Skip to main content

ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด

ในมุมมองทางนิติศาสตร์ กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ในฐานะประมุขในระบอบประชาธิปไตยถูกกำหนดให้ “ไม่สามารถทำผิดได้” เนื่องจากประมุข “ไม่สามารถทำอะไรเองได้” ต่อกรณีของประเทศไทย ดังที่หยุด แสงอุทัย สรุปไว้ว่า

"ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์"

 

"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" (อ่านได้จากบทความของปิยบุตร แสงกนกกุล http://prachatai.com/journal/2008/06/17092)

ที่น่าสนใจคือ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเห็นต่อ “การทำอะไร” ของพระองค์เองอย่างไร ในพระราชดำรัส ที่ทรงพระราชทาน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 พระองค์ตรัสตอนหนึ่งว่า

“ความจริงในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวผิดไม่ได้ เค้าพูดอย่างนั้น The king can do no wrong. เหมือนทำนองคมนตรีชอบพูดว่าต้องภาษาอังกฤษ แต่ว่าเวลาบอกว่า The king can do no wrong. ก็เป็นสิ่งที่ wrong แล้ว ที่ผิดแล้ว ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น...

 

“แต่ข้อสำคัญที่สุด ข้าพเจ้าเป็น the king แล้ว เค้าบอกว่า does no wrong เราก็เห็นด้วยกับเค้า เพราะว่าการทำอะไรถ้าคนเราถือว่าต้องมีสติ หมายความว่ารู้ว่ากำลังทำอะไร รู้ว่ากำลังคิดอะไร แล้วไม่ปล่อยให้มันผิดออกมา มันก็ไม่มีผิด ผิดไม่ได้ อันนี้ก็เป็นการพูดว่า ข้าพเจ้าเอง ไม่ผิด ไม่มีวันผิด...”

จากพระราชดำรัสข้างต้น 

 

(1) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ “ทำอะไร” หรือทรงเป็น actor ของกิจการอะไรบางประการ 

 

(2) การกระทำการในที่นี้ย่อมต้องไม่ใช่การกระทำการในชีวิตปกติประจำวันแน่ๆ เพราะพระองค์ตรัสถึงการกระทำการในฐานะ “พระมหากษัตริย์” “เป็นประมุข” กล่าวคือ พระองค์ตระหนักว่าพระองค์เองในฐานะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ “ทำอะไร” บางอย่าง "อะไร" นั้นจึงไม่น่าจะจำกัดเฉพาะกิจการในชีวิตประจำวัน

 

(3) ส่วนข้อที่ว่า "the king can do no wrong." นั้น พระมหากษัตริย์ทรงต้องทรง “ทำอะไร” ให้ถูกต้อง อย่าง “มีสติ” “ไม่ปล่อยให้มันผิดออกมา” 

 

ด้วยเหตุนั้นพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่าด้วยการวิจารณ์พระมหากษัตริย์ แต่อันที่จริง พระราชทัศนะต่อการวิจารณ์พระมหากษัตริย์มีนัยที่สำคัญหลายประการด้วยกัน จากพระราชดำรัสคราวเดียวกันนี้ พระองค์ตรัสว่า

“คนเราถ้าอยู่ในที่แจ้ง ในที่ๆ คนเห็นมากๆ ย่อมถูกติได้ง่ายๆ เพราะว่าคนเห็นมาก ถ้าเห็นมาแล้วเราทำอะไรไม่มีดี หรือมีดีก็ที่ไม่ดีมาก...

 

“ที่เดอะคิงทำอะไร เค้าไม่วิจารณ์ แล้วก็บอก อย่าวิจารณ์ ที่จริงอยากให้วิจารณ์ เพราะว่าเราทำอะไรก็ต้องรู้ว่าเค้าเห็นดีหรือไม่ดี ถ้าไม่พูด ก็หาว่าทำดีแล้ว...

 

“แต่ว่าความจริงก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวถ้าใครมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่า ถ้าบอกว่า พระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัว ไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน...

 

“ฉะนั้นที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่า ละเมิดพระมหากษัตริย์ ให้ละเมิดได้ และถ้าเค้าละเมิดผิด เค้าก็ถูกประชาชนบอม ว่างั้น คือเป็นเรื่องขอให้เค้ารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเค้าวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิดไม่ดี...”

กล่าวคือ ตามพระราชดำรัสนี้ พระองค์ทรงแสดงทัศนะว่า

 

(1) การวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวนั้นเกิดเนื่องมาจาก “คนเราถ้าอยู่ในที่แจ้ง” ย่อมต้องถูกวิจารณ์ 

 

(2) การวิจารณ์เท่ากับเป็นการทำให้คนถูกวิจารณ์ "เป็นคน" เพราะ “ถ้าบอกว่า พระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัว ไม่เป็นคน”

 

(3) จะวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ให้ถูก “ถ้าเค้าวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิดไม่ดี” ฉะนั้น จะรู้ว่าวิจารณ์ผิดหรือวิจารณ์ถูกได้ก็ด้วยการพิสูจน์ข้อความที่กล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวว่าถูกหรือผิด ว่าเป็นความจริงหรือเป็นเท็จใส่ร้ายกัน พระองค์จึงน่าจะทรงเห็นว่า ต้องสามารถมีการพิสูจน์ได้ว่า ที่วิจารณ์นั้น ผิดหรือถูก ก่อนที่จะตัดสินว่าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์หรือไม่

 

สรุปแล้ว ในเมื่อพระองค์เองทรงเห็นว่า พระองค์ “ทำอะไร” และจึง “ย่อมถูกติได้ง่ายๆ” แล้ว หลัก the king can do no wrong ก็ดูจะเป็นอุดมคติที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสังคมไทยขณะนี้ หากจะให้กฎหมายสะท้อนความเป็นจริงในสังคม กฎหมายจึงควรอนุวัตรปรับแก้ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าการวิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยสุจริตใจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำอันมีผลต่อประโยชน์สาธารณะ ตามข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องปรับบทบาทพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลัก the king can do no wrong แบบสากล

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร