Skip to main content
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 

ผมไม่ถือว่านี่เป็นการข่มขู่ด้วยการอ้างอำนาจศาล ผมกลับถือว่านี่เป็นการที่อธิบดีฯ กล้าออกมาอธิบายพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน และย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนที่เสียภาษีและมอบอำนาจอธิปไตยให้ท่านช่วยดูแลให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน จะแสดงความเห็นต่ออธิบดีฯ และสถาบันตุลาการอย่างตรงไปตรงมา ผมขอตั้งคำถามกับท่านและสถาบันตุลาการดังนี้ 

 

ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่ สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

1) ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ 

 

ความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาลนั้นมาจากการที่ผู้คนสงสัยในความ “สองมาตรฐาน” ของสถาบันตุลาการในกรณีของคดีการเมือง ดังเช่น กรณีของกลุ่ม กปปส. ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพื่อให้พวกเขาได้ต่อสู้คดีในขั้นต่อไปได้อย่างเต็มที่ และเป็นไปตามหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าคดีจะสิ้นสุด 

 

แต่กับกรณีของผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มเยาวชน พวกเขากลับถูกถือเสมือนว่ากระทำผิดไปแล้ว ถูกถือเสมือนว่าตัดสินความผิดไปแล้ว จากเหตุของการไม่ปล่อยตัวประชาชนที่ต้องคดีเหล่านี้ตามที่ท่านกล่าวว่า (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366)

 

“อาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ซึ่งเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้”  

 

ข้อนี้จะถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ถือว่าเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าจะไป “ก่อเหตุอื่น” ที่ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแล้วจะเป็นอันตรายได้อย่างไร หรือไม่ แล้วท่านเองก็ยังว่า “ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่น” ตามคำกล่าวของท่านอธิบดีฯ ตรงนี้เอง มีรายละเอียดที่น่าพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน 

 

เรื่องแรกที่ท่านว่า “ผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที” นั้น อันที่จริงศาลเคยสั่งไม่ปล่อยตัวด้วยเหตุผลที่ว่า “มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ก่อนที่หลังจากนั้นจะให้เหตุผลสั้นๆ ในการขอปล่อยตัวแล้วศาลสั่งไม่ปล่อยตัวครั้งต่อๆ ไปอีกหลายครั้งว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” (ดู https://www.bbc.com/thai/thailand-56220928) ประชาชนตั้งข้อสงสัยมากกว่า นี่จะนับว่าเป็นการที่ศาล “ตัดสิน” ไปก่อนการพิจารณาคดีแล้วหรือไม่ว่าผู้ต้องหากระทำผิด และนี่ทำให้ประชาชนสงสัยว่า ศาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 โดยเคร่งครัดหรือไม่ (อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ตั้งคำถามนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/photos/a.487222531441124/1933516940145002/)

 

อีกเรื่องได้แก่คำถามที่ว่า อะไรคือ “อันตรายประการอื่น” ถ้อยคำเช่นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีขลุมเกินไปแล้วละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือไม่ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเหล่านี้มากกว่าอีกกลุ่มหรือไม่ ท่านมั่นใจผู้ต้องหาคดี กปปส. มากกว่าผู้ต้องหาคดีกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายอะไรมาพิจารณาแตกต่างกัน แล้วหากดุลพินิจบกพร่อง ท่านจะรับผิดชอบกันอย่างไร

 

2) สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่

 

ข้อนี้แสดงให้เห็นจากการใช้ถ้อยดังในการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองล่าสุดนั้น เป็นได้โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามมิให้ทั้งสองทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” 

 

ประชาชนสงสัยว่ากิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร มีความเชื่อมโยงกับคดีอย่างไร คดีมาตรา 112” ไม่มีข้อความหรือถ้อยคำที่ระบุว่าห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วการที่ศาลตั้งเงื่อนไขลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยขอบเขตอำนาจศาลหรือเปล่า เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เสียเองหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเจ้าหน้าที่รัฐตีขลุมหรือตีความกว้างขวางว่า แม้กระทั่งการเก็บเงินไว้ในกระเป๋าเงินและนั่งทับกระเป๋าเงินก็ถือว่าเป็นความเสื่อมเสียแล้วได้หรือไม่ 

 

ยิ่งกว่านั้น อะไรคือสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเห็นว่าคำนี้เป็นคำที่ชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว หากแต่เราก็ได้เคยเห็นมาแล้วว่า แม้แต่บูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยังเคยถูกตีความให้ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 112 จนเป็นเหตุให้มีการนำไปฟ้องร้องและศาลก็รับฟ้องได้ แล้วคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในงื่อนไขการปล่อยตัวนี้ จะหมายถึงกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วยหรือไม่ หรือหากมีจะตีความรวมกระทั่ง อาคาร ที่ดิน รูปภาพ ฯลฯ องคาพยพใดๆ ที่ก่อให้เกิดและอำนวยให้ดำเนินไปซึ่งอำนาจและบารมีของกษัตริย์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ จะเป็นอย่างไร แล้วนี่จะถือว่าเงื่อนไขนี้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือไม่ 

 

3) สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

ในฐานะที่ว่าศาลและสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตกว้างไกลกว่าสถาบันตุลาการเอง ท่านเองและสถาบันตุลาการตระหนักหรือไม่ว่า สถาบันตุลาการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วย 

 

ผมเข้าใจว่าท่านทราบดีว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 นั้น เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสดงถึงวิกฤติของสังคมไทยอีกช่วงหนึ่ง หากท่านไม่เห็นว่าสังคมไทยกำลังเกิดวิกฤติอย่างไร ท่านก็ไม่สมควรมีอำนาจมากมายอย่างที่ท่านมีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพราะท่านไม่เข้าใจบริบทแวดล้อมความเป็นไปของสังคมมากพอที่จะดูแลปกป้องความยุติธรรมให้สังคมได้อีกต่อไป และท่านรวมทั้งผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายก็ควรจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้นว่าบ้านเมืองเราขณะนี้มีปัญหาอะไรกันแน่

 

เอาล่ะ สมมติว่าท่านเข้าใจ ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ ผมขอตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมากับท่านว่า วิกฤตินี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาล หรือองคาพยพส่วนอื่นๆ ของสังคมรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเองมีส่วนในความขัดแย้งนี้ด้วย ท่านเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเอง (เช่น การใช้ ปมอ. มาตรา 112 การใช้ ปมอ. มาตรา 116 และกฎหมายอื่นๆ ในทางการเมือง) มีปัญหาหรือไม่ ท่านคิดว่าท่านเองมีส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ หรือท่านและสถาบันตุลาการจะเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหนึ่งของอำนาจรัฐ ที่อาจจะถูกรัฐบาลหรืออำนาจอื่นใดฉวยใช้เพียงเพราะท่านละเลยปัญหาที่ใหญ่กว่าคดีความที่อยู่ต่อหน้าตัวท่านเอง 

 

ท่านจะเพียงใช้อำนาจในขอบเขตของท่านโดยอ้างว่า ปัญหาอื่นๆ นั้นช่างใหญ่โตเกินกว่าที่ท่านจะทำอะไรได้ แค่เพียงท่านทำตามอำนาจหน้าที่ของท่านก็แล้วก็ปัดความรับผิดชอบไปให้ส่วนอื่นๆ ของสังคมรับผิดชอบเอาเอง  เมื่อท่านตัดสินคดีความเสร็จ พวกท่านก็กลับบ้านนอนดูความพังทลายของสังคมโดยไม่ต้องแยแสกับความบิดเบี้ยวของสังคมที่กำลังดำเนินไปอยู่ขณะนี้หรืออย่างไร

 

สรุปแล้ว ท่านคิดว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเองมีส่วนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไหม แล้วพวกท่านคิดจะแก้ไขความเสื่อมนี้อย่างไร สถาบันตุลาการเองมีส่วนเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิด คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วท่านตระหนักหรือไม่ว่าสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศในขณะนี้ ท่านเองจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ หรือจะดึงดันถือทิฐิว่าศาลย่อมถูกต้องเสมอ 

 

ด้วยความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมและหลักมนุษยธรรม

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์