Skip to main content

ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง

แต่ที่ประทับใจจริงๆ เห็นจะได้แก่แสงและที่ว่างในเมืองเสียมเรียบ ความร่มรื่นของโบราณสถาน การปิคนิค และลักษณะเฉพาะตัวของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปคือ เมืองเสียมเรียบยามค่ำคืนสวยงามมาก ไม่ใช่ด้วยความสว่างไสว แต่ด้วยความสลัวมัวซัว เสียมเรียบไม่สว่างจ้า หากไม่นับร้านประเภทสะดวกซื้อแล้ว ไม่ว่าจะร้านไหน สถานที่ราชการ หรือจะเป็นโรงแรมใหญ่โต บริษัทห้างร้าน ถนนหนทาง เสียมเรียบจะส่องสว่างเพียงแสงเรื่อเรือง ไม่จัดจ้า น้อยที่มากที่จะปล่อยแสงนีออนขาวแสบตา แต่ละที่ล้วนคุมความเข้มแสงไว้เพียงไฟสีเหลือง 

น่ายินดีที่แสงจ้าของนีออนซึ่งได้ทำลายเสน่ห์ของเมืองต่างๆ ไปเสียแล้ว ยังไม่สามารถทำลายความงามของแสงสลัวในเสียมเรียบได้ อยากจะหวังว่านโยบายแสงสลัวจะยังอยู่คู่เสียมเรียบต่อไปอีกนาน

เสียมเรียบมีที่ว่างมากมาย ประชากรจำนวนเบาบางคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดที่ว่างเหล่านี้ ที่ใดมีคูน้ำ ก็เหมือนกับจะถูกเติมแต้มด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ ตลอดไปจนถึงชานเมืองและในชนบท ที่ว่างในเสียมเรียบปกคลุมไม่เพียงสถานที่ราชการ โรงแรม หรือกระทั่งในที่ซึ่งเรียกว่าสถานบันเทิงยามค่ำคืน หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ ไม่ใช่ว่าที่ว่างหน้าสถานบันเทิงหรือร้านอาหารจะเป็นเพียงที่จอดพาหนะ แต่ยังเป็นสวนร่มรื่น 

นอกจากที่ว่างทางราบแล้ว เสียมเรียบยังเก็บที่ว่างทางสูงไว้ ด้วยกฎห้ามสร้างอาคารสูงเกินสี่ชั้น จึงไม่ต้องมีการแข่งกันสร้างหอคอยสูงตระหง่าน เอาไว้นอนชมปราสาทนครวัดกันแต่เพียงผู้มั่งคั่งร่ำรวย

โบราณสถานแต่ละแห่งที่ไป ยกเว้นแต่เพียงปราสาทนครวัด แต่ละแห่งล้วนร่มรื่น (ที่จริงนครวัดเองบริเวณโดยรอบก็ร่มรื่น) ถ้าไม่นับปราสาทบางปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุมตัวอาคารอยู่ ปราสาทหลายต่อหลายแห่งน่าปูเสื่อนั่งจิบไวน์หรือเอาอาหารไปนั่งกินกันอย่างยิ่ง ที่ที่ประทับใจในความร่มรื่นที่สุดสำหรับผมคือปราสาทสมบอรไปรกุก ซึ่งตั้งอยู่ในป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้หลายหลากชนิด ทั้งแสงที่ลอดใบไม้ลงมา ทั้งเสียงนกกา ทั้งลมเอื่อยๆ ทำให้การชมปราสาทต้องถูกรบกวนด้วยความงามของธรรมชาติเป็นระยะๆ 

บางปราสาทที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก ยิ่งน่าอภิรมณ์ เพราะไม่มีเสียงโหวกเหวกของนักท่องเที่ยว ที่ไม่รู้จะเดินทางมาแสนไกลเพื่อมาตะโกนคุยกันไปทำไม จะได้ยินเสียงนกร้องท่ามกลางแมกไม้ ช่วยให้การปีนป่ายก้อนหินเหล่านี้ได้อรรถรสมากขึ้น

สิ่งที่ดูแปลกตาน่าศึกษาอีกประการคือ การปิคนิคของชาวกัมพูชา คนเสียมเรียบนิยมพาครอบครัวไปนั่งปูเสื่อปูผ้า กินข้าวหรือเพียงนั่งเล่นนั่งคุยกันตามสวนสาธารณะ ตามริมถนนที่ร่มรื่น หรือตามโบราณสถาน หรือแม้แต่ตามข้างถนนระหว่างจังหวัดบริเวณที่มีร่มไม้ ผมไม่แน่ใจว่ามีคนไทยกี่มากน้อยที่ทำอย่างนี้ แต่ตอนเด็กๆ พ่อแม่มักพาครอบครัวผมไปเที่ยวปิคนิคตามที่ต่างๆ อย่างนี้เหมือนกัน 

ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมชาวเสียมเรียบจึงชอบปิคนิคกัน แต่นึกถึงจากประสบการณ์ผมเองแล้ว ก็เดาว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้เปลี่ยนบรรยากาศการสังสันท์ของครอบครัว จากในบ้านที่คับแคบและร้อนระอุ มายังที่โปร่งโล่งและลมเชย ก็ทำให้มีความสุขอย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน

ถ้าไม่นับบางปราสาทดังๆ อย่างนครวัดแล้ว แม้ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับโบราณสถานแต่ละแห่ง ผมก็ประทับกับลักษณะเฉพาะของปราสาทแต่ละแห่ง หากไม่พยายามระลึกชื่อปราสาท ชื่อผู้สร้าง ศักราชที่สร้าง และเทพเจ้าประจำแต่ละปราสาท ผมก็จะจำปราสาทแต่ละที่ได้จากเอกลักษณ์ของปราสาทแต่ละแห่ง เช่น มีปราสาทที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมทั่วไปหมด ปราสาทที่มีน้ำท่วมเต็มไปหมด ปราสาทที่สร้างให้มีสระน้ำในนั้น ปราสาททรงปิรามิด ปราสาทอิฐ ปราสาทที่มีหน้าคนบนยอด ปราสาทที่มีมอสเยอะ ปราสาทที่ล้มระเนระนาดแทบจะทั้งหมด 

ความเฉพาะตนของปราสาทเหล่านี้ทำให้ทึ่งว่า มนุษย์ช่างจินตนาการกับหินให้กลายเป็นพื้นที่และรูปทรงลักษณะต่างๆได้มากมายเพียงนี้ได้อย่างไรกัน ผมคิดถึงว่า หากเอาหินให้ผมทำอะไรให้แตกต่างกันสักห้าก้อน ผมก็คงหมดปัญญาคิดอะไรแปลกใหม่ไปตั้งแต่หินก้อนที่สามแล้ว แต่คนโบราณเหล่านี้ทำไมจึงช่างสร้างสรรค์อะไรได้ไม่รู้จบมากมายขนาดนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย