Skip to main content

ผมไปสังขละบุรีกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็จำไม่ได้แล้ว ราวกับว่าเป็นนักท่องเที่ยวคนฉกาจ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ส่วนหนึ่งที่ได้ไปบ้างก็เพราะน้าของแฟนมีบ้านหลังที่สองอยู่ที่ทองผาภูมิ เมื่อก่อนได้ไปบ้างเป็นครั้งเป็นคราว บางคราวได้ไปนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่นั่นต่อเนื่องนานๆ เลยทีเดียว

เมื่อต้องสอนวิชาหนึ่งให้นักศึกษานานาชาติเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุ (ภาษาทั่วไปเรียกชนเผ่า แต่คำนี้ล้าสมัยแล้ว ขอไม่อธิบายในที่นี้) ผมก็อาศัยความรู้จักเส้นทางและพื้นที่อยู่บ้าง พานักศึกษามาชิมลาง มีประสบการณ์ตรงกับชีวิตผู้คน ผมเลือกสังขละบุรีด้วยเหตุผลดังกล่าว

ปีนี้จัดทริปลักษณะนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ปีที่แล้วอดไป เพราะน้ำท่วม ระหว่างทางเส้นนี้มีจุดน่าสนใจหยุดพักและเรียนรู้ได้มากมาย แต่ก็ต้องตัดออกหลายที่ ปกติผมจัดแค่สามวัน ซึ่งน้อยไป เพราะลำพังรถวิ่ง กว่าจะออกจากท่าพระจันทร์ไปถึงสังขละบุรีก็ร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว

แต่ละครั้งที่ไปได้ประสบการณ์ ได้รู้เห็น ได้พบผู้คนแปลกใหม่เสมอ ครั้งแรกที่จัดทริปเส้นทางนี้ ได้พบอีกซีกหนึ่งของชุมชนวัดวังวิเวการามที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ มีครั้งหนึ่งได้ร่วมการฉลองกระทงในคืนก่อนวันลอยกระทงกับชาวบ้าน อีกครั้งหนึ่งได้พบคนจัดกิจกรรมการสอนภาษาสองภาษาในหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งได้พบครูสอนนาฏศิลป์มอญเดินทางจากพม่ามาสอนวัยรุ่นที่สังขละบุรี อีกครั้งหนึ่งได้พบอดีตผู้ร่วมขบวนการปลดปล่อยมอญ ในครั้งนี้ก็ได้พบอะไรแปลกใหม่เช่นกัน

คนไปเที่ยวสังขละบุรีโดยมากก็จะนึกถึงกิจกรรมและสถานที่อยู่ไม่กี่แห่ง เช่น สะพานไม้ วัดหลวงพ่ออุตตมะ เจดีย์พุทธคยาจำลอง กิจกรรมตักบาตรพระมอญ แล้วไปช้อปปิ้งที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็กินปลาแรดทอด ปลาคังลวก ทอดมันปลากราย ปลาเหล่านี้มาจากน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลม

แต่ใครจะรู้หรืออยากรู้บ้างว่า ทำไมจึงมีสะพานไม้ ใครเป็นคนสร้าง ทำไมชาวมอญจึงมาอยู่ที่นี่ เขาอยู่กันอย่างไร ทำมาหากินอะไร ทำไมเขาจึงเรียกสองฝั่งของสะพานไม้ว่าฝั่งไทยกับฝั่งมอญ ใครเคยเดินเข้าไปในวัดบ้าง ใครเคยเดินขึ้นบันไดที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นไปถวายของพระบ้าง ทำไมวัดวังวิเวการามจึงใหญ่โตมโหฬาร ใครเคยรู้บ้างว่าที่ดินใน “ฝั่งมอญ” เป็นของวัดทั้งหมด แล้ววัดเก็บค่าเช่าหรือไม่

มีใครคุยกับคนมอญบ้าง คนมอญที่ไม่ใช่แม่ค้าน่ะ คนมอญต่างจากคนพม่าอย่างไร ใครเดินไปที่ตลาดของคนมอญเองบ้าง มีอะไรขายบ้าง ใครเคยขึ้นเรือนคนมอญบ้าง เรือนมอญต่างจากเรือนไทยอย่างไร คนมอญนับถือศาสนาอะไร ทำไมจึงมีรูปในหลวงติดบ้านพร้อมๆ กับเจดีย์ชเวดากองเต็มไปหมด บางเรือนมีรูปทหารมอญ เขาเป็นใคร

รู้ไหมว่าคนที่นี่ได้สิทธิ์พลเมืองเท่าคนไทยหรือไม่ มีสักกี่คนที่ได้สิทธิ์นั้น ทำไมเกิดชุมชนมอญวัดวังฯ มีชนชั้นในชุมชนนี้หรือไม่ ยังมีคนมอญอพยพเข้ามาหรือไม่ คนมอญที่นี่ต่างจากคนมอญที่อื่นๆ ในประเทศไทยหรือไม่ คนมอญที่สังขละฯ อยากกลับไปเมืองมอญในพม่าหรือไม่ คนมอญยังอยากมีประเทศของตนเองหรือไม่ ทำไมคนมอญจึงยังเป็นคนมอญ คนมอญที่สังขละบุรียังติดต่อกับมอญที่พม่าหรือไม่ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป เด็กๆ ที่นี่มีการศึกษาสูงหรือไม่ และอีกหลายคำถามที่นักท่องเที่ยวมักไม่ถาม

คำถามเหล่านี้ควรถามในการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ แต่ปัญหาใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์คือ ในเมื่อเราไม่รู้ภาษาเขา หรือกรณีนักเรียนต่างชาติคือ ไม่รู้ภาษาไทยดีพอที่จะถามผู้คน แล้วพวกเราจะเข้าใจอะไรได้อย่างไร จะเข้าถึงชุมชนที่เราไปเที่ยวได้อย่างไร

ต่อปัญหานี้ ผมขอตอบว่า เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ รู้จากผัสสะ จากการมอง การฟัง การชิม การสัมผัส การดมกลิ่น

เราต้องไม่ด่วนสรุปว่าอะไรต่างๆ ที่เรารับรู้ รู้สึกได้ จะมีความหมายอย่างที่เราเคยเข้าใจเคยรับรู้มา เราต้องสงสัยต่อการรับรู้ที่เคยมีมาก่อนนี้ของเรา แล้วเปิดใจให้กับความรับรู้ต่อหน้าเราใหม่ ว่าอาจจะไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจมาก่อน

เราต้องบันทึกสิ่งที่เรารับรู้อย่างพินิจพิเคราะห์ ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บๆ ข้อมูลมาโดยไม่เข้าใจความหมายที่คนในสังคมนั้นเข้าใจ

วิธีหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ได้คือ การเรียนรู้จากปฏิกิริยาที่เรามีต่อเขา เช่น ที่เรารู้สึกว่าแปลก เหม็น ไม่น่าอภิรมย์ ไม่อร่อย น่ารังเกียจ น่าสนใจ น่าทึ่ง น่าขัน และที่เขาขำเรา ตักเตือนเรา ทำหน้าสงสัยเรา ไม่เข้าใจเรา เหล่านี้คือ culture shock ที่เราและเขามีต่อกัน คือจุดปะทะกันของความคุ้นเคย คือจุดปะทะกันของวัฒนธรรม คือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจความแตกต่างและความเข้าใจขีดจำกัดของตัวเรา

ที่สำคัญอีกประการคือ นักท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ควรถามด้วยว่า มีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจอะไรที่ทำให้เรามาเป็นผู้ท่องเที่ยวส่วนเขาเป็นผู้ถูกเที่ยว มีอะไรที่ทำให้เราได้ครอบครองมุมมองที่น่าอภิรมย์ในขณะที่คนในชุมชนที่ถูกท่องเที่ยวไม่มีโอกาสนั้น

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี