Skip to main content

เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ" 

เขาคงไม่คิดว่าเขาจนแต้มหรอก แต่ผมถือว่านั่นคือการจนแต้ม ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยลองทำอะไรแบบนี้ แต่นั่นมันนานแสนนานมาแล้ว หรือเป็นเพราะตอนนั้นผมคงยังไม่แก่พอที่จะไม่อยากขวนขวายหาอะไรอื่นนอกจากพุทธศาสนาอีกแล้วมาตอบทุกคำถาม

เคยมีศาสตราจารย์ไทยคนหนึ่งถามนักศึกษามานุษยวิทยาว่า "มีทฤษฎีอะไรที่ตอบคำถามได้ทุกอย่างหรือเปล่า" นักศึกษาก็ตอบไปอย่างที่เรียนมาว่า "ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาต้องประกอบกันหลายๆ ทฤษฎี จึงจะสามารถทำความเข้าใจสังคม เข้าใจมนุษย์ได้ ไม่มีทฤษฎีอะไรที่ดีที่สุดที่สามารถตอบได้ทุกคำถาม" ศาสตราจารย์คนนั้นยังตื้อถามอีกว่า "มีสิ ลองคิดดูดีๆ" นักศึกษาก็เริ่มงง ศาสตราจารย์คนนั้นก็เลยตอบเองว่า "ก็ศาสนาพุทธไงล่ะ" 

ผมสงสัยว่าทำไม ศ. คนนั้นถึงไม่ไปบวชพระเสีย แล้วเดินทางธรรมไปเลย จะมากินเงินเดือนหากินเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปทำไม แต่คงเพราะเขาไม่ได้อยากเปลี่ยนชีวิตตนเองขนาดนั้น เขาแค่อยากคิดแบบนั้น ปรับตัวบ้างนิดหน่อย แล้วก็กินเงินเดือนเทศนาคนอื่นไปเรื่อยๆ 

จะว่าไปการคิดแนวพุทธศาสนาของนักคิดไทยส่วนมากก็เป็นการคิดแบบพุทธในแนวหนึ่ง อยากเรียกว่าแนวพุทธทาสหรือไม่ก็แนวพระประยุทธ์ ปยุตฺโต ซึ่งเน้นการใช้ความคิดใช้ "ปัญญา" มากกว่าการ "ปฏิบัติ" พูดง่ายๆ คือไม่มีใครออกแนวเจริญวิปัสสนา หรือไม่เห็นใครกลายเป็นพระธุดงค์ไปสักคน ยิ่งเรื่องปาฏิหาริย์ยิ่งไม่ต้องพูดกัน สำหรับผม แนววิปัสสนา แนวธุดงค์ แนวปฏิหาริย์น่ะ ไทยเสียยิ่งกว่าแนวนักคิดชราอีก

ก็เพราะว่าพุทธศาสนาแบบนี้ไม่ได้เรียกร้องให้พวกเขาต้องปรับตัวอะไรมากมายนี่เอง ที่ทำให้พวกนักคิดไทยวัยชราเหล่านี้เลือกสมาทาน พุทธศาสนาแบบนี้จึงเป็นพุทธศาสนาของคนที่สามารถปรับศาสนาให้เข้ากับชีวิตประจำวันแบบชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองได้ง่าย พวกเขาไม่ต้องปรับการกินอยู่ ไม่ต้องลำบากปฏิวัติตนเอง ปฏิวัติจิตใจ แค่อาศัยการนำเอาหลักคิดแบบพุทธๆ ไปใช้ในการเข้าใจสังคม เข้าใจตนเอง

แต่จะว่าไป การคิดทางพุทธศาสนามักนำมาซึ่งการทดลองปฏิบัติอะไรตามความคิดนั้นอยู่เสมอ แต่ผมก็คิดว่าการปฏิบัตินั้นไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงชาวพุทธที่เป็นชนชั้นกลางระดับสูงในเมือง แค่กินน้อยลง พูดช้าลงหน่อย นานๆ แสดงทัศนะที ไม่ต้องสุงสิงกับเรื่องปากท้อง เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการชิงอำนาจการเมือง เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องเขตแดน เรื่องอะไรก็ไม่ต้องสนใจทั้งนั้น เพราะคิดดี ทำดี อยู่แต่ในบ้าน แล้วก็ตระเวนเทศนาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว จบ.

ความจริงการจนแต้มที่พุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเฉพาะในแวดวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ แนวทางแบบเข้าวัดในบั้นปลายชีวิตกลายเป็นแนวทางากรค้นหาความเป็นตัวของตัวเองในการทำงานศิลปะของศิลปินไทยเหมือนกัน ผมสงสัยว่านักเขียนไทยก็อาจจะลงเอยทางนี้กันมากเหมือนกัน ถ้าจะไม่ใช่พวกออกแนวแสวงหา "วัฒนธรรมชุมชน"

ดังนั้น นอกจากจะเป็นความสอดคล้องในด้านของวิถีชีวิตแล้ว อาจเป็นเพราะว่าคนเหล่านี้ประสบกับวิกฤติอัตลักษณ์ในโลกที่กำลังหมุนตามภาวะโลกาภิวัตน์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นวิกฤติอัตลักษณ์ของแต่ละคนในบั้นปลายของชีิวิต 

พูดง่ายๆ ว่า หลายคนหมดปัญญาและหมดศรัทธากับการวิ่งไล่โลกความคิดสากลไปแล้ว เลิกอ่านหนังสือใหม่ๆ ไปนานเกินกว่า 10 ปีแล้ว และพอได้ตำแหน่งวิชาการใหญ่โตก็เริ่มอยากสถาปนาความเป็น "เอตทัคคะ" คือเชี่ยวชาญเป็นเลิศทางใดทางหนึ่งกับเขาบ้าง เรียกว่า ก็อยากเสนอทฤษฎีอะไรให้โลกสากลนั่นแหละ แต่คิดตามเขาไม่ไหว ก็เลยหันมาหาโลกพุทธศาสนา

น่าทำวิจัยศึกษานักคิดแก่ๆ เหล่านี้ว่าทำไมแก่แล้วต้องเข้าวัด แต่จะว่าไป ตัวเองจะเข้าก็เข้าไปกับพวกกลุ่มตัวเองสิ ทำไมจะต้องมาลากให้คนอื่นที่ยังมีหนทางอื่นๆ ให้เลือกเข้าตามไปด้วย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี