Skip to main content

 

ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง

 
พร้อมๆ กับความสนุกสนานจากเสียงเพลงและลุ้นว่าผู้เข้าประกวดที่ชอบจะเข้ารอบหรือไม่ ผมยังพยามยามทำความเข้าใจการฟังเพลง หรือจะเรียกให้เจาะจงกว่านั้นคือ การสร้างความหมายให้กับการแสดงและการร้องเพลงของคนชั้นกลางชาวกรุงปัจจุบัน เท่าที่ดูมา ผมอดคิดสงสัยไม่ได้ว่าความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์เป็นอย่างไรกันแน่
 
เห็นได้ชัดว่า แม้เดอะวอยซ์จะพยายามชูเรื่องการใช้เสียง และผู้เข้าแข่งขันหลายต่อหลายคนก็จะพูดย้ำซ้ำซากว่า "เดอะวอยซ์เขาไม่ดูที่หน้าตา เขาวัดกันที่เสียง" แต่รายการนี้ยึดมั่นหลักนั้นจริงๆ หรือ ยึดมั่นแค่ไหน หรือถึงที่สุดแล้ว ลำพัง "เสียง" จะใช้เป็นเกณฑ์กำหนดความสามารถในการให้ความบันเทิงจากการร้องเพลงได้จริงๆ หรือ
 
เช่นว่า เอาเข้าจริงผู้เข้าแข่งขันหลายคนที่เข้ารอบเป็นผู้หญิงสวย หรือถ้าไม่สวยก็เป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ หรือไม่ก็ "ผู้หญิง" ในร่างชายที่มีเสน่ห์ แม้รายการจะชวนให้เชื่อว่า โค้ชทั้งสี่ไม่มีส่วนในการเลือกผู้แข่งขันจากหน้าตา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากรรมการในรอบออดิชั่นไม่ได้เลือกผู้สมัครจากหน้าตาด้วย ทำไมสัดส่วนผู้เข้าแข่งขันที่หน้าตาดี รูปร่างสมส่วนแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน จึงได้รับคัดเลือกเข้ามามาก อย่างน้อยก็ในรอบออดิชั่น
 
แต่เมื่อผ่านเข้ามารอบลึกๆ ดูเหมือนเดอะวอยซ์พยายามยืนยันการคัดเลือกจากเสียง ไม่ใช่ที่หน้าตามากขึ้น มากเสียจนผมเผลอคิดไปว่า เดอะวอยซ์กลายเป็นสมาคมสังคมสงเคราะห์ของวงการดนตรีไปเสียแล้ว เพราะคนที่มีอัตลักษณ์แบบ "เด็กใสซื่อ" "ชาวลูกทุ่ง" "ชาวเพศทางเลือก" "คนไม่สวย" "คนหน้าใหม่ในวงการ" ดูจะมาแรงกว่ามาตรฐานของวงการบันเทิงปกติ กระทั้งไม่แน่ใจว่า ตกลงเกณฑ์เรื่องเสียงหรือเกณฑ์เรื่อง "การให้โอกาส" กันแน่ที่สำคัญ ข้อนี้ทำให้เดอะวอยซ์ไทยแลนด์แทบจะกลายเป็นธุรกิจขายความเอื้ออาทรไปเลยทีเดียว
 
ยิ่งหากลงรายละเอียดในรายของชาวลูกทุ่ง ความเป็นลูกทุ่งในรายการเดอะวอยซ์เหมือนการกินอาหารฟิวชั่นของคนกรุง คือจะเป็นปลาร้าหลนแท้ก็ไม่ใช่ แต่เป็นปลาร้าฟิวชั่นที่จัดใส่จานปรุงแสงสีตกแต่งหน้าตา เสียจนกลายเป็นปลาร้าเสิร์ฟในโรงละครบรอดเวย์ ไม่ใช่ลูกทุ่งแบบที่คอลูกทุ่งเขาจะชอบกัน เราเห็นความไม่เข้าใจลูกทุ่งตั้งแต่การที่โค้ชแต่ละคนไม่ใช้ถ้อยคำประเภท "ลูกทุ่ง-สตริง" ที่ชาวลูกทุ่งใช้ ไปจนถึงความไม่สามารถในการแนะนำแนวการเปล่งเสียง สำเนียงของลูกทุ่งให้เด่นชัดขึ้น แถมโค้ชบางคนยังพยายามแนะให้นักร้องลูกทุ่งพยายามตัดลูกคอลูกทุ่งออกไปเสียอีก
 
ผมไม่ได้จะมาปกป้องความเป็นลูกทุ่งแท้อะไรหรอก เพราะที่จริงถ้าจะพูดกันให้สุดทางไป อย่าว่าแต่ลูกทุ่งสมัยนี้ที่พยายามจะเอาลูกคอและน้ำเสียง "สตริง" ไปผสม และพวกร็อคแนวๆ ที่นำแนวทางของลูกทุ่งไปดัดแปลงแล้ว ลูกทุ่งที่มีอยู่แต่เดิมมันก็ "ไม่ลูกทุ่ง" พออยู่แล้ว เนื่องจากมันเพี้ยนจากของเดิมของมันคือความเป็นพื้นบ้านมาไกลจนขายได้ แต่เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องยกไว้ก่อน เพียงแต่ในกรณีเดอะวอยซ์ โค้ชเองก็ยอมรับว่าไม่มีความสามารถในการโค้ชลูกทุ่ง และจึงไม่สามารถเข้าใจลูกทุ่งแบบที่ลูกทุ่งเข้าใจกันเอง ลูกทุ่งที่เข้ารอบจึงไม่ได้มาจากเกณฑ์ของเสียงดีแบบลูกทุ่ง เท่ากับว่าเสียงดีในหูแบบชาวกรุง 
 
ถึงที่สุดแล้ว เห็นได้ชัดว่าลำพัง "เสียงร้อง" ไม่ใช่ทั้งหมดของความบันเทิงจากการร้องเพลง แต่ยังมี พื้นผิวของน้ำเสียง ตัวบทเพลงที่เหมาะกับผู้แสดง ประสบการณ์ชีวิตผู้แสดงที่มีส่วนดัดแปลงหรือส่งผ่านความหมายของบทเพลง การแสดงออกบนเวที (เช่นที่โค้ชบางคนบอกว่า นักร้องคนนี้เสียงดีอยู่แล้ว แต่เขากังวลเรื่องการเต้นมากกว่า) ตลอดจนเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงและควบคุมไม่ได้คือ "ผู้ชม"  (ทั้งที่โหวตมา และผู้ชมในจินตนาการของโค้ชคนหนึ่ง ที่บอกว่าเธอเลือกนักร้องคนนี้เพราะคนไทยชอบแบบนี้)

แน่นอนว่าทุกคนเสียงดี แต่หากพวกเขาดีที่เสียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอสำหรับ "ความบันเทิงแบบชาวกรุงไทยสมัยนี้" ความสวย การแสดง ตลอดจนคุณค่าของสังคมร่วมสมัยที่พยายามเน้นอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ล้วนมีส่วนกำหนดความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์ไทยแลนด์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ