Skip to main content

ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง

น่าอายเหมือนกันที่ผมนึกอยู่นานว่าอ่านอะไรใหม่ๆ หรืออ่านอะไรเก่าๆ แล้วได้คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง ที่จริงก็มีนั่นแหละ เพียงแต่เหมือนไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าใดนัก อย่างงานเขียนเชิงทฤษฎีและปรัชญาที่ต้องกลับมาอ่านซ้ำๆ ในวิชาทฤษฎีมานุษยวิทยา แต่ละครั้งที่ต้องอ่านใหม่เพื่อเตรียมสอน ก็มักจะได้คิดอะไรใหม่ๆ เนื่องจากได้เอาประสบการณ์ใหม่ๆ เข้าไปตีความในระหว่างการอ่านงานทฤษฎีเหล่านั้นเสมอ 
 
แต่ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในสามปีที่ผมสอนทฤษฎีมานุษยวิทยาระดับปริญญาเอก ทำให้ต้องค่อยๆ เพิ่มหนังสือใหม่ๆ นักคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยอ่านไม่เคยเรียนมาก่อน มาร่วมอ่านร่วมเรียนกับนักศึกษาปริญญาเอก ปีละอย่างน้อยก็นับ 4-5 เล่ม
 
เท่าที่ระลึกได้และค่อนข้างประทับใจ ได้แก่งานของ Bruno Latour (บรูโน ลาตูร์ ไม่ทราบถ่ายเสียงถูกหรือเปล่า) ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้วก็ไม่ได้ใหม่อะไร แต่ใหม่สำหรับผม เพราะผมไม่ทันได้รู้จักลาตูร์ในระหว่างเรียนปริญญาเอก ในหนังสือที่ผมอ่าน (Reassembling the Social แปลจากภาษาฝรั่งเศสปี 2005) ลาตูร์เสนอภาพสังคมที่ไม่เป็นโครงสร้างตายตัว แต่มีการพยายามประกอบสร้างสังคม แล้วก็เกิดการแยกสลาย หรือก่อร่างสังคมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ภาวะทางสังคมแบบนี้ไม่ได้เป็นโครงสร้างตายตัว และก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นวัฏจักรเกิด-ดับ แต่เป็นการดึงดันกันของพลังของผู้ปฏิบัติการทางสังคม และพลังของกลุ่มทางสังคม
 
นักคิดที่ผมเพิ่งรู้จักอีกคนหนึ่งคือ Judith Butler (จูดิท บัทเลอร์) ที่ช่วยให้ผมเข้าใจภาวะของการที่มนุษย์มีตัวตนของตนเองขึ้นมาได้ จากการกลายเป็นสมาชิกในโครงข่ายทางอำนาจ หากแต่เมื่อเข้ามาในสังคมแล้ว เขาไม่ได้จำเป็นต้องถูกควบคุมครอบงำอย่างเชื่องๆ ในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้หลุดลอยเป็นอิสระชนอย่างเสรีได้ เนื่องจากสังคมสร้างเงื่อนไขเฉพาะในการปฏิบัติการของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่ทำให้เขาได้กำเนิดขึ้นมา เพียงแต่สังคมนั่นก็ไม่สามารถควบคุมเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
 
นอกจากทฤษฎีแล้ว นักเรียนมานุษยวิทยายังต้องอ่านงานที่เรียกกันว่า "ชาติพันธุ์วรรณนา" (ethnography) งานประเภทนี้ให้ภาพรายละเอียดของสังคม ไปพร้อมๆ กับการวิเคราะห์สังคมในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ด้วยการนำทฤษฎีมาช่วยทำความเข้าใจ เมื่อมีทฤษฎีใหม่ๆ เราก็ได้แง่มุมใหม่ๆ ของสังคม เข้าใจมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ในขณะเดียวกัน การได้อ่านงานที่ศึกษาสังคมจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ช่วยให้เห็นภาพความแตกต่างในการจัดการกับชีวิตตนเองของมนุษย์ ในแต่ละปีผมพยายามหางานลักษณะนี้มาอ่านกับนักศึกษาไม่น้อยกว่า 10 เล่ม (ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัยที่เรียน)
 
ในจำนวนนั้น เท่าที่จำได้และอยากเล่าถึง ผมชอบงานของ Yoko Hayami (โยโกะ ฮายามิ หนังสือชื่อ Between Hills and Plains ปี 2004) ที่ศึกษาชาวกะเหรี่ยงในเชียงใหม่เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว แต่ทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์ยังสดใหม่ ว่าด้วยการรับศาสนาใหม่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รับศาสนาพุทธหรือกลุ่มที่รับศาสนาคริสต์ ต่างก็ปรับเอาแนวคิดใหม่ๆ เหล่านั้นมาให้เข้ากับศาสนาความเชื่อเดิมของชาวกะเหรี่ยง หากแต่ด้วยเงื่อนไขของสังคมที่สังคมภายนอกมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องรับศาสนาใหม่มาเป็นพลังเสริมสร้างและต่อรองกับอำนาจจากสังคมใหม่ๆ 
 
งานที่ชอบยังมีอีกหลายชิ้น เช่นงานศึกษาเปรียบเทียบการใช้ที่ดินของชาวอาข่าในไทยกับจีน (ของ Janet Sturgeon หนังสือชื่อ Border Landscapes ปี 2005) คนเขียนพบว่า ไม่ใช่คนในพื้นที่หรอกที่ทำลายป่า แต่เป็นรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่มีส่วนทำลายป่าอย่างใหญ่หลวง และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว นโยบายป่าไม้ของรัฐไทยทำลายป่ามากกว่านโยบายของจีน 
 
อีกชิ้นที่อยากเอ่ยถึงศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมภาษาอินโดนีเซีย (โดย James Siegel ชื่อ Fetish, Recognition, Revolution ปี 1997) หนังสือเสนอภาพความสำนึกต่อตัวตนของความเป็นคนอินโดนีเซีย ผ่านการเขียนวรรณกรรมภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในระหว่างที่ชาวดัชปกครองอินโดนีเซียอยู่ ภาษาอินโดนีเซียจึงมีบทบาทในการสร้างสำนึกร่วมของความเป็นชาติ แม้ว่าจะภาษานี้จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่และเพิ่งจะเป็นภาษาที่มีคนใช้มากมายเมื่อสักร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง
 
ความจริงงานที่อ่านยังมีอีกมาก ที่ประทับใจก็อีกหลายเล่ม แต่เล่มที่ไม่ได้อ่านในชั้น แต่ต้องอ่านเพื่อวิเคราะห์เสนอในงานเสวนาหนึ่ง คือหนังสือ 2 เล่ม ชื่อ "รักเอย" (2555) และ "สมุดแม่" (2550) เล่มแรกเขียนโดยรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยา "อากง" ที่เสียชีวิตในระหว่างสู้คดี 112 (หนังสือนี้เรียบเรียงโดยเพียงคำ ประดับความ และไอดา อรุณวงศ์) อีกเล่มเขียนโดยปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล หรือดร.ปริตตา อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาฯ และอดีตอาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์
 
หากจะสรุปย่อบางประเด็นจากที่ผมเสนอในงานเสวนา "รักเอย" และ "สมุดแม่" นั้น บอกเล่าชีวิตคนสามัญ ที่คนทั่วไปสามารถอ่านแล้วสัมผัสถึงชีวิตผู่้คนได้อย่างดี ยิ่งด้วยความที่เป็นเรื่องเล่าจากข้อเท็จจริงของชีวิต ก็ทำให้ผู้อ่านเชื่อมโยงตัวบุคคลในเรื่องเข้ากับชีวิตจริง ชีวิตตนเอง ได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีการเล่าที่ไม่ค่อยเป็นวิชาการ คนอ่านก็แทบไม่จำเป็นต้องเข้าใจผ่านแนวคิดนามธรรมยุ่งยากมากมาย ที่สำคัญคือ การเล่าผ่านความทรงจำของผู้เล่า ทำให้ประสบการณ์เชิงผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นรส กลิ่น เสียง สัมผัส และรูป ถูกบอกเล่าผ่านความรู้สึก ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คน เป็นความรู้ที่ผู้อ่านสัมผัสและรู้สึกได้ ต่างจากความรู้ที่เป็นนามธรรม 
 
ในที่สุด งานลักษณะนี้จึงส่องให้เห็นชีวิตผู้คน ที่โลดแล่นอยู่ในสังคม จะว่าคนเป็นอิสระชนก็ไม่ใช่ แต่ครั้นจะว่าคนถูกครอบงำจากสังคมอย่างแทบกระดุกกระดิกไม่ได้ก็ไม่ถูกนัก ทำให้ผลอย่างหนึ่งของการอ่านงานประเภทนี้คือการชี้ช่องให้เห็นว่า ปัจเจกชนไม่ได้จำนนอยู่ในกรอบอำนาจใดๆ อย่างเชื่องเชื่อ หากแต่ยังมีช่องโหว่รอยรั่วที่ปัจเจกสามารถเล็ดรอดออกมาได้บ้าง สามารถปรับแต่งอะไรได้บ้าง เพียงแต่ความหวังในการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะยังดูริบหรี่ในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง
 
ที่จริงนอกจากหนึ่งปีที่ผ่านมาอ่านอะไรใหม่ๆ บ้างแล้ว ผมนั่งร่างภาพความคิดที่จะทบทวนว่า 
 
- มีงานสัมมนาทางวิชาการอะไรบ้างที่เข้าร่วมแล้วตนเองได้อะไรใหม่ๆ (สัมมนาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไต้หวัน สัมมนาเรื่อง cosmopolitanism ที่มาเลเซีย และสัมมนาและเสวนาวิชาการอีกกว่าสิบๆ งานที่เมืองไทย เช่นที่ Reading Room ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลายๆ ครั้ง ที่ธรรมศาสตร์รังสิต)
- ทำกิจกรรมทางสังคมอะไรบ้างทำที่ให้ตนเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (ร่วมคณะรณรงค์แก้ม. 112 ร่วมงานกับศปช.) 
- เดินทางไปที่ใดบ้างที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (กลับไปเยี่ยม "หมู่บ้านของฉัน" ในเวียดนาม ไปกัมพูชา ไปกัวลาลัมเปอร์ ไปไทเป และเข้าไปท่องในโลกเฟซบุคและเขียนเว็บบล็อก) 
- ได้รู้จักใครบ้างที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปหรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (พบนักศึกษาหน้าใหม่ๆ พบผู้คนคุ้นเคยที่เพ่ิงเผยด้านที่ไม่เคยรู้จัก พบผู้คนใหม่ๆ ในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เข้าร่วม พบผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ต และมีแมวใหม่มาอยู่ด้วยตัวหนึ่ง) 
 
วันหยุดปีใหม่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว งานการที่หวังพึ่งช่วงเวลาวันหยุดยาวเพื่อสะสาง ก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปสักเท่าใดนัก แต่ที่ดูเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าคือเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเดินหน้าเข้าสู้ปีใหม่ด้วยการกลับไปทำงานประจำและสะสางงานเก่า ผมก็ยังหวังว่าปีหน้าจะได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ และเดินทาง และทำกิจกรรมทางสังคม และเข้าร่วมงานวิชาการ และพบปะใครต่อใครอีกมากมายที่ยังไม่เคยได้ทำมาก่อนไม่ให้น้อยหน้าหนึ่งปีที่ผ่านมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ