Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)


 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้