Skip to main content

ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง

แต่ที่ประทับใจจริงๆ เห็นจะได้แก่แสงและที่ว่างในเมืองเสียมเรียบ ความร่มรื่นของโบราณสถาน การปิคนิค และลักษณะเฉพาะตัวของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปคือ เมืองเสียมเรียบยามค่ำคืนสวยงามมาก ไม่ใช่ด้วยความสว่างไสว แต่ด้วยความสลัวมัวซัว เสียมเรียบไม่สว่างจ้า หากไม่นับร้านประเภทสะดวกซื้อแล้ว ไม่ว่าจะร้านไหน สถานที่ราชการ หรือจะเป็นโรงแรมใหญ่โต บริษัทห้างร้าน ถนนหนทาง เสียมเรียบจะส่องสว่างเพียงแสงเรื่อเรือง ไม่จัดจ้า น้อยที่มากที่จะปล่อยแสงนีออนขาวแสบตา แต่ละที่ล้วนคุมความเข้มแสงไว้เพียงไฟสีเหลือง 

น่ายินดีที่แสงจ้าของนีออนซึ่งได้ทำลายเสน่ห์ของเมืองต่างๆ ไปเสียแล้ว ยังไม่สามารถทำลายความงามของแสงสลัวในเสียมเรียบได้ อยากจะหวังว่านโยบายแสงสลัวจะยังอยู่คู่เสียมเรียบต่อไปอีกนาน

เสียมเรียบมีที่ว่างมากมาย ประชากรจำนวนเบาบางคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดที่ว่างเหล่านี้ ที่ใดมีคูน้ำ ก็เหมือนกับจะถูกเติมแต้มด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ ตลอดไปจนถึงชานเมืองและในชนบท ที่ว่างในเสียมเรียบปกคลุมไม่เพียงสถานที่ราชการ โรงแรม หรือกระทั่งในที่ซึ่งเรียกว่าสถานบันเทิงยามค่ำคืน หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ ไม่ใช่ว่าที่ว่างหน้าสถานบันเทิงหรือร้านอาหารจะเป็นเพียงที่จอดพาหนะ แต่ยังเป็นสวนร่มรื่น 

นอกจากที่ว่างทางราบแล้ว เสียมเรียบยังเก็บที่ว่างทางสูงไว้ ด้วยกฎห้ามสร้างอาคารสูงเกินสี่ชั้น จึงไม่ต้องมีการแข่งกันสร้างหอคอยสูงตระหง่าน เอาไว้นอนชมปราสาทนครวัดกันแต่เพียงผู้มั่งคั่งร่ำรวย

โบราณสถานแต่ละแห่งที่ไป ยกเว้นแต่เพียงปราสาทนครวัด แต่ละแห่งล้วนร่มรื่น (ที่จริงนครวัดเองบริเวณโดยรอบก็ร่มรื่น) ถ้าไม่นับปราสาทบางปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุมตัวอาคารอยู่ ปราสาทหลายต่อหลายแห่งน่าปูเสื่อนั่งจิบไวน์หรือเอาอาหารไปนั่งกินกันอย่างยิ่ง ที่ที่ประทับใจในความร่มรื่นที่สุดสำหรับผมคือปราสาทสมบอรไปรกุก ซึ่งตั้งอยู่ในป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้หลายหลากชนิด ทั้งแสงที่ลอดใบไม้ลงมา ทั้งเสียงนกกา ทั้งลมเอื่อยๆ ทำให้การชมปราสาทต้องถูกรบกวนด้วยความงามของธรรมชาติเป็นระยะๆ 

บางปราสาทที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก ยิ่งน่าอภิรมณ์ เพราะไม่มีเสียงโหวกเหวกของนักท่องเที่ยว ที่ไม่รู้จะเดินทางมาแสนไกลเพื่อมาตะโกนคุยกันไปทำไม จะได้ยินเสียงนกร้องท่ามกลางแมกไม้ ช่วยให้การปีนป่ายก้อนหินเหล่านี้ได้อรรถรสมากขึ้น

สิ่งที่ดูแปลกตาน่าศึกษาอีกประการคือ การปิคนิคของชาวกัมพูชา คนเสียมเรียบนิยมพาครอบครัวไปนั่งปูเสื่อปูผ้า กินข้าวหรือเพียงนั่งเล่นนั่งคุยกันตามสวนสาธารณะ ตามริมถนนที่ร่มรื่น หรือตามโบราณสถาน หรือแม้แต่ตามข้างถนนระหว่างจังหวัดบริเวณที่มีร่มไม้ ผมไม่แน่ใจว่ามีคนไทยกี่มากน้อยที่ทำอย่างนี้ แต่ตอนเด็กๆ พ่อแม่มักพาครอบครัวผมไปเที่ยวปิคนิคตามที่ต่างๆ อย่างนี้เหมือนกัน 

ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมชาวเสียมเรียบจึงชอบปิคนิคกัน แต่นึกถึงจากประสบการณ์ผมเองแล้ว ก็เดาว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้เปลี่ยนบรรยากาศการสังสันท์ของครอบครัว จากในบ้านที่คับแคบและร้อนระอุ มายังที่โปร่งโล่งและลมเชย ก็ทำให้มีความสุขอย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน

ถ้าไม่นับบางปราสาทดังๆ อย่างนครวัดแล้ว แม้ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับโบราณสถานแต่ละแห่ง ผมก็ประทับกับลักษณะเฉพาะของปราสาทแต่ละแห่ง หากไม่พยายามระลึกชื่อปราสาท ชื่อผู้สร้าง ศักราชที่สร้าง และเทพเจ้าประจำแต่ละปราสาท ผมก็จะจำปราสาทแต่ละที่ได้จากเอกลักษณ์ของปราสาทแต่ละแห่ง เช่น มีปราสาทที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมทั่วไปหมด ปราสาทที่มีน้ำท่วมเต็มไปหมด ปราสาทที่สร้างให้มีสระน้ำในนั้น ปราสาททรงปิรามิด ปราสาทอิฐ ปราสาทที่มีหน้าคนบนยอด ปราสาทที่มีมอสเยอะ ปราสาทที่ล้มระเนระนาดแทบจะทั้งหมด 

ความเฉพาะตนของปราสาทเหล่านี้ทำให้ทึ่งว่า มนุษย์ช่างจินตนาการกับหินให้กลายเป็นพื้นที่และรูปทรงลักษณะต่างๆได้มากมายเพียงนี้ได้อย่างไรกัน ผมคิดถึงว่า หากเอาหินให้ผมทำอะไรให้แตกต่างกันสักห้าก้อน ผมก็คงหมดปัญญาคิดอะไรแปลกใหม่ไปตั้งแต่หินก้อนที่สามแล้ว แต่คนโบราณเหล่านี้ทำไมจึงช่างสร้างสรรค์อะไรได้ไม่รู้จบมากมายขนาดนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา