Skip to main content

ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์

ภาพที่เห็นเป็นผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการแต่งกายเข้าห้องเรียนของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555" (ปีกลาย) ที่อาจารย์ท่านหนึ่งนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย น่าอดสู ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ จึงขอถือวิสาสะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) ถ้าดูเฉพาะผลการสำรวจโดยยังไม่ใส่คุณค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าคณะทาง "สายวิชาชีพ" ใส่ใจกับการแต่งกาย "สุภาพ" มากกว่าคณะทาง "สายวิชาการ" คณะทาง "วิทยาศาสตร์" ใส่ใจกับการแต่งกายสุภาพมากกว่าคณะทาง "สังคมศาสตร์" และ "มนุษยศาสตร์"

แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ความ "ใส่ใจ" นี้ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากสำนึกของนักศึกษาเอง แต่อาจจะมาจากการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของคณาจารย์และคณะต่างๆ เอง หรือมาจากทั้งสองฝ่าย

2) เมื่อผมเผยแพร่ข้อสังเกตนี้ไปในพื้นที่อื่นเมื่อวาน (24 มิถุนายน 2556) ผมใช้คำว่า "เครื่องแบบ" แทนที่จะเป็นคำว่า "การแต่งกายสุภาพ" แต่มีผู้ทักท้วงว่า การสำรวจนี้เขาสำรวจเรื่องการแต่งกายสุภาพ ไม่ได้สนใจเครื่องแบบ และหลายคณะในธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเลี่ยงคำ อาจจะเพราะเกรงการครหาว่าธรรมศาสตร์บังคับให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบ

ที่จริงมีทั้งการรณรงค์และการบังคับให้สวมเครื่องแบบในพื้นที่และโอกาสที่ผู้รณรงค์ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใคร) และผู้ควบคุมสถานที่ระบุว่า "เพื่อเหมาะสม" ในแง่นี้ "การแต่งกายสุภาพ" ในส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการแต่งเครื่องแบบ

แต่เอาล่ะ หากถือว่าการสำรวจนี้ต้องการสำรวจเพียง "ความสุภาพ" ของการแต่งกาย ก็ยังต้องถามต่ออีกว่า อะไรคือ "ความสุภาพ" ที่ว่านั้น และผมคิดว่าข้อสังเกตต่อไปข้างล่าง ซึ่งไม่ได้ใช้คำว่า "เครื่องแบบ" ตั้งแต่เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก ก็ยังใช้ได้กับการสำรวจความสุภาพของการแต่งกายอยู่ดี

3) หากจะลองตีความผลการสำรวจดังภาพดู ผมคิดว่าเหตุที่คณะทางสายวิชาชีพและสายวิทยาศาสตร์มีความเข้มงวดมากกว่านั้น เพราะสายวิชาชีพต้องการการควบคุม ต้องการวินัยมาก ทางคณะจึงต้องการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ระดับสูง ที่มีวินัย เชื่อฟังเจ้านาย เชื่อฟังระบบระเบียบ รับการสั่งการได้ง่าย

ส่วนสายวิทยศาตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเข้มงวดไปทำไม นอกจากว่าทั้งคณาจารย์และศิษย์นั้นเคยชินกับการเป็น "เด็กดี" เชื่อฟังระบบระเบียบ หรือไม่อย่างนั้น โดยธรรมเนียมของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่าอยู่แล้ว จึงยอมรับระเบียบได้ง่ายกว่า

ผิดกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่โดยสาขาวิชาการแล้ว ถูกสอนให้ตั้งคำถามกับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกทำให้มีความเชื่อมั่นในความคิดความเห็นของตนเอง ทั้งจากเนื้อหาวิชาเอง และจากการเรียนการสอนที่มักให้นักศึกษาคิดเอง ตัดสินใจเอง ใช้เหตุใช้ผลอย่างอิสระเองมากกว่า ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจึงมีและให้อิสระในการแต่งกายมากกว่า

4) การวิจัยนี้ไม่เป็นกลางอย่างแน่นอน ซึ่งที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะจะหาการวิจัยที่ไหนที่ปราศจากคุณค่าอย่างเด็ดขาดนั้นไม่มีหรอก แม้ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม (คงไม่ต้องให้ผมไปหาเอกสารอ้างอิงมายืดยาวเพื่อยืนยันกันหรอกนะ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณค่าแบบไหนกันที่การสำรวจนี้เชิดชูยกย่อง และต้องถามต่อว่า คุณค่าแบบนั้นเหมาะสม สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือไม่

งานวิจัยนี้ไม่เป็นกลางในแง่ของการใส่คุณค่าทางสังคมให้กับการแต่งชุดนักศึกษาตั้งแต่แรก หากวัดคุณค่าด้าน "ความรักอิสระ" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเป็นตัวของตัวเอง" "การให้อิสระแก่นักศึกษา" ตารางนี้จะต้องถูกกลับหัวกลับหางแน่นอน แต่ตารางนี้เลือกวัดคุณค่าจาก "ความมีวินัย" "การยอมรับกฎระเบียบ" "ความเชื่อง" "การเข้มงวดต่อนักศึกษาของคณาจารย์" ตารางนี้จึงเป็นอย่างที่เห็น

การสำรวจนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานใดที่ทำตารางนี้ออกมา และหน่วยงานใดหรือคณาจารย์ท่านใดที่เต้นตามตารางนี้ กำลังทำให้เรื่องการแต่งกายกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม เป็นศีลธรรมของการควบคุมคน ไม่ใช่หลักการของการสอนให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาอาจกำลังสับสนระหว่างการให้การศึกษาที่มันสมองกับการสั่งสอนศีลธรรมบนเรือนร่าง ยังไม่นับว่าการแต่งกายไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีจากข้างในจิตใจแต่อย่างใด

5) น่าสงสัยว่า อะไรคือตัวชี้วัดความ "สุภาพ" ความ "ไม่สุภาพ" ของการแต่งกาย ถ้าจะดูกันเพียงแค่นี้ โดยยังไม่ต้องดูเรื่องการสุ่มตัวอย่าง การกระจายตัวอย่าง การคิดค่าทางสถิติ และแง่มุมทางระเบียบวิธีวิจัยอีกร้อยแปด (นี่เป็นสำนวนนะครับ ไม่ต้องมาให้ลิสต์กันล่ะว่า 108 ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง) ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมผู้บริหารบางคนบางคณะ ที่ต่างก็อวดอ้างกันว่ามีความรู้ความสามารถ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตทางการวิจัยอะไรต่างๆ จะตื่นเต้นอะไรกับผลการสำรวจงูๆ ปลาๆ นี้ได้ 

นี่ยังไม่นับว่า เขาใช้วิธีสำรวจอย่างไร ผมได้ยินมาว่ามีการสำรวจด้วยการถ่ายรูปนักศึกษาบริเวณคณะต่างๆ หากทำอย่างนั้น ก็น่าสงสัยว่าจะผิดจริยธรรมของการวิจัยหรือไม่ ที่สำรวจด้วยการตัดสินคุณค่าโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกวิจัยทราบว่ากำลังถูกตัดสินคุณค่าอยู่ แต่ในเมื่อผู้สำรวจมีธงยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองมีมาตรฐานการวัดคุณค่าอย่างไร ก็แปลว่าผู้สำรวจเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกว่าผู้ถูกสำรวจ ในแง่นี้ก็คงไม่ต้องพูดกันเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

แต่ที่ตลกคือ หากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทำการสำรวจเอง แล้วทำวิจัยที่มีนัยส่อในทางละเมิดจริยธรรมของการวิจัยเสียเองแล้ว หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมในการใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของการวิจัยไปตัดสินใครได้ ในเมื่อตนเองก็ยังละเมิดเสียเอง

นี่แหละครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันครบรอบ 81 ปีการอภิวัฒน์สยาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา