Skip to main content

เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น

คนรุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นแรกๆ ที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทย คนก่อนรุ่นผมในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีการ์ตูนให้อ่านดาดดื่นแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบันเลยด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่การ์ตูนญี่ปุ่นเลย อุตสาหกรรมการ์ตูนทั้งอเมริกัน ญี่ปุ่น และไทย ก็น่าจะเริ่มที่มีคนรุ่นผมเป็นผู้บริโภคหลักนี่แหละ ในประเทศไทย การ์ตูนไม่ว่าจะสัญชาติอะไรก็ตามจึงมีภาพความเป็นเด็ก หรืออย่างน้อยก็เด็กกว่าคนรุ่นพ่อแม่ผมอยู่เสมอ พวกเขาจะไม่มีทางเข้าใจความเติบโตตามวัยของคนอ่านการ์ตูนได้เลย 

ถ้าบอกไปก็จะเป็นการฟ้องอายุเสียเปล่าๆ ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผมอ่านเมื่อเริ่มเข้าสู่ทีนเอจน่ะ รุ่นแรกๆ เลยคือ "แคนดี้" แต่เนื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นราคาแพง ผมกับพี่สาวก็จะหาทางหารายได้พิเศษด้วยการเอาของจากแถวบ้านไปขายเพื่อนที่โรงเรียน เอากำไรนิดหน่อย แล้วเก็บเงินไปซื้อการ์ตูนมาแบ่งกันอ่าน พี่สาวผมเป็นคนคิดวิธีหารายได้แบบนี้ เธอหัวการค้ามาตั้งแต่เด็กๆ เราก็เลยได้อ่านแคนดี้กันแทบจะทุกเล่มตั้งแต่เมื่อหนังสือแต่ละตอนแปลวางแผงเลยทีเดียว 

นอกจากการ์ตูนญี่ปุ่น ผมก็ชอบอ่านการ์ตูนไทยเหมือนกัน "การ์ตูนเล่มละบาท" ที่เป็นการ์ตูนช่องแบบไทยๆ ลายเส้นและเรื่องเล่าแบบไทยๆ อย่างผลงานของ "เตรียม ชาชุมพร" นับเป็นแหล่งบันเทิงอันยิ่งใหญ่อ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่รู้เบื่อ หรือไม่อาจเบื่อได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อยามฤดูร้อนที่ต้องไปอาศัยอยู่กับยายในเขตชนบทของอยุธยา ซึ่งห่างไกลจากตัวเมืองมาก จะได้การ์ตูนสักเล่ม สองเล่ม ก็จะต้องรอว่าเมื่อไหร่พวกน้าๆ จะมาเยี่ยมแล้วพานั่งเรือหางยาวเข้าเมือง ผมก็เลยให้คุณค่ากับการพาหลานไปงานการ์ตูนด้วยเหตุนี้เช่นกัน 

ย้อนกลับมางานเมื่อวาน ผมกับหลานที่มีเพื่อนจากโรงเรียนเธอติดไปด้วยอีหนึ่งคน ไปถึงงานตั้งแต่เช้า คนยังมาไม่มาก ก็จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้มาร่วมงานมากหน่อย ผมตื่นเต้นมากที่ได้พบว่า นี่มันเป็นงานนักเขียนการ์ตูนอินดี้รุ่นเยาว์เลยทีเดียว หากดูจากอายุแล้ว คนที่ผลิตการ์ตูนแล้วนำการ์ตูนมาขายเองในงานนี้ อย่างมากน่าจะอายุไม่เกิน 25 ปี ที่เด็กสุดอาจจะสัก 14-15 ปี ทั้งหมดเป็นเด็กไทย นักเขียนรุ่นเยาว์เหล่านี้เล่าว่า ปีนี้ไม่รู้เป็นอะไร งานแบบนี้จัดถี่มาก แทบจะเดือนละครั้ง พวกเขาก็คอยเอาผลงานไปขายตามงานเหล่านี้แหละ 

ภาพโต๊ะเล็กๆ เด็กวัยรุ่น ทั้งหญิงและชาย 2-5 คนนั่งเบียดเสียดกันหน้าหนังสือ รูปภาพ สมุด ที่พวกเขาผลิตกันขึ้นมาเองแล้วมาวางขายกัน รวมทั้งหมดได้สักเกือบร้อยแผง นับเป็นภาพตื่นตาตื่นใจผมเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนตัวเล็กๆ ที่หน้าตาและจิตใจสดใส แต่มีความซับซ้อนทั้งในวิธีคิดและจินตนาการ อย่างน้อยก็ในแบบที่เขาเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วกลั่นกรองมันออกมาเป็นถ้อยคำ ภาพเขียน สีสัน เส้นสาย ทำให้ผมคิดว่า สังคมการ์ตูนสมัยนี้ช่างห่างไกลจากสังคมการ์ตูนสมัยผมมากนัก สมัยก่อนผมก็ได้แต่การ์ตูนเก็บไว้อ่านคนเดียว หรือไม่ก็ให้เพื่อนดูไม่กี่คน 

นักเขียนการ์ตูนรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาส่วนหนึ่งรู้จักกันและกันผ่านโลกออนไลน์ เช่น มีนักเขียนการ์ตูนเจ้าหนึ่ง หลังงานเริ่มได้เพียง 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่คนมางานยังไม่มาก คือน้อยกว่าคนที่เอาผลงานมาขายเสียอีก แต่ผลงานของเจ้านี้หมดแล้ว หลานผมรีบไปหาซื้อสมุดสเก็ตช์ภาพว่างๆ มีเพียงปกที่มีรูปลายเส้นของเขาพิมพ์อยู่ได้มาเป็นเล่มสุดท้ายพอดี เจ้าของผลงานจึงวาดการ์ตูนลายเส้นสดๆ ให้พร้อมแจกลายเซ็น ทำเอาหลานผมปลื้มไปเลย เธอบอกว่ารู้กันดีว่านักเขียนการ์ตูนรายนี้มีชื่อเสียง หลานผมเองเธอก็ชอบวาดการ์ตูนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฝีมือใช้ได้พอสมควรทีเดียว แต่เธอหลงใหลลายเส้นของนักเขียนรายนี้มาก 

ผมได้คุยกับการ์ตูนนิสต์รุ่นเยาว์หลายคน มีเจ้าหนึ่ง นั่งกันอยู่ 5-6 คน พวกเขาจริงจังกับการเขียนนวนิยาย แล้ววาดภาพประกอบ แต่เขาคิดลูกเล่นส่วนตัวของสำนักพิมพ์เขาเองคือ การใช้ QR Code ติดแทนพิมพ์เป็นภาพประกอบลงไปในหนังสือนิยายแฟนตาซีพิมพ์กระดาษของพวกเขา แล้ว QR Code จะโยงผู้อ่านไปสู่ภาพประกอบที่ฝากไว้ในโลกออนไลน์ พวกเขาอธิบายว่าการทำภาพประกอบนิยายแบบนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าถึงภาพที่สวยงามกว่าภาพขาวดำ แล้วยังสามารถนำภาพไปพิมพ์ออกมาใช้ได้หากผู้อ่านชอบ พวกเขาอ้างว่าเป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ในการทำภาพประกอบนิยายแฟนตาซี 

ผมได้คุยกับอีกเจ้าหนึ่ง เป็นนักเขียนมังงะหรือการ์ตูนช่อง เธอมีผลงานหลายเล่มทีเดียว มักเลือกเขียนเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์หญิง-ชาย หรือบางเรื่องก็หญิง-หญิง พอผมเอื้อมมือไปหยิบเล่มหนึ่งที่หนาหน่อย แถมวางไว้หลายเล่ม แสดงว่าคงคาดว่าจะขายดี นักเขียนการ์ตูนตกใจใหญ่ เธอบอกว่า "อันนั้นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงค่ะ" ผมก็บอก "อ้าว ไม่รู้ครับ เห็นเล่มหนาๆ แค่อยากดู" แต่ผมดูก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี เพราะเดี๋ยวนี้เขานิยมทำให้เปิดแบบหนังสือญี่ปุ่น เลยกลายเป็นว่าผมเปิดจากหลังมาหน้า ดูไม่รู้เรื่อง 

อีกคนที่น่าสนใจมานั่งขายอยู่คนเดียว หลานผมสนใจเข้าไปดูด้วย ก็เลยลองคุยกับเธอดู รายนี้เล่าว่าเธอเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เรียนวรรณกรรมเยาวชน ชอบเขียนเรื่องและภาพประกอบวรรณกรรมเยาวชน หนังสือเธอน่าสนใจที่ เธอวาดรูปและเล่าเรื่องในแนวหนังสือนิทานเด็กอายุไม่เกิน 5-6 ขวบ คือใช้ตัวหนังสือน้อย ขนาดตัวใหญ่ๆ แล้วมีรูปมากหน่อยเต็มหน้ากระดาษ ขนาดหนังสือก็ใหญ่หน่อย แต่รูปและเรื่องเป็นเรื่องแฟนตาซีแต่แฝงแนวคิดเชิงปรัชญา 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ผมได้สนทนาด้วยนิดหน่อยคือนักวาดการ์ตูนในอีกห้องหนึ่ง พวกเขาและเธอ (ส่วนใหญ่ผู้หญิง) มานั่งวาด "ภาพเหมือน" แนวการ์ตูนญี่ปุ่น ตามสไตล์ของแต่ละคน ที่นั่งกันอยู่มีร่วม 50 คน แต่ละคนแสดงผลงานตนเอง เพื่อให้ผู้มาในงานได้สั่งภาพ ราคาก็ไม่แพง ถ้าเฉพาะลายเส้นก็ราวๆ 20 บาท ถ้าลงสีน้อยหน่อยก็ 50 บาท มากหน่อยก็อาจจะเป็น 100 -120 บาท แล้วแต่ขนาดของภาพด้วย แต่ส่วนมากก็ขนาดโปสการ์ดเล็กๆ หลานผมก็ร่วมมนุกด้วย เธอถ่ายภาพตัวเองลงโทรศัพท์มือถือของการ์ตูนนิสต์ 3 เจ้าด้วยกัน พอแต่ละเจ้าวาดเสร็จ เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันก็เป็นคนละสไตล์จริงๆ ชวนให้เพลิดเพลินดี 

นักเขียนการ์ตูนเหล่านี้ส่วนมากเรียนมาทางศิลปะ จึงมีทักษะในการเขียนภาพค่อนข้างดี แถมพวกเขายังมีสไตล์ขของตัวเอง มีคนหนึ่งที่ผมชอบเลยเข้าไปคุยด้วย เป็นหนุ่มเรียนสถาปัตย์ ชอบวาดรูปโมโนโครม ลายเส้นแบบสถาปัตย์ คือมีการตัดขอบเส้นคมๆ ด้วยปากกา แต่อีกสไตล์ที่ผมชอบคือ เขาชอบวาดแนวพู่กันจีน เขาใช้พู่กันสมัยใหม่ที่บีบสีออกมาจากด้ามเลย แล้ววาดรูปลงน้ำหนักตามความจางหรือเข้มของนำ้หมึก แต่คงไม่มีใครชอบสไตล์เขานัก ผิดกับนักเขียนภาพผู้หญิง ที่วาดรูปกุ๊กกิ๊กน่ารัก บางคนลงสีแก้มการ์ตูนแดงเรื่อย แบบเดียวกับที่เธอแต่งหน้าตัวเอง สไตล์สีสันและลายเส้นหวานๆ ถูกจริตกับชาวการ์ตูนในงานนี้ที่มีเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เจ้าหนุ่มที่ผมชอบงานเขาก็เลยยังไม่มีคนจ้าง 

ก่อนจะกลับ ช่วงบ่ายต้นๆ คนเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนแต่ง "คอสเพล" เริ่มเดินกันขวั่กไขว่ ที่จริงหลานผมก็ขนชุดไปแต่งคอสเพลในงานเหมือนกัน แต่เป็นคอสเพลบ้านๆ เธอใส่ไม่นานแล้วถอดเสียก่อน ไม่ใช่เพราะอายหรอก แต่เพราะอยากถ่ายรูปให้นักเขียนการ์ตูนวาดมากกว่า  

งานนี้ทั้งงานเปิดหูเปิดตาผมมาก ไม่นึกมาก่อนเลยว่าสังคมของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในบ้านเราพัฒนามาได้ถึงเพียงนี้ พวกเขามีโลกของตัวเอง มีแวดวงของตัวเอง มีความคิดความใฝ่ฝันของพวกเขาเอง เห็นเด็กกลุ่มนี้แล้วผมว่าโลกมีความหวังอย่างไรก็ไม่ทราบ ไม่ว่าพวกเขาจะเข้าใจโลกกว้างอย่างไร อย่างน้อยตัวหนังสือ ความคิด จิตนาการ เส้นสาย และสีสัน คงจะขัดเกลาให้พวกเขาเป็นคนที่มีคุณภาพและรู้จักรักเพื่อนมนุษย์มากยิ่งกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่พวกเขา และเผ็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง เป็นระบบ ต่อไปได้อีกมาก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์