Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)


 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย