Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร 

 


คำกล่าวเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์”
จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 12 กันยายน 2555


ยุคใครยุคมัน
ผมอยากเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์” ด้วยคำพูดของนักปรัชญาชาวเดนนิชในศตวรรษที่ 19 ชื่อ ซอเรน เคียร์เคอกอร์ด ที่ว่า
“คนทุกๆ รุ่นต้องเริ่มต้นอะไรของตนเองอยู่เสมอ…คนทุกๆ รุ่นต้องลงแรงสร้างอะไรเอง ไม่ต่างกันทุกรุ่น”
คำพูดของนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่น่านำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ คำพูดของจอน แบล็คกิง นักมานุษยวิทยาดนตรีอเมริกันที่เชี่ยวชาญดนตรีแอฟริกัน เขาคิดต่อจากเคียร์เคอกอร์ดแล้วเสนอว่า
“ถ้าคุณเป็นประพันธกรที่เก่งกาจ และเคารพไชคอฟสกี้อย่างที่สุด แล้วคุณเอางานไชคอฟสกี้มาเรียบเรียงใหม่ในยุคสมัยของคุณ ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็ไม่สามารถเรียบเรียงและเล่นเพลงของไชคอฟสกี้ได้ในแบบเดียวกับที่ไชคอฟสกี้เล่นในยุคสมัยของเขา ไม่ใช่เพราะไชคอฟสกี้เป็นอัจฉริยะจนใครต่อใครเอาอย่างไม่ได้ แต่เพราะดนตรีในยุคสมัยของคุณ มันแตกต่างจากดนตรีในยุคของไชคอฟสกี้”
ผมจึงอยากตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ในยุคของคุณ พวกคุณจะต้องมีพิธีกรรมนี้จริงๆ หรือ? แล้วอะไรกันแน่คือคุณค่า ไม่ใช่แค่เหตุผล ของการจัดพิธีรับน้องในยุคสมัยของคุณ? หรือถึงที่สุดแล้ว ยุคสมัยคุณยังต้องการการรับน้องอยู่อีกหรือ?
 
ประสบการณ์ไม่รับน้อง
สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมชอบไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลาน ผมชอบบรรยากาศที่นั่น ชอบอาหารโรงอาหารที่นั่น ชอบกล่ินสี กลิ่นดิน งานศิลปะ ชอบนั่งดูพวกที่มาเรียนศิลปะเรียนโบราณคดีแต่งตัวกัน ชอบไปหาเพื่อนที่รู้จักซึ่งก็มีไม่กี่คน แต่เพื่อนผมที่เรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” บอกว่า มันชอบมานั่งที่ธรรมศาสตร์ มันบอกพวกธรรมศาสตร์ช่างคิดช่างเขียนช่างอ่านกันดี
 
แต่ถึงผมจะชอบมหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลานขนาดไหน ผมก็ไม่อิจฉาและงงทุกครั้งที่เห็นการรับน้องแบบที่นั่น เขาพาน้องเดินไปเดินมาที่สนามหลวง ไปกันเป็นฝูงๆ ให้น้องแต่งตัวแปลกๆ บางทีจะเรียกว่าแต่งตัวยังไม่ได้เลย อีกอย่างที่เขาทำคือ ให้น้องใส่ป้ายชื่อใหญ่ๆ
 
ที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่านก็มีประเพณีประหลาด อย่างอื่นผมไม่รู้ แต่สมัยผมที่ผมรับรู้คือ เขาให้นิสิตปีหนึ่งผู้หญิงใส่รองเท้าขาว นิสิตผู้ชายต้องผูกไท ผมงงทุกทีว่าทำไมน้องใหม่ผู้หญิงจะต้องระวังไม่ให้รองเท้าเลอะเทอะมากกว่าน้องผู้ชาย และทำไมน้องใหม่ผู้ชายต้องเอาผ้ามารัดคอเข้าห้องเรียนด้วย
 
ผมนึกดีใจขึ้นมาที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยหน้าพระลาน ผมอยากเรียนคณะจิตรกรรมที่นั่น แต่นึกๆ ดูว่า หากเข้าไปได้ ผมคงต้องอึดอัดอยู่ที่นั่นไม่ได้ เพราะไม่ชอบถูกว้ากถูกรับน้องแบบนั้น คณะรองลงมาที่อยากเข้าคือคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยสามย่าน เพราะอยากสร้างงานศิลปะให้คนเข้าไปอาศัย แต่ตอนหลังก็นึกดีใจที่ผมไม่ต้องไปเอาผ้ารัดคออยู่ปีนึง
 
อยู่ธรรมศาสตร์ พอมาถึงมหาวิทยาลัยทีไร ผมบอกตัวเองแทบทุกนาทีว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ผมคิดว่าหากเรามีเหตุผลกับสิ่งที่เลือกทำ และไม่ได้ทำร้ายใคร ผมก็จะทำ ผมก็เลือกไม่ไปงานรับน้อง ไม่ไปรับใครเป็นน้อง ไป “บายเหนี่ย” ตอนปีสี่ครั้งเดียว แต่ไม่สนุก เพราะไม่รู้จักใคร และที่จริงก็ไม่อยากรู้จักใคร
ที่ธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะพยายามรณรงค์ให้เรียกกันว่า “การรับเพื่อนใหม่” แต่คำว่าเพื่อนใหม่ก็ไม่ติดปาก คนมาใหม่ก็จะเป็นน้องอยู่ตลอดอยู่นั่นเอง ธรรมศาสตร์สมัยผมแม้ส่วนมากไม่รับน้องรุนแรง แต่มีบางคณะเหมือนกันที่ใช้วิธี “ว้ากน้อง” มีบางคณะเหมือนกันที่ให้น้องทำอะไรโง่ๆ อย่าให้เอ่ยชื่อคณะเลย
 
รับน้องทำไม
การรับน้องไม่ได้มีขึ้นเพื่อการศึกษาแน่ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องทำอะไรที่ดูโง่ๆ ตามๆ กัน จะต้องเชื่อฟังพี่อย่างง่ายๆ ซื่อๆ กระทั่งถึงกับไร้ศักดิ์ศรี เพื่อจะให้สามารถสร้างงานศิลปะได้ดีอย่างนั้นหรือ จะต้องใส่รองเท้าขาว เอาผ้ารัดคอ เพื่อให้ท่องตำราได้คล่องแคล่วอย่างนั้นหรอ ไม่ใช่แน่
 
หรือถ้าจะบอกว่าการรับน้องเพื่อสร้างสัมพันธ์ สร้างการมีเพื่อน ก็ไม่ใช่แน่ เพราะคนในโลกนี้คบหาเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมรับน้องอะไร ผมเองไม่เคยไปรับน้อง ก็มีเพื่อนฝูงมากมายจนไม่สามารถสังสันทน์ได้ครบ
 
ถ้าลองวิเคราะห์ดู ผมคิดว่าการรับน้องแบบนั้นสร้างระบบรุ่น และระบบอาวุโสแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบนี้รวมเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ การอุปถัมภ์เกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยทำงานแข็งขันมาก สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็คงยังมีอยู่ ใครจบจากสถาบันไหน ก็จะสร้างเครือข่ายของสถาบันนั้น ถ้าคุณสังเกตวงการบางวงการ องค์กรบางองค์กร บริษัทบางบริษัท จะมีผู้จบจากบางสถาบันครอบงำอยู่ตลอด สืบทอดกัน ไม่ใช่เพราะความสามารถอย่างเดียว แต่เพราะความเป็นสถาบัน ยิ่งหากอาชีพนั้นเฉพาะเจาะจงตามคณะที่เรียนกันมา ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็จะยิ่งมีความสำคัญต่อการรับไม่รับรุ่นพี่รุ่นน้องกันเข้าทำงาน
 
หากวิเคราะห์ตามนักคิดทางสังคมอย่างมักซ์ เวเบอร์ การสืบทอดสถาบันและรุ่นมีลักษณะไม่ต่างจากระบบการสืบทอดอำนาจแบบประเพณี ความเป็นพี่น้องคล้ายระบบสืบสายโลหิต ระบบเครือญาติ พิธีกรรมรับน้องทำหน้าที่สร้างความผูกพันแบบเครือญาติที่วางอยู่บนระบบอาวุโส เข้ากลุ่มเจอกันก็ต้องไหว้ เรียกพี่เรียกน้องกันทั้งๆ ที่อายุก็ห่างกันไม่เท่าไหร่ หรือบางทีคนที่ “ซิ่ว” มาก็มี เข้าโรงเรียนไม่พร้อมกันก่อนหลังบ้างก็มี บางคนสมัยก่อนสอบเทียบมาก็มี อายุจึงไม่ได้ลดหลั่นกันตามปีที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่พิธีกรรมนี้ก็จะทำให้ระบบอาวุโสทำงานไปตลอด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
 
ระบบการรับน้องจึงมีส่วนทำลายระบบความสามารถ ระบบการใช้เหตุผล บางครั้งอาจเป็นการบ่มเพาะระบบพวกพ้อง ที่เกื้อกูลกันแม้ไม่ถูกกฎเกณฑ์ แม้ผิดกฎหมาย
 
เลยไปกว่านั้น ผมว่าพิธีรับน้องสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา เพราะไม่มีการศึกษาระดับอื่นที่มีการรับน้อง หรือเดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่สมัยผมไม่เห็นมีใครรับน้องอนุบาล รับน้องประถม รับน้องมัธยม มีแต่ในระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มี
 
การรับน้องจึงเป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคม ที่สร้างขึ้นมาจากการทำให้แตกต่าง ทำให้พิเศษไปจากการศึกษาระดับอื่นๆ ทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันระหว่าง “ผู้มีการศึกษา” ทั้งๆ ที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย–ตามที่ควรจะเป็น–ไม่ได้มุ่งสอนให้คนเชื่องเชื่ออะไรง่ายดายอย่างนั้น
 
แต่การสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา แยกพวกเรียนมหาวิทยาลัยออกจากคนไม่ได้มีโอกาสเข้าหรือไม่ได้จบมหาวิทยาลัย ทำให้พวกจบมหาวิทยาลัยแปลกแยก แต่กลับอยู่เหนือสังคม ทั้งๆ ที่สังคมเลี้ยงดูอุ้มชูให้พวกเขาเติบโตมา ภาษีประชาชนที่มาชดเชยช่วยให้ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐราคาถูก กลับสร้าง “ชนชั้นผู้มีการศึกษา” ขึ้นมาดูถูกประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูมหาวิทยาลัย การรับน้องมีส่วนสร้างกลุ่มคนที่ “อกตัญญูต่อสังคม” เหล่านี้
 
ประดิษฐ์ประเพณีใหม่
ประเพณีต่างๆ ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมารับใช้ยุคสมัยของมัน สนองสังคมที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา แต่ประเพณีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว มักกลับมาครอบงำคน จนกระทั่งคนที่เดินตามมันหลงลืม ไม่รู้แล้วว่าคุณค่าของประเพณีนั้นๆ คืออะไร แล้วก็เลยไม่ทันได้ตรวจสอบทบทวนว่ามันยังมีประโยชน์สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่
 
ผมอยากเสนอว่า ในยุคสมัยของพวกคุณ คุณน่าจะมาคิดกันว่า จะรับน้องหรือไม่? จะรับกันไปทำไม? หากจะทำกิจกรรมบางอย่างทดแทน จะทำอะไร? จะทำไปเพื่ออะไร?
 
ผมคิดว่าเราควรจะคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน อย่างถึงลูกถึงคน อย่างหลากหลายแง่มุม อย่างสุดทางของเหตุผลและระบบคุณค่า
 
มาทบทวนกันว่า พวกคุณยังต้องการสร้างและสืบทอดระบบอุปถัมภ์อยู่หรือไม? พวกคุณยังอยากแยกตนเองเป็นชนชั้นผู้มีการศึกษาอยู่หรือไม่? หรืออย่างน้อย พวกคุณยังอยากทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตรวจสอบสงสัย หรือดัดแปลงหรือไม่?
 
เราไม่ควรพูดเลี่ยงเพียงแค่ด้วยสำนวนที่ว่า “ความคิดใครความคิดมัน มุมมองใครมุมมองมัน” เพราะถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมที่ “รุ่นน้อง” ถูกทำให้ต้องยอมรับอย่างจำยอม ไม่ใช่เพราะ “ความคิดใครความคิดมัน” การพูดว่าความคิดใครความคิดมันเป็นการกลบเกลื่อนการใช้อำนาจเหนือการแลกเปลี่ยนเชิงเหตุผลของคนในประชาคม
 
ประเพณีธรรมศาสตร์
บอกแล้วว่าประเพณีของยุคไหนก็เป็นเรื่องที่แต่ละยุคต้องคิดกันเอาเอง ผมคิดแทนไม่ได้ แต่อยากเสนอแนวทางหนึ่งไว้เป็นข้อคิดว่า การจะตัดสินว่า จะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันคิดถึง “คุณค่า” คิดถึง “ความหมายที่ลึกซึ้ง” ของยุคสมัย และค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะตนของประชาคม เพื่อที่เราจะได้นำเสนอคุณค่าที่แตกต่าง เป็นเอกเทศ แบบเท่ๆ ของเราเองให้กับสังคม
 
ผมคิดถึงคุณค่า “ธรรมศาสตร์” ที่ไม่ต้องเลี่ยนมาก ไม่ต้อง “ธรรมส้าดธรรมศาสตร์” ไม่ต้องอ้างคาถา 14 ตุลา, 6 ตุลา, ปรีดี, ป๋วย กันตลอดเวลาหรอก ตอนผมเรียน ผมก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องพวกนี้มากนักหรอก มันน่าเบื่อจะตาย ถูกกรอกหูจากรุ่นพี่ตลอด
 
เพียงแต่อย่าลืมว่า พวกคุณเป็นหนี้สังคมไทยอย่างไร ลำพังเงินบิดามารดาคุณไม่สามารถลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง ให้มีเงินจ้างอาจารย์มาสอน ให้มีเพื่อนๆ ดีๆ มีคนที่มีคุณภาพของสังคมมาให้คบหาประชาคมกันได้หรอก พวกคุณจึงเป็นหนี้สังคมที่สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบนี้ขึ้นมา
 
แต่คุณค่าของธรรมศาสตร์คืออะไร? ธรรมศาสตร์ในยุคของคุณคืออะไร? ธรรมศาสตร์ที่คุณจะสร้างต่อไปคืออะไร? ธรรมศาสตร์สมัยนี้ควรสืบทอดและสร้างอะไรใหม่? ธรรมศาสตร์ควรประดิษฐ์ประเพณีรับน้องของตนเองแบบใด? หรือธรรมศาสตร์ไม่ต้องการการรับน้องอีกต่อไปแล้ว? เป็นเรื่องที่ต้องตรองกันดู

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://socanth.tu.ac.th

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา