Skip to main content

ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี

คุณธรรมของ "ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" ไม่ใช่คุณธรรมแบบไทยๆ แน่ๆ แต่ผมมั่นใจว่าสังคมไทยก็ไม่ได้เหยียดผู้หญิงมากเท่าที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันมาก่อน และที่จริงการเคารพเพศอย่างเท่าเทียมกันก็ไม่ใช่คุณธรรมแบบตะวันตกอีกด้วย เพราะสังคมตะวันตกก็เหยียดเพศ เกลียดตุ๊ดไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะยิ่งกว่าในสังคมไทยและสังคมตะวันออกตั้งมากมายด้วย

แต่หากใครจะบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคม "ปิตาธิปไตย" ชายเป็นใหญ่มาแต่ไหนแต่ไร ผมก็ว่าไม่ถูกนัก สังคมไทยในอดีต (นานแค่ไหนไม่รู้ อย่างน้อยในรุ่นยายผมก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่) ไม่ได้ยอมให้ใครเหยียดเพศแม่ได้ง่ายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมคิดว่าการเหยียดเพศหญิงอย่างในปัจจุบันน่าจะมีที่มาจากสอง-สามแหล่ง ซึ่งมาจากซีกโลก "ตะวันตก" ของไทยทั้งสิ้น

หนึ่งคือจากศาสนาโลก ไม่ว่าจะฮินดู (พราหมณ์) พุทธ คริสต์ อิสลาม ให้ค่าผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น เทพเจ้าสูงสุดของฮินดูสามองค์ ศิวะ พรหม นารายณ์ เป็นชายทั้งสิ้น พุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเถรวาทกีดกันผู้หญิง ในศาสนาคริสต์ผู้หญิงเกิดจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย เกิดมาภายหลังและเกิดจากผู้ชาย ในอิสลามผู้หญิงต้องอยู่ในการดูแลของผู้ชาย ต้องควบคุมตัวเองเพื่อไม่กระตุ้นราคะของผู้ชาย

สองคือจากสังคมอเมริกันชั้นกลาง ที่กดผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง "อเมริกันดรีม" ที่พ่อบ้านทำงานเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านแล้วเจอศรีภรรยาทำกับข้าวด้วยเครื่องครัวที่อำนวยความสะดวกสารพัด แม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ ทำความสะอาดบ้าน ระหว่างที่สามีทำงานนอกบ้าน ในครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อ-แม่-ลูก คือครอบครัวในอุดมคติของสังคมอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมของผู้ชนะสงครามแล้วก่อสงครามไปทั่วโลก

ถ้าจะมีอีกแหล่ง น่าจะมาจากสังคมวิกตอเรี่ยนในยุโรปศตวรรษที่ 19 นี่เอง ที่ควบคุมเพศหญิงให้รักนวลสงวนตัว ผู้หญิงถูกควบคุม ถูกเก็บไว้ในบ้าน ถูกเรียกร้องให้เสียสละต่อครอบครัว ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ยุคนี้นี่เองที่เริ่มมีขบวนการสิทธิสตรีในยุโรป เพื่อต่อต้านกับการกดทับอำนาจของผู้หญิง

แต่ในสังคมก่อน อยู่นอก แต่ยังผสมผสานอยู่กับสังคมไทยหลังอิทธิพลของศาสนาโลก ผู้หญิงมีที่ทางมากกว่าในยุโรปและอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนน่าเชื่อว่าจะมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เอาง่ายๆ คือ การที่ผู้ชายต้องแต่งงานแล้วเข้าไปอยู่บ้านผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงครอบครองพื้นที่ทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในสังคมผู้หญิง เป็นคนนอกในสังคมของผู้หญิงที่เป็นพี่น้องกันหมด

สังคมลักษณะนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิค ที่มีหลักฐานความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมายืนยันมากมาย จนเป็นที่มาของแนวคิดเฟมินิสต์ยุคใหม่ ที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ของเฟมินิสต์ที่เอาผู้หญิงตะวันตกเป็นศูนย์กลาง แล้วสรุปเหมารวมอย่างผิดๆ ว่าผู้หญิงถูกกดขี่ทั่วโลก

ในการศึกษาสังคมไทยช่วงหลังๆ จึงเริ่มมีนักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์อย่างแคทเธอรีน บาววี่เสนอว่า การสร้างเครือข่ายทางการเมืองเชื่อมโยงสังคมในวังเข้ากับสังคมชาวบ้าน น่าจะผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน และดังนั้น การ "ถวายตัว" ของผู้หญิง แท้จริงแล้วเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับไพร่ผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นคนละเรื่องกันกับการสร้างฮาเร็มที่พวกฝรั่งมักเข้าใจเก่ียวกับโลกของนางใน

ว่าด้วยสังคม "นางใน" มีหลักฐานการสร้างฐานอำนาจของฝ่ายหญิงในสังคมชนชั้นสูง สุจิตต์ วงษ์เทศเคยบอกเล่าว่า ในสมัยอยุธามีคำว่า "กษัตริย์ฝ่ายใน" หมายถึงเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่ากษัตริย์ผู้ชาย 

ในเวียดนามในอดีตเมื่อหลายศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ในบางรัชกาลแทนที่จะตั้งกษัตริย์ใหม่ กลับให้ราชินีองค์เดิมสมรสกับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่อาจเป็นน้องชายหรือพี่ชายของกษัตริย์องค์เก่า ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายราชินีไว้ พูดอีกอย่างก็คือ บางครั้งราชินีก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์

คุณธรรมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยยังต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ แต่อย่าตั้งข้อรังเกียจด้วยคิดว่านั่นเป็นของตะวันตก เพราะความเข้าใจดังกล่าวก็เคยมีในสังคมไทยมาก่อน ต้องรื้อฟื้นความเข้าใจสังคมพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาผสมผสานกับคุณธรรมสิทธิมนุษยชนของสังคมสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ ต้องเรียกร้องการเคารพเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน กับทั้งผู้อื่นและต่อตนเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย