Skip to main content

"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

 
การศึกษาในยุคของสถาบันการศึกษาสร้างขอบเขตของการเรียนรู้ให้จำกัดขีดวงอยู่ในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แจ็ค กูดี้ (Jack Goody) นักมานุษยวิทยาผู้ใคร่ครวญและศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาทั่วโลกหลายยุคหลายสมัยเสนอว่า การศึกษาสมัยก่อนนั้นอาศัยเครื่องมือสื่อสารแบบมุขปาฐะ ปากต่อปาก จึงอยู่ในขอบเขตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ความรู้จึงจำกัดพื้นที่ เพราะหากไม่ไปพบผู้สอน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะไม่ได้ความรู้ ระบบการศึกษาแบบนี้จึงอยู่ในกรอบของ "ครู-ศิษย์" ที่ความรู้ของของครูยากที่จะถูกท้าทาย เนื่องจากระบบอาวุโส และพิธีกรรมของระบบอาวุโส ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาระหว่างครูกับศิษย์ 
 
หากแต่ด้วยอักษร หนังสือ และการแพร่ขยายของการพิมพ์ ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่กรอบห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาอีกต่อไป แม้ว่าสถาบันการศึกษายังมีอยู่ แต่หนังสือแพร่ความรู้ไปทั่ว หนังสือทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเกรงกลัวครูบาอาจารย์ แม้ว่าบางสังคม อย่างสังคมไทย ยังพยายามสืบทอดความคิดเกี่ยวกับหนังสือแบบเก่า ที่ให้เรากราบ เคารพหนังสือประดุจครูบาอาจารย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นโอกาสที่ผู้อ่านจะถกเถียงกับผู้เขียนในกระบวนการของการเรียนรู้ คือการอ่าน ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป 
 
แม้ว่าแจ็ค กูดี้จะเข้าใจอะไรผิดๆ บ้างในรายละเอียด แต่ข้อสังเกตของเขาก็ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ จากยุคสมัยที่หนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเพียงคนหยิบมือสามารถอ่าน เขียน และครอบครองได้ ไปสู่ยุคที่การศึกษาของมวลชน (mass education) ทำให้หนังสือที่มีอยู่ดาดดื่น ถูกเข้าถึง ถูกอ่าน ถูกแจกจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปทั่ว ได้เป็นอย่างดี
 
แม้กระนั้น พื้นที่ของการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้แบบมุขปาฐะก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการสนทนายังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หากแต่รูปแบบโครงครอบอำนาจของการสนทนาย่อมต้องเปลี่ยนไป การศึกษาปัจจุบันจึงพยายามส่งเสริมการเรียนรู้แบบ "สัมมนา" และการจัด "เสวนา" ที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันเองและกับผู้นำการสอน มากกว่าจะเป็นการ "บรรยาย" และ "ปาฐกถา" ที่ผู้สอนยังคงอำนาจของการครอบครองความรู้และการถ่ายทอดความรู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม การศึกษาแบบปากต่อปากในปัจจุบันจึงลดทอนอำนาจครอบงำของครูลงไปมากแล้ว
 
ในประเทศไทยปัจจุบัน ผมเห็นพื้นที่อยู่ 2 แห่ง ที่แสดงบทบาทโดดเด่นในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบสัมมนา เสวนา กระทั่งสนทนา และลงมือทดลอง ปฏิบัติการ สร้างกิจกรรม นั่นคือร้านบุ๊ค รีพับบลิค (Book Re:public) และห้องสมุดเดอะ รี้ดดิ้ง รูม (The Reading Room) บุ๊ครีพับบลิคเป็นร้านหนังสือที่เชียงใหม่ แต่จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นมากมาย จนผมมักจะคิดว่าเป็นห้องสมุด ส่วนเดอะรี้ดดิ้งรูมเป็นห้องสมุดด้านศิลปะ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปอ่านไปใช้ได้ จนผมมักจะคิดว่าเป็นร้านหนังสือ
 
ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้หรือในปัจจุบันนี้จะไม่มีร้านหนังสือหรือห้องสมุดที่ทำบทบาทนี้ เพียงแต่ ณ เวลานี้ สองแห่งนี้โดดเด่นที่สุดด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบที่สามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ คนทำงานที่ยังมีเวลาของตัวเอง ครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่ใช้เวลากับการเดินห้างสรรพสินค้า มาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งสองแห่งจับประเด็นเฉพาะหน้า ร่วมสมัย คุยกันเรื่องเท่ๆ ในบรรยากาศสบายๆ ถึงขนาดนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกราวกับนั่งคุยกันที่บ้าน ทั้งสองแห่งได้รับทุนสนับสนุนให้จัดกิจกรรมจากแหล่งทุนต่างๆ จึงสามารถส่งเทียบเชิญผู้นำการเรียนรู้มาได้จากทั่วสารทิศในสยาม ทั้งสองแห่งเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้างกว่าห้องสนทนา ไปสู่โลกกว้าง ด้วยการบันทึกการสนทนา บันทึกบทเรียน อัพโหลดขึ้นยูทูป ให้คนเข้าถึงได้ทั่วโลก
 

หากจะไปให้ไกลจนสุดขอบของพื้นที่การศึกษา โลกอินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ใหม่ที่ท้าทายขอบเขตของอำนาจการเรียนรู้อย่างใหญ่หลวง กระทั่งว่าหากผู้มีอำนาจ "เล่นเน็ต" อย่างจริงจังและกล้าพอที่จะรับรู้ความเป็นไปอย่างแท้จริงของสังคม ก็จะรู้ว่าโลกแบบเดิมๆ ที่มีคนกราบกรานแห่แหนนั้น มันได้ปลาสนาไปนานแล้ว ในแง่นี้ พื้นที่สองแห่งนั้นได้สร้างความเชื่อมต่อ ระหว่างโลกของการสนทนาปากต่อปาก ไปสู่การศึกษาที่แทบจะไร้ขอบเขตในอินเทอร์เน็ต

ถามว่ามีห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศนี้ทำได้ใกล้เคียงกับที่สถานที่ 2 แห่งนี้ทำได้บ้าง ถามว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ให้ถกเถียงได้ ให้ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ตอบโจทย์ชีวิตร่วมสมัยได้ใช่หรือไม่ ถามว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จัดกิจกรรมอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนรับรู้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ใช่หรือ แล้วทำไมต้องกลัวด้วย
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมุ่งแต่จะ "เก็บแต้ม" ทำคะแนนประกันปริมาณในนามที่ตั้งขึ้นเพื่อหลอกตัวเองว่าเป็นการประกันคุณภาพ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ปีนี้สถาบันตนเองทำรายได้ได้เท่าไหร่ จะเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ จะถูกตัดงบประมาณหรือไม่ 
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งเห็นการออกนอกระบบเป็นความก้าวหน้า แต่ยังอธิบายให้นักศึกษาของตนเองเข้าใจไม่ได้ว่า การทำงานมานาน 25 ปี แสดงว่าตนเองรักสถาบันนั้นมากกว่านักศึกษาที่เรียนอยู่ 4 ปีแต่เป็นห่วงทิศทางการศึกษาของการออกนอกระบบมากกว่าผู้บริหารได้อย่างไร 
 
ในบรรยากาศที่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาถูกอุดมการณ์ "ครู" ครอบงำไม่ให้เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง ในบรรยากาศที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าห้องเรียนเพื่อแช็ทไลน์ เล่น BB ถ่ายรูป อัพรูปถ่ายในห้องเรียน แล้วรับปริญญาเมื่อเก็บหน่วยกิตครบ 
 
ในบรรยากาศแบบนี้ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างห้องเรียนที่เปิดให้คนสมัครใจเข้ามาไขว่คว้าความรู้เอง มาเจ็บสมองเอง มานั่งหลังขดหลังแข็งเองเป็นชั่วโมงๆ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างการเรียนรู้ที่เข้าใกล้การศึกษาในอุดมคติมากกว่ามหาวิทยาลัย 
 
แล้วถามว่าทำไมใครบางกลุ่มที่ระแวงสงสัยในกิจกรรมของสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จึงไม่ลองเข้าร่วมกิจกรรม แล้วแลกเปลี่ยนกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเหตุด้วยผลบ้าง ไม่ใช่เอาแต่อาศัยระบบอำนาจนิยม เอาแต่เที่ยวด่าว่าลับหลัง หรือโทรศัพท์ ส่งจดหมายมาคุกคาม
 
ด้วยบทบาทดังกล่าวของบุ๊ครีพับบลิคและรีดดิ้งรูม ผมว่าใครก็ตามที่หาเหตุบีบคั้น ใส่ร้ายป้ายสี ตัดสินคนอื่นบนอคติของรสนิยมทางการเมืองตนเอง จะไม่สามารถทัดทานพลังการศึกษาของห้องเรียนทั้งสองนี้ได้ เพราะห้องเรียนทั้งสองตอบโจทย์การศึกษาที่ ถ้ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะยังไม่ถึงกับไร้น้ำยาไปโดยสิ้นเชิง ก็นับวันจะยิ่งไม่สามารถทำบทบาทให้การศึกษาได้ดีโดยลำพังอีกต่อไป

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ