Skip to main content

 

 
แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากเข้ามาและออกไปจากเฟซบุคเป็นประจำ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า การออกไปจากเฟซบุคของผมเป็นเสมือนการฆ่าตัวตายไปจากโลกของเฟซบุค อย่างน้อยก็เป็นการฆ่าตัวตายในฐานะของบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เพจที่สร้างขึ้นมาปลอมๆ เล่นๆ เพื่อนๆ ถามกันพอสมควรว่า ทำไมผมจึงเลือกทำเช่นนั้น
 
เมื่อเร็วๆ นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตไป คือลาจากโลกนี้ไปจริงๆ เพื่อนคนนี้มีเฟซบุคเพจอยู่ เขาไม่ได้ยกเลิกเพจของตนเองก่อนตาย ก็ใครจะรู้ว่าตนเองจะตาย และใครจะเตรียมตัวตายกันขนาดต้องยกเลิกเฟซบุคก่อนจะตาย แต่ที่ทำให้เพื่อนๆ ตกอกตกใจคือ เมื่อเพื่อนๆ ไปงานศพ เฟซบุคเพื่อนคนนี้กลับตอบมาว่า "ขอบคุณทุกๆ คนที่ไปงานศพเรา" แน่นอนว่าไม่มีทางที่ผีจะมาเขียนเฟซบุค เป็นลูกชายของเขาเองนั่นแหละที่เขียนคำขอบคุณแทนพ่อ เพียงแต่ลืมบอกลุงๆ ป้าๆ ไปว่าตนเองคือลูกชาย
 
แต่หากจะพูดถึงการตายในเฟซบุค คือตายจากไปจากเฟซบุคล่ะ จะเป็นอย่างไร
 
ผมเพิ่งเริ่มใช้เฟซบุคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อสัก 6 เดือนมานี่เอง ส่วนหนึ่งเพราะอยากรู้จักโลกนี้ เนื่องจากมีนักศึกษากำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้กับผม และมีนักศึกษาอีกจำนวนมากสนใจศึกษาเรื่องเฟซบุค แน่นอนว่า ปรากฏการณ์เฟซบุคซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันได้ดึงดูดผมเข้าสู่โลกของมัน
 
เริ่มแรกผมไม่มีเพื่อนมากมาย มีเฉพาะคนรู้จักมักคุ้นกันในโลกออนไลน์ พอเริ่มแสดงความเห็นที่ถูกใจคนจำนวนมาก ก็เริ่มมีคนขอเป็นเพื่อนมากมาย แรกๆ ก็พยายามจัดกลุ่มเพื่อน แต่พอมากเข้ามากเข้า ก็เริ่มไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เริ่มจัดการไม่ได้ ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วมีเพื่อนไม่มากมายนัก คือสัก 1,600 กว่าคน กับคนที่ subscribe (ซึ่งผมมาเปิดเอาเมื่อไม่เกิน 3 เดือน) อีกราว 600 กว่าคน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่มาขอผมเป็นเพื่อน มีเพื่อนจำนวนน้อยมากที่ผมเป็นผู้ไปขอเป็นเพื่อนเขา แม้ว่าจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ส่วนหนึ่งเพราะเกรงใจเขา ไม่อยากรบกวนพื้นที่เฟซบุคของเขา
 
ตลอดระยะเวลาที่ใช้ ผมจำแนกกลุ่มเพื่อนๆ ออกดังนี้
 
1) Friends จำนวนมากของผมเป็นคนที่ทำงานทางด้านการศึกษา นอกจากนักศึกษาแล้ว จำนวนมากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครู กระทั่งอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในวงวิชาการหลายๆ ท่านที่มาขอเป็นเพื่อนเองก็มี ที่น่าภูมิใจคือ มีนักเรียนระดับมัธยมปลายส่งข้อความขอเป็นเพื่อน ผมซักถามแล้วได้ความว่า แม่ของเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีเดียวกับผมเลย
 
2) Friends อีกจำนวนหนึ่งเป็นนักเขียน คนในแวดวงวรรณกรรม แวดวงหนังสือ แวดวงศิลปะ และวงการสื่อมวลชน ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง มีหลายคนที่ผมนิยมชมชอบงานเขาอยู่แล้ว และยิ่งดีใจที่เขามาขอเป็นเพื่อน ผมได้เรียนรู้การเขียนหนังสือ การเขียนรูป ความคิดในการสื่อสาร จากเพื่อนๆ กลุ่มนี้มากมาย
 
3) Friends อีกจำนวนหนึ่งเป็นคนที่มีความสนใจทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน คนเหล่านี้ติดตามกิจกรรมทางการเมืองของผม ติดตามกิจกรรมสาธารณะของผม เพื่อนกลุ่มนี้มักนำเสนอข่าวสารทางการเมือง นำเสนอทัศนะทางการเมือง ที่หลายครั้งทำให้ผมเข้าใจความคิดของสาธารณชนกลุ่มหนึ่งได้ชัดเจนขึ้น
 
4) เพื่อนนักเรียนตั้งแต่มัธยมและประถมของผม คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยมาก อาจจะไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าน้อยที่สุดในจำนวนกลุ่มเพื่อนที่ผมสามารถจำแนกกลุ่มได้ ผมเข้าใจดี และตนเองก็แทบไม่เคยไปขอเพื่อนนักเรียนเป็นเพื่อน ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าทัศนะทางการเมือง ทัศนะต่อโลก ต่ออะไรต่างๆ ของผม จะรบกวนพื้นที่ของพวกเขา และเพราะผมรู้ดีว่า เพื่อนเก่าของผมส่วนใหญ่ ไม่น่าจะนิยมความคิดความเห็นแบบของผม
 
ข้อสังเกตเบื้องต้นจากประสบการณ์บนเฟซบุคของผมคือ
 
ประการแรก ข้อดีที่ผมได้จากการใช้เวลาบนเฟซบุคจึงได้แก่การอ่านข่าวสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนจำนวนมาก ทั้งที่รู้จักตัวตนจริง และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ที่น่าสังเกตจากการปะทะสังสันท์กันนั้นคือ ในแง่หนึ่ง เฟซบุคทำให้คนในสังคมนี้ต้องมีมารยาทต่อกัน แม้บางคนจะไม่มีมารยาทนัก แต่ผมเห็นว่าส่วนใหญ่คนมีมารยาทที่ดีต่อกัน ไม่ก้าวก่ายวิพากษ์ ล้อเลียน แซวเล่นไปเรื่อยเปื่อยกันง่ายๆ นัก ผมเองยังต้องยับยั้งชั่งใจบ่อยๆ ในการแสดงความเห็นต่อทัศนะของคนอื่น แม้ว่าจะสนิทกันดี
 
จึงน่าสนใจว่า แม้บนพื้นที่ที่คนอาจจะก้าวก่ายกันมากมาย คนในเฟซบุคก็มีมารยาทพอที่จะไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว ที่สร้างขึ้นมาจากเนื้อหา เรื่องราว ประเด็นที่ถกเถียงกันในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะ "สาธารณะ"
 
ประการที่สอง เฟซบุคอนุญาตให้คนแสดงความเห็นของตนเองหรือแบ่งปันความเห็นของคนอื่นได้อย่างอิสระในขอบเขตของกฎหมาย โดยแทบจะไม่ต้องสนใจว่าใครจะชอบหรือไม่ แน่นอนว่าหลายคนเลือกที่จะแสดงความเห็นหรือแบ่งปันความเห็นอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ของเขา ผมมักเขียนอะไรยาวๆ ลงบนเฟซบุค เมื่อเขียนแล้วพบว่ามีคนชอบอ่าน ก็ยิ่งชอบเขียน ที่ดีคือ การเขียนโดยมีคนอ่านหรือแสดงว่าอ่านหรือแสดงว่าอยากอ่านในแทบจะทันทีทันใดที่เขียนจบ เป็นเสน่ห์ของโลกของการแสดงออกที่ไม่มีในการเขียนในโลกของการตีพิมพ์
 
เฟซบุคจึงให้ประสบการณ์การแสดงออกของผมที่แปลกใหม่ และกระตุ้นให้ผมสร้างสรรค์งานเขียนและภาพในลักษณะต่างๆ ที่ไม่เคยแสดงออกมาก่อนมากมาย ทั้งการเขียน วิธีเขียน และการเขียนรูป ทั้งในรูปแบบและทักษะที่เคยและไม่เคยใช้มาก่อน
 
เนื่องจากเป็นพื้นที่ของ "เรา" เอง จึงไม่ต้องมากังวลกับเนื้อหา (หากทำในขอบเขตของกฎหมาย) ไม่ต้องกังวลกับเงินทองที่จะได้ค่าเรื่องหรือไม่ ไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนทันเวลาส่งต้นฉบับหรือไม่ การเขียนแบบนี้จึงอิสระมากกว่าการเขียนให้แหล่งพิมพ์ทั่วๆ ไป
 
ประการที่สาม น่าสังเกตว่าการแสดงออกในเฟซบุคนำไปสู่การแสดงอารมณ์ได้ง่ายดาย คนจำนวนมากแสดงอารมณ์ผ่านเฟซบุค ราวกับว่าเฟซบุคเป็นพื้นที่ส่วนตัว เสมือนว่าเมื่ออยู่หน้าเฟซบุค คนยับยั้งความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าในที่สาธารณะอื่นๆ นี่อาจเป็นเพราะเราคิดว่า "เพื่อนๆ" ในเฟซบุคคือคนที่สนิทกับเรา เราจึง "คิดดังๆ" ในเฟซบุคบ่อยๆ บางครั้ง แม้แต่เพื่อนๆ ที่รู้จักกันนอกโลกเฟซบุคด้วยกันเองยังอีดอัดกับการแสดงตัวตนส่วนตัวของเพื่อนๆ ออกมาในเฟซบุค
 
การแสดงอารมณ์ความรู้สึก "ส่วนตัว" ในที่สาธารณะจึงมีส่วนทำให้ความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะพร่ามัวลง
 
ประการที่สี่ ความจริงมีข้อสังเกตจากเนื้อหาสาระที่น่าสนใจจากการนั่งอ่านหน้า feed ของตนเองมากมาย เอาไว้ค่อยมาบันทึกใหม่ แต่อยากบอกเวลานี้ว่า บางสาเหตุที่เลิกใช้เฟซบุคเพราะเฟซบุคไม่อนุญาตให้ผมสามารถจัดการกับความสัมพันธ์บนเฟซบุคได้ดีนัก แม้ว่าระยะหลังเฟซบุคจะออกแบบให้มีระบบการแยกแยะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่ความสัมพันธ์บนเฟซบุคก็แตกต่างจากความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์
 
ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์บนเฟซบุคมันใกล้ชิดและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันมากกว่าความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์ นี่คือเรื่องตลกที่ว่า เฟซบุคออกแบบมาให้คนใกล้กันมากกว่าในความสัมพันธ์ที่คนมีกันนอกโลกออฟไลน์ด้วยซ้ำ
 
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเก่า ที่ว่าโลกออนไลน์ไม่จริง เป็นแค่โลกเสมือน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะบอกว่า โลกออนไลน์จริงไม่น้อยไปกว่าโลกออฟไลน์ แต่โลกออนไลน์แบบที่เฟซบุคออกแบบมาก็ทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากเสียจนยากที่จะจำกัดการรับรู้ของคนที่เราติดต่อสื่อสารกัน เช่น โลกเฟซบุคปล่อยให้คนล่วงรู้ความเป็นไปของคนอื่นโดยที่คนอื่นไม่รู้ตัว หรือไม่สามารถปกป้องได้หมด หรือหากได้ คนจำนวนมากก็อาจไม่รู้วิธีการอันซับซ้อนที่จะปกป้องตนเอง โลกเฟซบุคทำให้คนที่ไม่ได้สัมพันธ์กันในฐานะ Friends เลย กลับสามารถล่วงรู้ความเป็นไปของคนอื่นได้ ผ่านการเป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นต้น
 
โลกเฟซบุคจึงสร้างความสนิทสนมกันจนเกินพอดี ในแง่หนึ่งอาจเพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อแก้ต่างให้กับข้อวิพากษ์ที่เคยมีต่อโลกออนไลน์ว่า โลกออนไลน์สร้างความห่างเหินระหว่างคน ทำให้คนเข้าสู่โลกเสมือนจริง ลดการติดต่อกันจริงๆ เฟซบุคก็เลยออกแบบมาให้เชื่อมต่อผู้คนกันเสียจนเกินพอดี เป็นความสัมพันธ์แบบสนิทกันจนล้นหลาม
 
ข้อสังเกตเหล่านั้น บางอันอาจดูขัดกันเอง ไม่ไปเป็นไปในทางเดียวกัน แต่ความซับซ้อนขัดแย้งกันเองไปมาก็เป็นลักษณะทั่วไปของโลกปัจจุบันไม่ใช่หรือ แต่ถึงผมจะชื่นชม ยอมรับ และพยายามเข้าใจเฟซบุคในหลายๆ มิติ ในที่สุดผมก็อัตวินิบาตกรรมจากโลกเฟซบุค เนื่องจากไม่สามารถอยู่กับความขัดแย้งยอกย้อนเหล่านั้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของเฟซบุค แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือน่าจะมาจากธรรมชาติของผมเองที่เข้ากับเฟซบุคไม่ได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้
 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา