Skip to main content

เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี

แต่ที่จริงก็นึกเสียดายอยู่บ้างว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ศาสตราจารย์ทางมนุษยศาสตร์ไทยท่านหนึ่งนามเจตนา นาควัชระพยายามสร้างขึ้นนั้น มาได้แค่เพียงผ่านวิธีนินทากาเล ไม่ใช่ด้วยบทความทางวิชาการถกเถียงกัน หรือไม่แม้แต่จะวิจารณ์บอกกล่าวกันซึ่งหน้า แต่ก็นั่นแหละ สังคมที่ยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องอยู่ด้วยการขัดเกลากันลับหลังไปอย่างนี้ 
 
ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะถกเถียงด้วยคือ สังคมไทยขาดนักวิชาการหอคอยงาช้าง จึงไม่สามารถนำเสนอความรู้อะไรให้โลกวิชาการสากลได้ หรือจะให้พูดด้วยสำนวนภาษาแดกดันแบบในเฟซบุ๊กหรือเว็บบล็อกหน่อยก็คือ 
 
หากคุณไม่ต้องการหอคอยงาช้าง คุณไม่มีทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญาจากพื้นถิ่นให้กลายเป็นภูมิปัญญาของโลกได้หรอก หากคุณไม่สนทนากับโลกด้วยภูมิปัญญาของคุณเอง คุณไม่มีทางทำให้โลกนี้รู้จักคุณได้หรอก แล้วหากคุณไม่เข้าใจโลกสากล คุณจะเอาอะไรไปคุยกับเขาแล้วให้เขาฟังคุณได้ ผมเลยอยากจะบอกกล่าวจากเก้าอี้เท้าแขนบนหอคอยงาช้างว่า ทฤษฎี ศัพท์แสง การวิพากษ์ และความ(หลัง)สมัยใหม่ที่(ไม่จำต้อง)เป็นตะวันตก เป็นอย่างไร มีข้อดีของมันที่ควรนำมาพิจารณาอย่างไร ควรมิควรก็ควรรู้ทัศนะแบบนี้ไว้บ้างนั่นแหละ
 
     (1) บ้าทฤษฎี
 

ใครที่รู้จักผม คงพอรู้บ้างว่านอกจากสอนหนังสือ ทำวิจัย เขียนงานวิชาการหนัก ๆ และงานบริหารของคณะ มหาวิทยาลัย และเครือข่ายทางวิชาการของสาขาวิชาตนเองแล้ว ผมพอจะทำอะไรในด้านของการให้บริการแก่สังคมและกระทั่งร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไรอยู่บ้างเช่นกัน ไม่ว่าจะกับกลุ่มนักวิชาการสันติประชาธรรม ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษา-พฤษภา 53 และคณะรณรงค์แก้ไขม.112 รวมทั้งด้วยการนำเสนอประเด็นวิพากษ์สังคมบ้าง การเมืองบ้าง ผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเฟซบุ๊กก็เคยเล่นมาแล้ว 

หากสิ่งที่ทำเหล่านี้ยังทำให้ผมถูกเรียกว่า อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง ไม่นำพากับเรื่องราวสาธารณะ ก็ไม่ทราบว่าจะว่าอย่างไรแล้ว เว้นเสียแต่ว่าคุณจะไม่อยากรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมที่ผมเข้าร่วมอยู่ด้วย เพราะเนื้อหาไม่เข้าหูคุณ หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ ก็ช่างเถอะ 

แต่ในการทำงานทางวิชาการ รวมทั้งการนำเสนอความคิดต่อสังคม ผมยืนยันการใช้ทฤษฎี ไม่ใช่เพียงเพราะแค่ถูกฝึกมาอย่างนั้น แต่เพราะเห็นว่าทฤษฎีมีข้อได้เปรียบหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไป
 
หากจะให้พูดง่าย ๆ ทฤษฎีเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ยุ่งเหยิง ทฤษฎีช่วยจัดระบบความยุ่งเหยิงเหล่านั้นให้เข้าใจได้ เราจะเริ่มจากทฤษฎีอะไรก็ได้ แต่นักวิจัยภาคสนามอย่างโบนิสลาฟ มาลินอฟสกี ชาวโปแลนด์ที่หลงใหลนวนิยายของนักอาณานิคมอังกฤษ จนกลายไปเป็นนักมานุษยวิทยาที่วางรากฐานให้การวิจัยภาคสนามกล่าวไว้ว่า นักวิจัยภาคสนามต้องมีทฤษฎี และควรเริ่มจากทฤษฎีที่ใหม่สักหน่อย หรือทฤษฎีที่มีการถกเถียงถึงกันมากสักหน่อย 
 
ที่ต้องเลือกที่ใหม่สักหน่อย ผมคิดว่าเพื่อที่ว่าจะยังสื่อสารกับโลกสากลปัจจุบันได้ หรือไม่ก็เพื่อที่จะไม่เข้าใจอะไรผิดพลาดแบบที่ทฤษฎีเก่า ๆ ได้ดำเนินมา อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ทฤษฎีใหม่ ๆ มากมาย ก็ถูกรื้อฟื้นพัฒนาจากทฤษฎีเก่า ๆ ทั้งนั้นแหละ ผมเรียนมาจนบัดนี้ยังไม่เห็นอะไรใหม่ถอดด้ามแบบที่ยังไม่เคยถูกคิดกันมาก่อนเลย เพียงแต่บางสมัย ทฤษฎีแบบหนึ่งครอบงำมากเกินไปจนทำให้มองไม่เห็น ไม่เข้าใจมิติอื่น ๆ ที่ทฤษฎีแบบอื่น ๆ สนใจ จึงมีการไปปัดฝุ่นหยิบเอาทฤษฎีเก่า ๆ ที่แหวกแนวทางที่ครอบงำอยู่ มาพัฒนาใหม่
 
จากมุมมองทางมนุษยศาสตร์ ซึ่งความรู้ของผมเอนเอียงไปทางนั้นมากกว่า ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการยอมรับ หากแต่นักมานุษยวิทยาเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นมนุษยศาสตร์เกินไปในสายตานักสังคมศาสตร์สาขาอื่น ๆ แต่ก็เป็นวิทยาศาสตร์เกินไปในสายตานักมนุษยศาสตร์ฮาร์ทคอร์ แต่เพื่อไม่ให้ตกลงไปสู่รายละเอียดเฉพาะถิ่นเฉพาะที่อย่างตายตัวจนสนทนากับใครแทบจะไม่ได้เลย ทฤษฎี ซึ่งเป็นหลักสากลบางอย่าง จะช่วยให้เรื่องราวเฉพาะเจาะจงจากที่หนึ่ง สามารถพูดคุยถกเถียงกับเรื่องราวเฉพาะเจาะจงจากที่อื่น ๆ ได้
 
ทฤษฎีมีระดับของภาษานามธรรมที่แตกต่างกัน หากขึ้นไปถึงระดับที่สามารถคุยกันได้ข้ามสาขาวิชา เช่น สังคมวิทยาคุยกับเศรษฐศาสตร์ หรือไกลกว่านั้นคือการคุยข้ามศาสตร์ เช่น มนุษยศาสตร์ถกเถียงกับวิทยาศาสตร์ นั่นตือการทำให้ทฤษฎีเป็นภาษาของการสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวาง ทฤษฎีจึงเป็นทั้งข้อเสนอจากการเข้าใจปรากฏการณ์ใด ๆ หรือเรื่องราวใด ๆ และเป็นภาษากลางของการทำงานวิชาการ
 
แต่ "ทฤษฎี" ก็ไม่ได้มีไว้ให้ยึดมั่น ถ้ายึดมั่นจะกลายเป็น "ทิฏฐิ" ที่จริงผู้รู้บาลี-สันสกฤตย่อมทราบดีว่า คำว่าทฤษฎีกับคำว่าทิฏฐิเป็นคำเดียวกัน แต่ภาษาไทยเอามาทำให้เป็นคนละคำกัน แน่นอนว่าการเริ่มต้นด้วยทฤษฎีย่อมต้องมี(อ)คติแบบใดแบบหนึ่ง และก็ย่อมจำกัดมุมมองของการเข้าใจโลกไปทางใดทางหนึ่ง แต่ก็เพราะอย่างนั้นนั่นแหละ ที่เราจะต้องวิพากษ์ทฤษฎีก่อน จะต้องเข้าใจขีดจำกัด ขอบเขตของความรู้ของเราก่อน ความรู้ทางวิชาการจึงเป็นความรู้ในขอบเขตจำกัดหนึ่งทั้งสิ้น 
 
ในแง่นี้ นักสังคมศาสตร์ที่อยากจะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งนั้น ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด นั่นคือนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบอกเสมอว่า "สมมุติว่าทุกสิ่งไม่เปลี่ยนแปลง" คำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์จึงใกล้เคียงความจริงที่สุดในขอบเขตที่จำกัดไว้เท่านั้น ความรู้ของนักสังคมศาสตร์และนักมนุษยศาสตร์อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกันนั้น
 
ที่จริงธรรมเนียมการใช้ทฤษฎีได้เปรียบการพยายามไม่ใช้อยู่เหมือนกัน เนื่องจากการใช้ทฤษฎีก็จะต้องตรวจสอบทฤษฎี เข้าใจตื้นลึกหนาบาง หรือเข้าใจขีดจำกัดของตนเองก่อน ต่างจากการพยายามไม่ใช้ทฤษฎี ที่หลายต่อหลายครั้งก็มักตกลงไปในกรอบทฤษฎีแบบใดแบบหนึ่งโดยไม่ทันได้ระวังตัว การไม่ใช้ทฤษฎีจึงอาจกลายเป็นการหลอกตนเอง หรือไม่เข้าใจกับดักที่ตนเองวางไว้ก็ได้ ดังนั้น การใช้ทฤษฎีจึงมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์ตนเองได้และถูกวิพากษ์ได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมามากกว่าการหลบตนเองอยู่หลังกองข้อมูลที่อ้างว่าไม่มีทฤษฎีกำกับ
 
แต่หากยึดตามครูบาอาจารย์ทางมานุษยวิทยาสายมนุษยศาสตร์อย่างคลิฟเฟิร์ด เกียร์ซ ทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์ไม่ใช่ข้อค้นพบที่ยิ่งยวด ไม่ใช่ข้อค้นพบที่สามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ หากแต่เป็นข้อเสนอหนึ่งที่เข้าท่าที่สุดเท่าที่ผู้ศึกษาจะเสนอได้ในขณะนั้น ทฤษฎีในแบบมานุษยวิทยาตามข้อเสนอนี้จึงเป็นการนำความรู้ที่ได้จากพื้นที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไปสนทนา ถกเถียงกับความรู้ที่มีการเสนอมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่การศึกษาเพื่อยืนยันข้อค้นพบเดิม ๆ หรือไม่ใช่เพียงกรณีศึกษาหนึ่งในกรอบทฤษฎีหนึ่ง แต่เป็นการนำเอาเรื่องราวเฉพาะเจาะจง ไปแลกเปลี่ยนกับทฤษฎีที่เป็นนามธรรม 
 
ต่อคำถามที่ว่า มีคำตอบที่ยุติได้อยู่ที่ไหนหรือไม่ เกียร์ซตอบด้วยนิทานของชนพื้นเมืองในอเมริกาว่า "มีคนอังกฤษซึ่งรู้มาว่า ชาวอินเดียนเชื่อว่าโลกวางอยู่บนฐานอะไรสักอย่าง ที่วางอยู่บนหลังช้าง แล้วช้างยืนอยู่บนหลังเต่า เขาเลยถามต่อว่า แล้วเต่าล่ะ ยืนบนอะไร เต่าอีกตัวหนึ่งเหรอ ชาวอินเดียนตอบว่า ถัดจากเต่าแล้ว ก็จะเป็นเต่าอีกตัวหนึ่ง ต่อไปอย่างนั้นเรื่อยๆ" ทฤษฎีจึงไม่ใช่คำตอบที่สิ้นสุดตายตัว ทฤษฎีมีไว้ให้ถกเถียงด้วย ไม่ใช่ให้ยำเกรงหรือบูชา
 
โลกวิชาการก็แค่นี้แหละครับ ก็เถียงกันไปกันมา แต่หากไม่มีทฤษฎี ก็ไม่ทราบว่าจะคุยกันข้ามพื้นที่ ข้ามสาขาวิชา ข้ามโลกของศาสตร์ต่างๆ อย่างไร ทฤษฎีไม่ได้มีไว้อวดอ้างความซับซ้อน ไม่ได้มีไว้ข่มคนไม่รู้ทฤษฎี แต่มีไว้นำทาง มีไว้ให้รู้ข้อจำกัด มีไว้ให้สามารถคุยกันได้ มีไว้ให้ล้มล้าง ตรวจสอบทบทวน เพราะฉะนั้น อย่ารังเกียจทฤษฎีนักเลยครับ แม้ว่าจะไม่ชอบหน้าคนชอบใช้ทฤษฎีก็เถอะ 
 
เขียนมาอย่างยืดยาว อธิบายได้เพียงส่วนเดียว ยังเหลืออีก 3 ส่วน เอาไว้มีเวลามาเล่าต่อก็แล้วกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา