Skip to main content

ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน

วิธีที่จะทำให้พวกเขาได้แสดงความเห็นคือ จัดเก้่าอี้นั่งเป็นครึ่งวงกลม แม้ว่าบางปีห้องเรียนจะใหญ่ขนาด 50-60 คน ผมก็ทำอย่างนี้ นอกจากนั้น ต้องให้พวกเขาเตรียมตัวมาก่อน ผมแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 2-3 คน แล้วให้ทุกคนอ่านเอกสารก่อนเข้าเรียน แต่ละกลุ่มต้องเขียนบันทึกสรุปเอกสารที่อ่านแล้วเตรียมคำถามมา 4-5 คำถาม ใครไม่อ่าน ก็จะไม่ได้อะไรจากการเรียน พอสัมมนาไปสักพัก ผมจะบรรยายสรุปประเด็นปิดท้าย (ดูเอกสารประกอบการบรรยายบางส่วน)

 

นอกจากนั้น ผมให้ทุกคนทำงานเดี่ยว ทุกคนต้องอ่านหนังสือหรือวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม แล้วเขียน “บทปริทัศน์หนังสือ” คนละ 5-7 หน้า อีกส่วนที่ต้องทำคือ มีโครงการวิจัยเล็กๆ ของแต่ละคน เป็นงานเดี่ยว พวกเขาจะต้องเลือกหัวข้อที่สนใจเอาเอง แล้วจัดสรรเวลาไปเก็บข้อมูล ในสัปดาห์ท้ายๆ ของการเรียน เราจะนำ "บันทึกภาคสนาม" มาแลกเปลี่ยนกัน ถกเถียงกัน คัดเลือกของบางคนที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียนกัน สุดท้าย ทุกคนจะต้องเขียน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” คนละ 10-12 หน้า

 

เมื่อวาน ผมเพิ่งอ่าน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” ของนักศึกษาเสร็จ นักศึกษาวิชานี้ปีนี้มีทั้งสิ้น 65 คน คนละหนึ่งชิ้น ชิ้นละ 10-12 หน้า รวมแล้วราว 700 กว่าหน้าจบ ขอแชร์บันทึกสั้นๆ ที่ผมประมวลภาพรวมของผลงานทั้งหมดไว้ดังนี้

 

(1) เนื้อหาของงานมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องดาราเกาหลี อินสตาแกรม ศาสนา ความเชื่อ ไปจนถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ การเขียนนิยาย การแต่งรถ แรงงานอพยพ คนสูงวัย เทคโนโลยี คนพิการ การแต่งหน้า การศัลยกรรม กลุ่มชาติพันธ์ุ ฯลฯ

 

แต่โดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่สนใจสังคมใกล้ตัว คนใกล้ตัว หรือสนใจตนเอง ทำให้เห็นว่านักศึกษาสนใจทำความเข้าใจตนเอง มากกว่าทำความเข้าใจสังคมที่กว้างห่างไกลตนเอง หรือไม่อย่างนั้นก็สนใจสังคมรอบข้างที่ใกล้ตนเอง

 

(2) ส่วนประเด็นศึกษาหรือแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เพศสถานะ ความเป็นหญิง-ชาย เรือนร่าง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต่อต้าน วัฒนธรรมความจน ไปจนถึงมานุษยวิทยาทัศนา ความเป็นชายขอบ ความเป็นพื้นที่ เป็นต้น หรือที่ซื่อๆ ก็ยังเห็นมีคนใช้ทฤษฎีการแพร่กระจาย ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และทฤษฎีบทบาททางสังคมอยู่ 

 

บางคนเลือกพรรณนารายละเอียดของชีวิตคนโดยแทบจะไม่มีการตีความทับเลย และส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดมากเท่ากับสาระของวิถีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีหากทำได้อย่างละเอียดละออและหากสามารถแสดงให้เห็นแง่มุมของชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

 

(3) ในแง่การนำเสนอ โจทย์ที่ผมตั้งให้พวกเขาคือ "surprise me" คือจะทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกับงานเขียนของพวกเขา 

 

หลายคนจึงเลือกวิธีการเขียนที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้อยู่ในขนบของการเขียน "งานวิชาการ" ทั่วไป เช่น บางคนเขียนเรื่องสั้น บางคนเขียนบทความวิชาการปนเรื่องสั้นปนภาพประกอบนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอ บางคนเขียนการ์ตูนมาส่ง บางคนเขียนจดหมาย บางคนเขียนบทนำเป็นกลอนที่ไพเราะและได้เนื้อหาทางวิชาการดีมากด้วย 

 

แต่งานเขียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเขียนในขนบของงานวิชาการ บางคนเขียนเป็นวิทยาศาสตร์เสียจนบางทีก็น่าเบื่อไปบ้าง สุดท้ายผมพบว่า งานชิ้นไหนยิ่งชวนให้ใช้เวลาอ่านนานเท่าไหร่ จูงใจให้อ่านได้มากตัวอักษรเท่าไหร่ ยิ่งจะได้คะแนนดี

 

(4) แน่นอนว่างานเขียนของพวกเขาหลายคนยังมีปัญหา ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การเขียนโดยไม่มีย่อหน้า หรือเรื่องราวทั้งหัวข้อใหญ่ๆ เนื้อหายาวๆ แต่กลับมีเพียงย่อหน้าเดียว ผมบอกเขาหลายครั้งแล้วว่า นั่นแสดงว่าคุณจัดระบบความคิด จัดลำดับการนำเสนอไม่ได้ หรือไม่ได้จัดโครงสร้างการนำเสนอก่อนหรือหลังการเขียน 

 

บางคนเหมือนพวกบ้าทฤษฎี หรือบางทีพวกเขาจะพยายามเอาใจนักทฤษฎีเสียจนล้นพ้น ทำให้เนื้อที่สำหรับการเสนอผลงานตนเองน้อยไป พวกเขานึกว่าอาจารย์จะอยากอ่านทฤษฎีที่พวกเขาเพียรลอกๆๆ มาอย่างนั้นหรือ ไม่ทราบเมื่อไหร่จะเข้าใจกันเสียที

 

ปัญหาการเขียนทั่วๆ ไปยังมีอีกมาก แต่ที่สำคัญอยากยกมาสรุปตรงนี้คือปัญหาการนำเสนอด้วยมุมมองจากเบื้องบน (omniscient point of view) คือสรุปความโดยไม่มี "ผู้มอง" ไม่มีผู้พูด กล่าวราวกับเป็นความจริงสูงสุด ทั้งๆ ที่สรุปมาจากเพียงการศึกษาคน 2-3 คน ไม่ปล่อยเสียงของผู้คนที่พวกเขาศึกษาเข้ามาในงานบ้างเลย บางคนคงเชื่อว่าการเขียนด้วยการบังตนเองและขจัดเสียงหลากหลายออกไปให้หมดคือวิธีที่ทำให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความชัดเจน แต่จริงๆ แล้วนั่นคือวิธีลดทอนความจริงที่มีสีสัน ให้กลายเป็นเพียงข้อสรุปที่ตายด้าน

 

สรุปรวมแล้ว งานหลายชิ้นทำให้ผมทึ่งทั้งด้วยเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประเด็นที่พวกเขานำเสนอ งานหลายชิ้นทำให้ผมต้องสารภาพว่า เมื่อตอนที่อายุเท่าพวกเขา ผมยังไม่สามารถเขียนอะไรได้ขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ งานหลายชิ้นให้ความบันเทิงมากกว่างานนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก งานส่วนใหญ่ให้ความหวังทางวิชาการมากกว่างานวิจัยและบทความวิชาการของนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย แถมบางชิ้นยังให้ความรู้และน่าอ่านมากกว่างานเขียนของศาสตราจารย์บางคน

 

การอ่านงานของนักศึกษาชวนให้เกิดอารมณ์หลายๆ อย่าง งานบางชิ้นชวนให้โกรธ งานบางชิ้นชวนให้หน่าย ให้ง่วง ให้น้อยใจในวาสนาของตนเอง แต่งานหลายชิ้นก็ชวนให้ตื่นเต้น ชวนให้ปลื้มใจ ทำให้ยิ้มได้และอยากเอาไปอวดผู้คน

 

นักศึกษาหลายคนอาจเพิ่งเคยเขียนงานลักษณะนี้ หลายคนอาจจะยังมีโอกาสเขียนงานลักษณะนี้อีก แต่หลายคนอาจจะเขียนงานลักษณะนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเรียนของพวกเขา 

 

หวังว่าพวกเขาจะนำเอา "การเขียนชีวิตผู้คน" ไปใช้ทำความเข้าใจชีวิตตนเองและคนอื่นที่พวกเขาจะพบเจอในภายหน้าได้บ้างตามสมควรแก่โอกาส และหากโชคดี สังคมอาจจะได้ต้อนรับงานเขียนจากนักเขียนหน้าใหม่อีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย