได้เลือกหาสถาบันอื่น และหากไม่มีสถาบันอื่นใดให้เสรีภาพในการแสดงออกเลย พวกเขาก็อาจไม่เข้าเรียนสถาบันศิลปะใดในประเทศนี้เลยก็ได้

ข้อสุดท้าย ผมขอถามเลยไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า การบริหารการศึกษาศิลปะตามแนวทางของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบันนี้ ได้รับการยอมรับ เห็นดีเห็นงามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่าเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยหรือไม่  

หากเป็นไปตามแนวทางปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะยืนยันหรือไม่ว่าแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ แล้วถ้าเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไรว่าการกระทำต่าง ๆ ของคณะวิจิตรศิลป์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้ เป็นการส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะและวิชาการ  

หรือว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองเห็นด้วยว่าจะต้องปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการในสาขาวิชาอื่น ๆ นั่นหมายความว่า หากผู้บริหารประสงค์จะปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาก็สามารถกระทำได้ มหาวิทยาลัยจะไม่ทัดทานการปิดกั้นใช่หรือไม่  

หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ทัดทาน ไม่สอบสวนการกระทำอันเข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของคณะวิจิตรศิลป์แล้ว ผมก็สงสัยอย่างยิ่งว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตามทัศนะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในแง่ของผลผลิต โดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณค่าของเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้ใส่ใจกับการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะแหวกขนบ นอกกรอบ แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมเลยอย่างนั้นหรือ

ถึงที่สุดแล้ว หากงานศิลปะ งานวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบทบาทในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าแก่สังคม ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ไม่สอนให้เกิดความคิดวิพากษืวิจารณ์ ผมสงสัยว่าเราจะมีมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไรกัน หรือไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็ดำเนินกิจการต่อไปนั่นแหละ แต่ควรสำนึกในใจให้ดัง ๆ ว่า พวกคุณกำลังดำเนินกิจการโรงเรียนดัดสันดานหรือกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ มากกว่าจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์