Skip to main content


วันนี้ไปปราสาทสมบอรไปรกุก ออกไปนอกเมืองเสียมเรียบอย่างไกล ประทับใจเส้นทางและชีวิตชนบท ผู้รู้บอกเล่าว่า กลุ่มปราสทานี้เป็นแบบ "ก่อนพระนคร" ร่วมสมัยกับปราสาทจามที่เวียดนาม เป็นอิฐก่อแล้วสลักอิฐ เร่ิมมีหินสลักบ้างบนทับหลัง

แต่เมื่อวาน ตะลุยปราสาทสำคัญๆ อย่างหนักหน่วง จนนึกถึงว่าถ้าสังขารแย่กว่านี้คงเอ็นฉีกและลมจับเป็นระยะแน่ ถ้าเล่าย้อนไป คือไปชมปราสาทเนี้ยกปัง (นาคพัน) เปรียขัน (พระขรรค์) และตาพรม ที่เด่นคือตาพรมที่มีรากไม้พันเกี่ยวกอดก่ายปราสาทและกำแพง


แต่ช่วงเช้าวานอุทิศให้กับนครวัด ที่เขาว่าชมนครวัดแล้วตายตาหลับ ที่จริงอยากบอกว่า ชมนครวัดแล้วแทบจะตาย คือทั้งร้อนทั้งเดินไกลทั้งปีนป่ายสูงชัน แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีทางพบได้ในโบราณสถานใดๆ ของตอแหลแลนด์อย่างเด็ดขาด

ที่นครวัด ตั้งแต่ปากทางเข้า แค่เพียงประตูแนวแรก ก็เพลิดเพลินตะลึงงันกับนางอัปสร จนสาละวนอยู่นาน พอดีแดดสวย จึงทั้งถ่ายภาพและชื่นชมอย่างละเลียด กระทั่งใกล้เวลานัด จึงนึกขึ้นมาได้ว่า ยังไม่ได้ชมภาพกองทัพ "เสียมกุก" ตามคำอ่านและการตีความของจิตร ภูมิศักดิ์

เมื่อไปหาดูที่กำแพงทิศใต้ ทีแรกกังวลว่าจะหาภาพกองทัพเสียมกุกเจอไหม เพราะเหลืออยู่ตัวคนเดียว ไกด์กับชาวคณะล่วงหน้่าไปก่อนแล้ว แต่ก็หาพบจนได้ คงเพราะเห็นรูปนี้จนชินตาจากการอ่านงานของจิตร

เมื่อเห็นแล้วก็เข้าใจได้ว่า ทำไมจิตรถึงเห็นภาพความเกรียงไกรกองทัพเสียมกุก เพราะขนาดของภาพสลักเสียมกุกใหญ่กว่าที่คิดมาก ภาพสะดุดตาคือตัวแม่ทัพ การแต่งกาย และอากัปกิริยาที่พิศดารไร้ระเบียบแปลกตาต่างไปจากกองทัพอื่นๆ 

ภาพกองทัพสักสิบกว่ากองได้เรียงรายอยู่บนผนังระเบียง และหนึ่งในนั้นคือเสียมกุก ทำให้เข้าใจได้อีกเช่นกันว่า เสียมกุกน่าจะยิ่งใหญ่พอให้ถูกบันทึกไว้บนระเบียงนครวัดได้
 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี