Skip to main content

น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน

แต่เมื่อทำท่าอ้างหลักการโน่นนี่นั่นว่าสถาบันที่เคารพรักบ้างล่ะ ว่าไม่เข้าข่ายสิทธิเสรีภาพบ้างล่ะ มันมันแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมของสถาบันรัฐสภา และแสดงการไม่เคารพอำนาจของประชาชนที่เลือกพวกคุณเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพวกเขา 
 
อย่าลืมว่าเขาไม่ได้เลือกพวกคุณมาเพื่อออกกฎหมายเท่านั้น และยิ่งกว่านั้นคือ ประชาชนไม่ได้เลือกพวกคุณมาปกป้องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในนามของการปกป้องความมั่นคงคงรัฐ แต่เขาเลือกพวกคุณมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาด้วย
 
เหตุผลที่รัฐสภาปฏิเสธข้อเรียกร้องของประชาชนราวสามหมื่นคนที่เข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้น มีการแยกองค์ประกอบความผิด ลักษณะการกระทำความผิดที่ผ่อนคลายลง และอัตราโทษที่น้อยลง ย่อมจะต้องทำให้มีการละเมิด กล่าวหา ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตรมาดร้ายได้โดยง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐได้" นับเป็นการปกป้องความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง 
 
อันที่จริง การวิจารณ์กษัตริย์เป็นคนละเรื่องกันกับการละเมิด ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตรมาดร้าย กษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้รับการคุ้มครองโดย ม. 112 เหตุผลในการบอกปัดข้อเสนอของประชาชนครั้งนี้จึงแสดงการบิดเบือนในหลายๆ ประการด้วยกัน 
 
1) หากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้ว เข้าใจไม่ได้เลยว่าการมีโทษสูงจะทำให้เกิดการละเมิดสถาบันน้อยได้อย่างไร ในเมื่อข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งคือ การที่ผู้ต้องหาคดี ม 112 เพิ่มเป็นจำนวนมหาศาลในปี 2552-2553 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการลดโทษ ม. 112 ลงเลย 
 
2) ด้วยตรรกเดียวกันนี้ สภาผู้แทนราษฎรไทยจะตอบอย่างไรว่า ในบางประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ อย่างญี่ปุ่น กษัตริย์เขาทรงกระทำการอย่างไรหรือจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแบบ ม. 112 มาปกป้องเป็นพิเศษ กษัตริย์เขาเข้มแข็งหรือมีพระบรมเดชานุภาพอย่างไรหรือจึงไม่ต้องการกฎหมายใดๆ มาคุ้มครองเป็นพิเศษเหมือนกษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของไทย 
 
3) ข้อโต้แย้งของสภาผู้แทนราษฎรตอบโต้แต่เพียงกล่าวว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ" แต่ข้อเสนอของ ครก. 112 นั้น ครอบคลุมทั้งกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นี่เป็นความจงใจสร้างความสับสนให้ปราชนเข้าใจผิดคิดว่า ครก. 112 มุ่งแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น
 
4) ข้อเสนอของ ครก. 112 ประสงค์ให้แยกแยะการวิจารณ์โดยบริสุทธิ์ใจ ด้วยข้อเท็จจริง ออกจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตรมาดร้าย เพราะทุกวันนี้เพียงแค่มีการวิจารณ์ใครต่อใครในครอบครัวของกษัตริย์ ก็อาจถูกเหมารวมว่าเป็นการละเมิดได้แล้ว
 
5) คงไม่ต้องอธิบายกันมากมายว่า การคงอยู่ของ ม. 112 แบบในปัจจุบันเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในร่างกาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากถือว่าโทษรุนแรงถึงขนาดเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่ให้พิสูจน์ความจริง 
 
6) ม. 112 เองคือกฎหมายที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ มีส่วนดึงให้สถาบันตกต่ำ เนื่องจากสถาบันถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองและกลั่นแกล้งส่วนบุคคล รวมทั้งการไม่สามารถวิจารณ์สถาบันได้ ทำให้สถาบันไม่ถูกตรวจสอบ การตรวจสอบกับการละเมิดเป็นคนละเรื่องกันแน่นอน พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงตรัสว่า พระองค์ทรงงาน จึงต้องถูกวิจารณ์ได้
 
ประการสุดท้าย การปัดข้อเสนอของปราชนครั้งนี้โดยสภาผู้แทนราษฎรนับเป็นภัยต่อความมั่นคงของ "สถาบันประชาชน" เหตุผลของสภาผู้แทนราษฎรชวนให้เข้าใจว่า สภาผู้แทนราษฎรไทยไม่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือความมั่นคงของรัฐ สภาผู้แทนราษฎรไทยเลือกปกป้องความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรไทยยอมให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อแลกกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ราวกับว่า ประเทศนี้ไม่ต้องมีก็ประชาชนได้ แต่ไม่มีกษัตริย์ไม่ได้
 
สภาผู้แทนราษฎรคงลืมไปแล้วว่า รัฐไทยในโลกปัจจุบันคือรัฐ-ชาติ และชาติคือประชาชน ไม่ใช่สถาบันอื่นใด ดังนั้น ถ้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองเหนือสถาบันอื่นใด ถ้าประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถ้าประเทศนี้ไม่มีสถาบันประชาชนที่เข้มแข็ง ถ้าไม่ปกป้องความมั่งคงของประชาชน จะมีรัฐประชาธิปไตยที่มั่นคงได้อย่างไร แล้วสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดมาจากไหน จะมีอำนาจมาจากที่ใด จะเป็นสภาผู้แทนพระมหากษัตริย์หรืออย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี