Skip to main content

ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์

ภาพที่เห็นเป็นผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการแต่งกายเข้าห้องเรียนของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555" (ปีกลาย) ที่อาจารย์ท่านหนึ่งนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย น่าอดสู ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ จึงขอถือวิสาสะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) ถ้าดูเฉพาะผลการสำรวจโดยยังไม่ใส่คุณค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าคณะทาง "สายวิชาชีพ" ใส่ใจกับการแต่งกาย "สุภาพ" มากกว่าคณะทาง "สายวิชาการ" คณะทาง "วิทยาศาสตร์" ใส่ใจกับการแต่งกายสุภาพมากกว่าคณะทาง "สังคมศาสตร์" และ "มนุษยศาสตร์"

แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ความ "ใส่ใจ" นี้ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากสำนึกของนักศึกษาเอง แต่อาจจะมาจากการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของคณาจารย์และคณะต่างๆ เอง หรือมาจากทั้งสองฝ่าย

2) เมื่อผมเผยแพร่ข้อสังเกตนี้ไปในพื้นที่อื่นเมื่อวาน (24 มิถุนายน 2556) ผมใช้คำว่า "เครื่องแบบ" แทนที่จะเป็นคำว่า "การแต่งกายสุภาพ" แต่มีผู้ทักท้วงว่า การสำรวจนี้เขาสำรวจเรื่องการแต่งกายสุภาพ ไม่ได้สนใจเครื่องแบบ และหลายคณะในธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเลี่ยงคำ อาจจะเพราะเกรงการครหาว่าธรรมศาสตร์บังคับให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบ

ที่จริงมีทั้งการรณรงค์และการบังคับให้สวมเครื่องแบบในพื้นที่และโอกาสที่ผู้รณรงค์ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใคร) และผู้ควบคุมสถานที่ระบุว่า "เพื่อเหมาะสม" ในแง่นี้ "การแต่งกายสุภาพ" ในส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการแต่งเครื่องแบบ

แต่เอาล่ะ หากถือว่าการสำรวจนี้ต้องการสำรวจเพียง "ความสุภาพ" ของการแต่งกาย ก็ยังต้องถามต่ออีกว่า อะไรคือ "ความสุภาพ" ที่ว่านั้น และผมคิดว่าข้อสังเกตต่อไปข้างล่าง ซึ่งไม่ได้ใช้คำว่า "เครื่องแบบ" ตั้งแต่เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก ก็ยังใช้ได้กับการสำรวจความสุภาพของการแต่งกายอยู่ดี

3) หากจะลองตีความผลการสำรวจดังภาพดู ผมคิดว่าเหตุที่คณะทางสายวิชาชีพและสายวิทยาศาสตร์มีความเข้มงวดมากกว่านั้น เพราะสายวิชาชีพต้องการการควบคุม ต้องการวินัยมาก ทางคณะจึงต้องการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ระดับสูง ที่มีวินัย เชื่อฟังเจ้านาย เชื่อฟังระบบระเบียบ รับการสั่งการได้ง่าย

ส่วนสายวิทยศาตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเข้มงวดไปทำไม นอกจากว่าทั้งคณาจารย์และศิษย์นั้นเคยชินกับการเป็น "เด็กดี" เชื่อฟังระบบระเบียบ หรือไม่อย่างนั้น โดยธรรมเนียมของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่าอยู่แล้ว จึงยอมรับระเบียบได้ง่ายกว่า

ผิดกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่โดยสาขาวิชาการแล้ว ถูกสอนให้ตั้งคำถามกับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกทำให้มีความเชื่อมั่นในความคิดความเห็นของตนเอง ทั้งจากเนื้อหาวิชาเอง และจากการเรียนการสอนที่มักให้นักศึกษาคิดเอง ตัดสินใจเอง ใช้เหตุใช้ผลอย่างอิสระเองมากกว่า ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจึงมีและให้อิสระในการแต่งกายมากกว่า

4) การวิจัยนี้ไม่เป็นกลางอย่างแน่นอน ซึ่งที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะจะหาการวิจัยที่ไหนที่ปราศจากคุณค่าอย่างเด็ดขาดนั้นไม่มีหรอก แม้ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม (คงไม่ต้องให้ผมไปหาเอกสารอ้างอิงมายืดยาวเพื่อยืนยันกันหรอกนะ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณค่าแบบไหนกันที่การสำรวจนี้เชิดชูยกย่อง และต้องถามต่อว่า คุณค่าแบบนั้นเหมาะสม สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือไม่

งานวิจัยนี้ไม่เป็นกลางในแง่ของการใส่คุณค่าทางสังคมให้กับการแต่งชุดนักศึกษาตั้งแต่แรก หากวัดคุณค่าด้าน "ความรักอิสระ" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเป็นตัวของตัวเอง" "การให้อิสระแก่นักศึกษา" ตารางนี้จะต้องถูกกลับหัวกลับหางแน่นอน แต่ตารางนี้เลือกวัดคุณค่าจาก "ความมีวินัย" "การยอมรับกฎระเบียบ" "ความเชื่อง" "การเข้มงวดต่อนักศึกษาของคณาจารย์" ตารางนี้จึงเป็นอย่างที่เห็น

การสำรวจนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานใดที่ทำตารางนี้ออกมา และหน่วยงานใดหรือคณาจารย์ท่านใดที่เต้นตามตารางนี้ กำลังทำให้เรื่องการแต่งกายกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม เป็นศีลธรรมของการควบคุมคน ไม่ใช่หลักการของการสอนให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาอาจกำลังสับสนระหว่างการให้การศึกษาที่มันสมองกับการสั่งสอนศีลธรรมบนเรือนร่าง ยังไม่นับว่าการแต่งกายไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีจากข้างในจิตใจแต่อย่างใด

5) น่าสงสัยว่า อะไรคือตัวชี้วัดความ "สุภาพ" ความ "ไม่สุภาพ" ของการแต่งกาย ถ้าจะดูกันเพียงแค่นี้ โดยยังไม่ต้องดูเรื่องการสุ่มตัวอย่าง การกระจายตัวอย่าง การคิดค่าทางสถิติ และแง่มุมทางระเบียบวิธีวิจัยอีกร้อยแปด (นี่เป็นสำนวนนะครับ ไม่ต้องมาให้ลิสต์กันล่ะว่า 108 ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง) ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมผู้บริหารบางคนบางคณะ ที่ต่างก็อวดอ้างกันว่ามีความรู้ความสามารถ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตทางการวิจัยอะไรต่างๆ จะตื่นเต้นอะไรกับผลการสำรวจงูๆ ปลาๆ นี้ได้ 

นี่ยังไม่นับว่า เขาใช้วิธีสำรวจอย่างไร ผมได้ยินมาว่ามีการสำรวจด้วยการถ่ายรูปนักศึกษาบริเวณคณะต่างๆ หากทำอย่างนั้น ก็น่าสงสัยว่าจะผิดจริยธรรมของการวิจัยหรือไม่ ที่สำรวจด้วยการตัดสินคุณค่าโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกวิจัยทราบว่ากำลังถูกตัดสินคุณค่าอยู่ แต่ในเมื่อผู้สำรวจมีธงยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองมีมาตรฐานการวัดคุณค่าอย่างไร ก็แปลว่าผู้สำรวจเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกว่าผู้ถูกสำรวจ ในแง่นี้ก็คงไม่ต้องพูดกันเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

แต่ที่ตลกคือ หากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทำการสำรวจเอง แล้วทำวิจัยที่มีนัยส่อในทางละเมิดจริยธรรมของการวิจัยเสียเองแล้ว หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมในการใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของการวิจัยไปตัดสินใครได้ ในเมื่อตนเองก็ยังละเมิดเสียเอง

นี่แหละครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันครบรอบ 81 ปีการอภิวัฒน์สยาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ