Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


(ถ้า) สุราไม่ได้มีไว้ให้เมา (แล้วจะดื่มไปหาอะไรล่ะครับ)

ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งที่ร้านแถวท่าพระอาทิตย์แห่งหนึ่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองแบบที่เคยพูดไว้กับสหายว่า "รสชาติก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งร้านนี้เป๊ะแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจริงๆ" คือมันมาตรฐานเสียจนเหมือนเฟ้คไปเลย แต่นี่ชื่นชมนะครับ (เดี๋ยวเจ้าของร้านที่เฝ้า "หน้าหนังสือ" อยู่จะหันมาค้อนเอา)

แล้วก็พลันคิดไปถึงค็อกเทลรสในฝัน ที่บาร์เทนดี้ดีกรี (ความรู้) สูงท่านหนึ่ง เปรยทิ้งไว้ให้เพื่อนๆ เปรี้ยวปากเมื่อสองคืนก่อนว่า "นอกจากเหล้าเกือบ 10 ชนิดที่ชงให้พวกพี่ๆ ดื่มชิมกันแล้ว ยังมี ต้มยำกุ้ง ค็อคเทลสูตรพิเศษของพี่ชายซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ระดับนำของเมืองไทย" วิธีปรุงน่ะหรอครับ ต้องเก็บไว้เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวบาร์เทนดี้ท่านนี้ ตามแต่ว่าเมื่อไหร่ท่านจะสละเวลาชงให้สหายดื่มชิมกัน

แล้วก็พลันคิดถึงคำพูดที่สหายอีกท่านได้ยินในลิฟท์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งว่า "คณะนี้แม่มขี้เมากันทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์" ไม่ว่าคำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้พิจารณากันหน่อยเถิดว่า การดื่มสุรามีไปเพื่ออะไรกัน

ตอนทำวิจัยอยู่เวียดนาม ผมต้องฝึกอยู่เนิ่นนานกว่าจะดื่มแบบเสมอบ่าเสมอไหล่ได้พอๆ กับผู้เฒ่าวัย 70-80 ที่ประสบการณ์การดื่มโชกโชน ยิ่งในวงเหล้าของพวกทหารผ่านศึกยิ่งน่ากลัว แต่ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้ข้อมูลเรื่องราวละเอียดยืดยาวแบบตรงไปตรงมาได้ดีไปกว่าวงเหล้า ผมจึงต้องอึดฝึกปรือ "วิธีวิทยาของการเมา" ให้เข้มแข็ง

เรียกว่า "บันทึกภาคสนาม" ของผมส่วนใหญ่คือ "บันทึกจากวงเหล้า" นั่นแหละ แต่กระนั้นก็ยังล้มพับนอนไปหลายครา

คนเวียดนามหลายต่อหลายถิ่นมีมารยาทกำกับการดื่มสุราที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ไม่ดื่มสุราคนเดียว แม้ในวงเหล้า จะแอบจิบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าอยากจิบคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องเชิญทั้งวงยกแก้ว คนอื่นจะดื่มด้วยจริงหรือไม่ก็ต้องบอกให้เขารับรู้ก่อน หากจะดื่มกับใครในวงเป็นพิเศษ ก็ต้องขออนุญาตทั้งวงก่อน 

ยิ่งในพิธีกรรมของชาวไทยิ่งมีมารยาทจัด ตั้งแต่ตำแหน่งในวงเหล้า แขกนั่งตรงไหน เจ้าเรือนตรงไหน ผู้ชายตรงไหน ผู้หญิงตรงไหน ใครอาวุโสนั่งตรงไหน ฝ่ายเมีย (ซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทในเวียดนาม) ควรนั่งตรงไหน ใครควรนั่งตรงไหนจะยิ่งซับซ้อนหากมีแขกสำคัญหลายระดับ 

ใครเป็นคนรินเหล้า วิธีรินเป็นอย่างไร ต้องคอยเชียร์ให้คนดื่มอย่างไร ต้องคอยกล่าวสุนทรพจน์อย่างไร ดื่มแล้วควรกินอะไรก่อนอะไรหลัง เหล้าหมดควรทำอย่างไร อาหารหมดควรทำอย่างไร จะลุกไปเข้าห้องน้ำควรทำอย่างไร จังหวะไหนจึงกินข้าว กระทั่ง ใครควรลุกคนสุดท้าย

เหล่านี้ทำให้การดื่มเป็นพิธีกรรมทางสังคมที่ไม่ธรรมดา

แน่นอนว่าผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่ำสุราในสนามมากมาย แต่ประสบการณ์ร่ำสุราที่ไม่รู้ลืมคือการดวด "เหล้ามายห้า" สุรา 50 ดีกรี (จุดไฟติดจริงๆ ครับ) ชั้นดีของชาวไทขาวเมืองมายเจิว กับพี่ดึ๊ก นายอำเภอหนุ่มไทขาวเมืองมุน 

เหล้ามายห้าเป็นเหล้าหมักจากข้าว ผสมเครื่องเทศบางอย่าง (ที่ผมยังไม่รู้ว่าอะไร) แล้วกลั่นจนใสปิ๊ง มายห้ารสเผ็ด จัดจ้าน แต่ไม่กระด้างจนฟาดหน้าให้หงายหลัง

คืนนั้นผมกับพี่ดึ๊กดื่มกันไป คุยกันไปเรื่องโครงการรื้อฟื้นการเรียนหนังสือไทในเวียดนาม ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ พี่ดึ๊กกับผมต้องคุยเป็นภาษาเวียดนาม เพราะสำเนียงไทดำในเวียดนามที่ผมรู้ สื่อสารกับสำเนียงไทขาวถิ่นบ้านพี่ดึ๊กไม่รู้เรื่อง

เจอเพื่อนถูกคน ได้สุราถูกคอ ต่อบทสนทนากันถูกใจ ก็เผลอดื่มกันไปเรื่อย ทีละจอก ทีละจอก จนหมดขวด ราวเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปนอน

ตื่นเช้ามา ไม่มีอะไรติดค้างในหัว สมองสดใส พิธีเปิดดำเนินไปอย่างราบรื่น

บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา

ที่สำคัญคือ สุราไม่ได้ทำให้คนสิ้นสติ สูญเสียความเป็นมนุษย์ อย่างที่คนไม่รู้จักอารยธรรมของสุราเข้าใจเสมอไป หากเรารู้จักสร้างสังคมของการดื่มอย่างสร้างสรรค์ อารยธรรมสุราไทยจะกลายเป็นอารยธรรมโลก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา