Skip to main content

เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่

เมื่อเคยมาหลายครั้งแล้ว สิ่งที่หายไปก็คือความตื่นเต้นกับสถานที่ต่าง ๆ เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ เป็นเมืองที่จักรพรรดิเคยประทับอยู่ และจนบัดนี้ก็ยังมาประทับอยู่ จึงเป็นเมืองที่มีสถานที่สำคัญ ๆ มากมาย ทั้งวัด ทั้งวัง ทั้งศาลเจ้า ทั้งย่านที่มีลักษณะเด่นทางวัฒนธรรม และจึงเป็นเมืองที่เพื่อนนักวิชาการญี่ปุ่นเล่าว่า ได้รับการลงทุนดูแลด้านการรักษามรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดีเยี่ยม ผมว่าน่าจะจริงตามนั้น เพราะสถานที่โบราณเก่าแก่ต่างก็ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่แทบจะดูใหม่เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ มากี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เคยเห็นที่ไหนหมอง แต่ละครั้งก็มักจะได้เห็นสถานที่ที่เคยไปเมื่อปีก่อนหน้า หรือสองปีก่อน ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีเสมอ

ก็ด้วยว่ามาหลายครั้งนี่เอง ผมก็มีโอกาสได้ตระเวนเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ มีชื่อเสียงไปแทบจะครบถ้วนทุกที่แล้ว ยังขาดอยู่ไม่กี่แห่ง ที่เมื่อมาอยู่นาน ๆ ก็เลยยิ่งผลัดผ่อนว่า "เอาไว้วันหลังค่อยไป" อยู่ทุกสุดสัปดาห์ แต่การได้มาอยู่นาน ๆ ก็ทำให้เห็นอีกจังหวะชีวิตของผู้คนที่อยู่นอกเส้นทางและพื้นที่นักท่องเที่ยวเด่นชัดขึ้น

เมื่อมาถึงตั้งแต่ต้นปีนี้ (2559) เดือนแรก (มกราคม) ผมต้องพักหอพักนอกมหาวิทยาลัยก่อนหนึ่งเดือน เพราะหอพักของมหาวิทยาลัยเต็ม ที่นี่คงมีปัญหาเรื่องการจัดหาที่พักมากพอสมควร เพราะผมมาทีไรก็มักต้องย้ายที่พักเสมอ บางครั้งใน 15 วันต้องย้ายถึง 3 ที่ก็มี มีนักวิจัยจากออสเตรเลียคนหนึ่งเพิ่งเล่าให้ฟังว่า เขาเองเพิ่งมาถึงและรู้ตัวว่าต้องย้ายที่อยู่ถึง 3 ครั้งกว่าจะลงตัว สำหรับผม ย้ายครั้งเดียวนี่ถือว่าโชคดีแล้วจริง ๆ

ที่พักเดือนแรกเป็นห้องห้องเดียวขนาดแค่วางเตียงนอนคนเดียวได้เตียงหนึ่งก็เกือบเต็ม มีโต๊ะนั่งเล่นตั้งพื้นแบบญี่ปุ่นมุมหนึ่ง มีทีวีขนาดย่อมวางบนชั้นเตี้ย ๆ มุมหนึ่ง มีตู้เย็นย่อม ๆ ตัวหนึ่ง โต๊ะทำงานซึ่งส่วนใหญ่ผมใช้กินข้าวขนาดจิ๋วตัวหนึ่งกับเก้าอี้พับจิ๋วอีกตัว อีกมุมเป็นที่ทำกับข้าวอยู่ในห้องเดียวกันนั่นแหละ อยู่บริเวณหน้าห้องน้ำที่แค่พอวางอ่างอาบน้ำแคบ ๆ อ่างล้างหน้าเล็ก ๆ กับส้วมชักโครก ส่วนครัวมีอ่างล้างจาน พื้นที่เตรียมอาหารกับเตาแก้สที่มีหัวเดียว บริเวณครัวดีหน่อยที่มีชั้นเก็บของพอสมควร ใช้เก็บถ้วยชามแก้วช้อนส้อมกับอุปกรณ์ครัวอื่น ๆ ได้พอสมควรทีเดียว

พื้นที่อีกส่วนคือระเบียงด้านนอก จะเรียกระเบียงก็ไม่ถูกนัก แต่เป็นบริเวณแคบ ๆ บนพื้นคอนกรีต ที่มีประตูเลื่อนเปิดออกไปจากห้องได้ เนื่องจากห้องไม่มีหน้าต่าง ประตูเลื่อนก็เป็นกระจกฝ้า ทางเดียวที่จะรับแสงได้ก็ผ่านกระจกฝ้านี้ แต่ห้องมีม่านสีทึบให้ ทำให้ปิดแล้วมืด สามารถนอนตื่นสายได้พอสมควร เมื่อเปิดบานเลื่อนออกไปก็เป็นพื้นที่แคบ ๆ มีเครื่องซักผ้าวางอยู่เครื่องหนึ่ง เข้าใจว่าคงมีห้องละเครื่อง ซักเสร็จก็ตากราวเหนือเครื่องซักผ้า ในห้องมีตู้เก็บเสื้อผ้า แต่เนื่องจากอยู่เดือนเดียว ส่วนใหญ่ผมก็ใช้กระเป๋าเดินทางนั่นแหละเป็นตู้เสื้อผ้า ไม่ได้ย้ายเสื้อผ้าออกมาใส่ตู้ให้วุ่นวายอะไร

พื้นที่เท่านี้กับการตกแต่งเรียบง่าย รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก้ส ทุกอย่างจะใช้ไม่ใช้เท่าไหร่ก็แล้วแต่ เป็นเงิน 90,000 เยนเศษ คือร่วมเดือนละ 30,000 บาทไทย เรียกว่าราคาสูงที่สุดเท่าที่ผมเคยอยู่มาในชีวิต แต่เพราะผมไม่เคยอยู่เมืองใหญ่ ๆ ที่แพง ๆ อย่างนิวยอร์ค หรือซานฟราสซิสโก ผมก็เลยรู้สึกว่าราคานี้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเมืองอย่างแมดิสัน รัฐวิสคอนซินที่ผมเคยอยู่ ห้องเท่านี้ สภาพอย่างนี้ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยแค่เดินสัก 15 นาทีอย่างนี้ อย่างมากก็จ่ายเดือนละ 500 ดอลล่าเท่านั้น ก็สัก 18,000 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ถ้าจ่ายเท่านี้แล้วไกลมหาวิทยาลัยออกมาหน่อย ที่ผมอยู่ที่แมดิสันปีที่แล้วก็ต้องได้ห้องขนาด 1 ห้องนอนที่อยู่ได้ทั้งครอบครัวพ่อ-แม่-ลูกสบาย ๆ เลย

กับห้องพักแบบนี้ ที่ดีก็คือทำให้ต้องออกไปนั่งที่ห้องทำงาน ซึ่งมีขนาดและความเพียบพร้อมของอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน มีกระทั่งอ่างล้างหน้าในห้องทำงาน ทำให้ผมไปนั่งที่ทำงานแทบทุกวันรวมทั้งเสาร์-อาทิตย์ แม้ไปนั่งเล่น ก็ยังดีกว่านั่งอยู่ที่หอพัก ห้องทำงานผมมีหน้าต่างบานใหญ่ อยู่ชั้นบนสุดของอาคารนั้นคือชั้น 4 แล้วเมืองเกียวโตย่านมหาวิทยาลัยก็แทบไม่มีตึกสูง ทำให้มีมุมมองที่ไกลไปจนเห็นภูเขารอบเมืองเกียวโต ผมก็แปลงห้องทำงานเป็นที่นั่งจิบกาแฟ ห้องทำงานผมมี 3 โต๊ะ มีเก้าอี้ 5 ตัว เป็นโต๊ะ-เก้าอี้สำหรับนั่งจิบชา-กาแฟชุดหนึ่ง ถ้าเบื่อนั่งโต๊ะหนึ่ง ก็ย้ายไปอีกโต๊ะหนึ่ง หรืออย่างมากถ้าเบื่อในห้อง ก็ออกไปเดินหาหนังสือในห้องสมุด หรือไม่ก็ไปเดินเล่นริมแม่น้ำกาโม (Kamo) เมื่อไหร่ก็ได้ แม่น้ำนี้มีน้ำไหลเอื่อย ๆ จากภูเขา มีมุมมองกว้างไกล เป็นสวนสาธารณะตลอดลำน้ำช่วงที่ผ่านเมือง

อยู่นี่แต่ละวัน ตื่นเช้าขึ้นมาถ้าไม่ทำกาแฟดื่มตอนเช้ากับขนมปังปิ้งทาเนยง่าย ๆ ที่หอพัก ก็ถีบจักรยานออกไปหาขนมอบสารพัดจากร้านขนมอบใกล้มหาวิทยาลัย ในระยะ 2 กิโลเมตรนี่มีอย่างน้อย 5 ร้าน การเดินทางแต่ละวันผมอาศัยจักรยาน ซึ่งก็โชคดีมีนักวิชาการไทยรับมรดกต่อมาจากนักวิชาการประเทศไหนอีกกี่ต่อก็ไม่ทราบ จักรยานคันนี้ยังอยู่ในสภาพดีมาก มีอุปกรณ์ครบครัน ผมอาศัยจักรยานนี้เป็นพาหนะหลักสำหรับเดินทางไปไหนมาไหนในเมือง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้เดือนหนึ่งแล้ว เพิ่งได้นั่งรถไฟเพียงครั้งเดียว คือวันที่ต้องไปเจอเพื่อนที่โอซากา นอกนั้นผมก็ถีบจักรยานไปไหนมาไหนตลอด ระยะทางจากหอพักนี่ไปที่ทำงานก็ไม่ถึง 2 กิโลเมตรดีนัก สัก 5 นาทีในอุณหภูมิ 10 เซลเซียสบ้าง ลบ 1 บ้าง 5 องศาเซลเซียสบ้าง ยังไม่ทันหนาวดีหรือยังไม่ทันเหงื่อซึมดีก็ถึงที่ทำงานแล้ว

ตกกลางวัน ถ้าวันไหนไม่มีงานเร่งรีบนัก ผมก็ออกไปหาของกิน แรก ๆ ก็กินที่โรงอาหาร ซึ่งก็สะอาดและราคาย่อมเยากว่ากินร้านข้างนอกมาก แต่หลายวันเข้าก็ชักเบื่อความซ้ำซาก เริ่มรู้สึกถึงความไร้วิญญาณของอาหารในโรงอาหาร จึงค่อย ๆ ขยับไปหาของกินที่อื่นบ้าง หรือไม่ก็ซื้อขนมปังมาเก็บไว้กินตอนกลางวันในห้องทำงานบ้าง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาหารกลางวันนอกโรงอาหารก็หลากหลาย ตั้งแต่ราเมน โซบะ ไปจนถึงถ้าวันไหนหิว ๆ ก็ข้าวราดแกงกะหรี่เนื้อสักจานนึง หรือบางวันมีอาจารย์พาไปกินข้าว ก็โชคดีได้กินอาหารญี่ปุ่นดี ๆ ที่สั่งเองไม่เป็นสักมื้อหนึ่ง

ตกเย็น ที่ผ่านมาหนึ่งเดือนมีทางเลือกการกินอยู่ 3 ทาง ทางที่หนึ่ง ไปสังสรรค์ ที่ผ่านมามีแทบทุกสัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้งนี่ต้องได้ไปร้านประเภท izakaya หรือร้านกินดื่มนั่นแหละ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผมเพิ่งมาถึงก็จึงมีคนชวนไปกินข้าวด้วยเพื่อต้อนรับบ่อยอยู่ แต่ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่มีการสัมมนาวิชาการบ่อยมาก ถ้านับว่าศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งเดียวที่มีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอน กิจกรรมที่จัดร่วมกับศูนย์ศึกษาอื่น ๆ และสถาบันอื่น ๆ และกิจกรรมที่ศูนย์จัดเองแล้ว สัปดาห์หนึ่ง ๆ มีไม่ต่ำกว่า 2 กิจกรรม บางวันมีถึง 3 กิจกรรม เมื่อจัดกิจกรรมวิชาการที่เคร่งขรึมเสร็จ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีงานสังสรรค์แลกเปลี่ยนทางวิชาการที่ไม่เคร่งขรึม คุยเรื่องนอกเรื่อง รวมทั้งเพื่อเพิ่มมิตรภาพกัน

ทางที่เลือกที่สองคือ ซื้อของกินสำเร็จรูป ถ้าไม่หาซื้อของกินเย็น ๆ อย่างซูชิบ้าง ซาชิมิบ้าง แกล้มเบียร์บ้าง สาเกบ้าง ไวน์บ้าง ผมก็ไปหาของกินร้อน ๆ อย่างราเมน โซบะ (บางทีก็โซบะเย็น) หรือไม่ก็ของกินเล่นแกล้มเบียร์แต่กินแทนมื้ออาหาร อย่างโอโคโนมิยากิ หรือไม่ก็ทาโกะยากิ แต่อาหารนอกบ้านพวกนี้กินไปหลาย ๆ มื้อเข้าก็จะเบื่อรสชาติ แถมมีรสเค็มนำ ผมก็จึงหาทางเลือกที่สาม ก็คือทำกับข้าวกินเอง

ละแวกหอพักที่ผมอยู่มีร้านขายของสดของแห้งอยู่ 3 ร้าน ร้านหนึ่งเน้นขายผัก อีกร้านหนึ่งเป็นร้านที่มีสาขามากมาย แต่ร้านที่ผมไปประจำทั้งเพราะเป็นทางผ่านทุกวันและมีของให้เลือกมาก สด ราคาไม่ต่างจากอีกสองร้านมากคือร้าน Sun Plaza แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้อยากทำกับข้าวกินเองนอกจากเบื่อรสชาติอาหารนอกบ้านแล้วก็คือ แรงจูงใจจากคุณภาพและราคา อาหารสดที่นี่สด สะอาด น่าไว้ใจมาก และของสดเหล่านี้ก็ราคาถูกกว่าซื้อกินปรุงเสร็จแล้วจากที่ร้านอาหารมากด้วย หลัง ๆ มาผมถือเป็นเรื่องสนุกที่แต่ละวันนั่งคำนวนค่าใช้จ่ายว่าวันนี้ใช้น้อยกว่าเมื่อวานเท่าไหร่ อีกส่วนที่ทำให้อยากทำกับข้าวกินเองคือเหตุที่หอพักมีเครื่องครัวให้พอสมควร ทั้งหม้อ กะทะ ถ้วย จาน ตะหลิว ฯลฯ เมื่อไม่ต้องเริ่มต้นใหม่มากนักก็จึงนึกอยากทำกินเองขึ้นมา

แรก ๆ ก็ค่อย ๆ สะสมเครื่องปรุงต่าง ๆ ที่ยากคือจะหาเครื่องปรุงก็ต้องอ่านสลากออก แต่ผมไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย ก็อาศัย app แปลบ้าง อาศัยเดาเอาบ้าง อาศัยถามพนักงานบ้าง อาศัยถามเพื่อนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นและเคยอยู่เกียวโตผ่านโลกโซเชียลมีเดียข้ามน้ำข้ามทะเลกลับไปที่เมืองไทยบ้าง ก็ได้เครื่องปรุงมาพอสมควร

จากนั้นผมก็ไปจ่ายกับข้าวแทบทุกวัน ซื้อแค่พอทำกินมื้อหรือสองมื้อ จะได้มีของสดกินเสมอ และร้านก็เป็นทางผ่านอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อมาเก็บให้เสียของ ผมพบว่าคนมาจ่ายกับข้าวกันทีละเล็กน้อยแบบที่ผมทำเหมือนกัน ที่จะมาจ่ายทีละรถเข็นใหญ่ ๆ แบบที่อเมริกานั้นไม่เห็นมีใครทำกัน แล้วผมก็ได้ลิ้มรสความสด สะอาด ของสารพัดผัก เห็ดนานาชนิด เต้าหู้หลายแบบ อาหารทะเลโดยเฉพาะปลาสด ที่ผมมักซื้อมาย่างด้วยกะทะมีตะแกรงรอง และยังได้เคยลงทุนซื้อเนื้อวัวผลิตในญี่ปุ่นราคาแสนแพงมาย่างกินเต็มชิ้นแล้วด้วย

ทางเข้าหอพักนี้มีสองทาง ทางหนึ่งจะผ่านตรอกเล็ก ๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ได้ ผมชอบมองโคนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง ที่ไม่รู้ใครเอาโตริอิหรือประตูผีอันเล็กมาวางไว้ ทำให้เสาไฟฟ้านั่นกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป อีกทางเข้าหนึ่งจะผ่านบ้านเล็ก ๆ เรียงรายติดกันหนาแน่น มีบ้านหลังหนึ่งตั้งเก้าอี้เตี้ยสีแดงไว้หน้าประตูบ้าน ซึ่งเป็นประตูไม้ที่ไม่เคยเห็นใครเข้าออกเลย แล้วเก้าอี้นี่ก็ไม่เคยเห็นมีใครนั่งด้วย ไม่ว่าจะแดดออก หิมะตก หนาวเหน็บ หรือฝนตกอย่างไร ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นในสภาพสะอาดสะอ้านเหมือนได้รับการดูแลอย่างดี

ละแวกบ้านแถวหอพักยังมีโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ทุก ๆ เช้าผมจะได้ยินเสียงเด็กวิ่งเล่นในสนามทรายขนาดใหญ่ บางวันผมก็แอบชะโงกหน้าดูจากระเบียงหลังห้อง บางวันก็ถูกปลุกด้วยเสียงเพลง Water Music ของ George Frideric Handel คีตกวียุคบารอค นั่นแสดงว่าเป็นเวลาเกือบ 9 โมงเช้า คือเวลาใกล้เข้าเรียนของนักเรียนแล้ว

อีกสองวันผมต้องย้ายจากที่นี่แล้ว ที่อยู่ใหม่เป็นหอพักของมหาวิทยาลัย อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย คงมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่น้อยไปกว่าที่หอพักนี้ แต่เมื่อไปดูสถานที่แล้ว ผมเดาว่าผมคงคิดถึงหอพักที่อยู่ขณะนี้พอสมควรทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะคุ้นเคยกับละแวกบ้านแถวนี้แล้วพอสมควร แต่ก็ผมคงต้องกลับมาหาซื้อของที่ร้านเดิมแถวนี้อยู่ดี แม้จะออกนอกเส้นทาง ก็ไม่ไกลนัก แล้วบนเส้นทางจากห้องทำงานไปหอพักใหม่ ซึ่งก็แค่ 500 เมตร ก็ไม่มีร้านขายของสดแบบนี้อยู่เลย แล้วผมคงกลับมาหาของกินที่เคยกินและที่เล็ง ๆ ไว้แต่ยังไม่ได้กิน แต่เมื่อถึงตอนนั้น ผมคงมีประสบการณ์ประจำวันใหม่ ๆ มาบันทึกอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์