ยุกติ มุกดาวิจิตร: เกียวโตกับความรู้จากซีกโลกใต้

หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง

ผมไปเกียวโตครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (CSEAS) มหาวิทยาลัยเกียวโตเชิญไปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop ก็คือ ไปอบรม เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเข้มข้นนั่นแหละ) เป็นเวลา 5 วัน ตลอด 5 วันนั้นได้ความรู้และได้ใช้สมองมากมาย

ไปครั้งนั้น ผมได้ความรู้มากมาย ได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการใหญ่ๆ ของโลกอย่าง Anthony Reid ที่ใครก็ตามที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเพียงเล็กน้อยก็ควรหางานเขามาอ่าน (มีแปลเป็นไทย) แต่ที่เหลือ ล้วนเป็นนักวิชาการจาก "ซีกโลกใต้" คือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวเอเชียตะวันออก รวมทั้งชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะแม้ญี่ปุ่นผลิตความรู้มากมาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าโลกด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมอยากรู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

หลังจากนั้น เกียวโตเชิญร่วมกิจกรรมอีก 2 โครงการ โครงการหนึ่งเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดกับหนังสือของ James Scott ชื่อ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia ("ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง : ประวัติศาสตร์ชาวอนาธิปัตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" พิมพ์ปี 2009) หนังสือเล่มนี้ถูกวิจารณ์ในแวดวงของผู้ที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทั่วโลก 

แต่กิจกรรมที่ CSEAS แห่งเกียวโตจัดคือ ไม่วิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ แต่สร้างความรู้ขึ้นมาขยายความเข้าใจจาก Scott พร้อมกันนั้น ให้นักวิชาการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้วิจารณ์ ในส่วนของผมเอง ผมอาศัยข้อมูลจากการศึกษาชาวไทในเวียดนาม มาใช้อ่านงาน Scott เล่มนี้ ซึ่งก็ทั้งได้ประเด็นจาก Scott และได้มีมุมแลกเปลี่ยนกับ Scott มากมาย สุดท้ายได้งานเขียนใหม่มาอีกชิ้นหนึ่ง ได้คิดเกี่ยวกับพื้นที่ศึกษาของตนเอง อย่างเชื่อมโยงกับประเด็นทางทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อเกิดรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

อีกโครงการหนึ่งเป็นการริเริ่มของนักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักวิทยาศาสตร์สิ้งแวดล้อมจากเกียวโต ไต้หวัน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดย Academia Sinica) ว่าด้วย "connectivity" หรือการเชื่อมต่อกันในหลายๆ ลักษณะของธรรมชาติ ผู้คน สังคม ซึ่งมีทั้งการแลกเปลี่ยนและต่อรองกับอำนาจในลักษณะต่างๆ 

โครงการนี้เป็นการทำงานข้ามสาขาวิชาและข้ามประเทศในซีกโลกใต้ โครงการนี้ไม่มีนักวิชาการจากซีกโลกเหนือร่วมเลยด้วยซ้ำ มีอยู่ 2 ครั้งที่โครงการนี้ไปสัมมนากันที่ Academia Sinica ในไทเป ทำให้ได้เห็นโลกทางวิชาการของไต้หวันพอสมควร โครงการนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012-2014 เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง

จากการร่วมงานกับ CSEAS แห่งม.เกียวโตมา 6 ปี ผมเขียนบทความใหม่ๆ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามได้ 6 ชิ้น 

2 ชิ้นครึ่ง เป็นงานว่าด้วยวิธีวิทยาหรือแนวทางและท่าทีทางวิชาการของการศึกษาภูมิภาคนี้โดยชาวภูมิภาคเอง เขียนเป็นไทย 2 (หรือนับว่าชิ้นครึ่ง) และอังกฤษ 1 ผมเรียกมันว่า "เพื่อนบ้านศึกษา" (neighbor studies) ฉบับภาษาพิมพ์ไปชิ้นหนึ่งแล้วและกำลังจะพิมพ์อีก ส่วนฉบับภาษาอังกฤษ ยังไม่ได้พิมพ์

อีก 2 ชิ้นครึ่ง เป็นบทความภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่ง กำลังเข้าสู่กระบวนการจัดพิมพ์แล้ว เป็นบทความจากโครงการที่แลกเปลี่ยนความคิดกับ James Scott ส่วนอีกชิ้นมาจากโครงการ connectivity ผมเขียนถึงนักวิชาการในเวียดนาม ในฐานะที่เป็นผู้ต่อรองอัตลักษณ์ระหว่างการเป็นชนกลุ่มน้อยกับการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเวียดนาม ภาษาอังกฤษกำลังพัฒนาเพื่อตีพิมพ์ ภาษาไทยเผยแพร่แล้ว

อีกชิ้นหนึ่ง เป็นผลมาจากการอ่านงานเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วหันมาทำความเข้าใจพัฒนาการใหม่ในภูมิภาคนี้ คือการพัฒนา ASEAN ข้นมาเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจ" ที่ในอนาคตจะพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียน ผมเขียนบทความตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ที่อาเซียนให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญ งานชิ้นนี้เผยแพร่แล้ว หาได้ทางอินเตอร์เน็ต

ขณะนี้กำลังจะเขียนเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น เป็นบททบทวนแนวทฤษฎีสำหรับศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (เมื่อไหร่แน่ ชักจำไม่ได้แล้ว) 

ขอจบรายงานการทำงานกับ CSEAS แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต หากมีโอกาสได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยเกียวโตอีก ก็คงได้เล่าเรื่องราวการเดินทาง พร้อมกับกับการแสวงหาทางปัญญาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีก

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด