Skip to main content

อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน

ปีนี้อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกผมอายุ 61 แล้ว แต่เธอยังไม่หยุดเขียนงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นวารสารวิชาการหรือหนังสือ ที่จริงเธอขยันขันแข็งอย่างนี้มาตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบ มีอาจารย์อีกคนที่อายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังไม่เกษียณ และยังตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาๆ ในอัตราสองปีต่อหนึ่งเล่ม 

ระบบมหาวิทยาลัยที่อเมริกาไม่มีการให้ออกตามอายุ แต่ก็ต้องผลิตผลงานต่อเนื่องจึงอยู่ต่อได้ จะทำอย่างนั้นก็ต้องมีวินัยที่เข้มแข็งมาก ต้องไม่หลุดจากวงการ ต้องได้ทุนวิจัยสม่ำเสมอ ต้องเก็บข้อมูลสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสือใหม่สม่ำเสมอ ต้องเขียนสม่ำเสมอ ต้องไปเสนอผลงานสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ว่อกแว่กนอกลู่นอกทางตามสิ่งเย้ายวน

ความเย้ายวนในโลกวิชาการที่อเมริกาคงไม่เหมือนในไทย สิ่งเย้ายวนในโลกทางวิชาการไทยๆ มีมากมาย เช่นว่า หากคุณดูมีแววในทางการบริหาร มีไอเดียอะไรบางอย่าง มีบุคคลิกประนีประนอม จะมีตำแหน่งบริหารแวะเวียนมาเคาะประตูห้องทำงานเสมอ ตำแหน่งเหล่านี้มาพร้อมเกียรติ พร้อมเงิน พร้อมบริวารและการแห่แหนของผู้คน 

ถ้าคุณพูดเก่ง ออกสื่อได้ไม่อายใคร ตอบโต้ได้ฉับไว คิดคำคมได้เสมอๆ ตอบได้แทบทุกคำถาม มีความเห็นในเรื่องใหญ่ๆ ได้แทบทุกเรื่อง คุณจะกลายเป็นเหยื่อของสื่อมวลชน ที่ทั้งขูดรีดและฉวยใช้คราบไคลความเป็นนักวิชาการของคุณ แลกกับการหยิบยื่นความเป็นเซเล็บทางวิชาการ ให้คุณไปไหนมาไหนแล้วมีเด็กติ่งมาคอยวิ่งกรูชูป้ายไฟเอียงหน้าขอถ่ายรูป

ผมไม่ได้ดูแคลนผู้ใดที่ไปอยู่ในที่สาธารณะเหล่านี้ ไม่ได้อิจฉาใครที่แสดงบทบาทเหล่านั้น และออกจะนับถือหลายคนที่เลือกเดินทางนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจไม่ได้เพื่อให้เด่นดังหรือมั่งคั่ง เพียงแต่ยังอยากทำงาน "วิชาการ" ที่บางครั้งตอบโจทย์สาธารณะตรงๆ ไม่ได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน จึงคอยเตือนตนให้มีระยะห่างกับความเย้ายวนลักษณะนั้น และเห็นว่าถึงเวลาต้องหลบออกมาบ้างแล้ว

ในโลกหอคอยงาช้างเองก็ใช่ว่าจะไม่มีความเย้ายวน ถ้าคุณมีแววเป็นนักวิจัยมือดี มีผลงานสม่ำเสมอ จะมีทุนวิจัยวิ่งมาหาคุณจากทุกทิศทาง และหากคุณหมุนตามงานวิจัยเหล่านั้น คุณอาจลืมไปแล้วว่าความสนใจทางวิชาการของคุณคืออะไร คุณจะกลายไปเป็นเครื่องประดับทางวิชาการของนักวิจัยรุ่นใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้เสมอ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้รับใช้ตอบคำถามที่คุณไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้นมาเอง พร้อมรับเงินค่าตอบแทนที่หรูหรา จนบางคนอาจไม่อยากสอนหนังสือ

ในท่ามกลางสิ่งเย้ายวนเหล่านี้ ผมนับถือครูบาอาจารย์และนักวิชาการรุ่นพี่ที่มั่นคงต่อวิชาชีพของตน บางท่านสมาทานชีวิตสมถะ หลีกเลี่ยงสื่อมวลชน ทำงานบริหารอย่างจำกัดแล้วรีบหลบออกมาเมื่อมีโอกาส บางคนแม้ไม่ปฏิเสธการอยู่ในที่แจ้ง แต่ก็เลือกพูดเฉพาะสิ่งที่ตนเองรู้ ที่สอดคล้องกับงานหลักของตนเอง บางคนเลือกทำงานบริหารเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสร้างสรรค์อะไรในระดับกว้าง แล้วหลบออกมาเมื่อบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง

แต่คำถามที่ยากกว่านั้นคือ ผมถามตัวเองว่า "สมัยยังเด็ก ที่เคยเรียกร้องนักวิชาการรุ่นพี่ รุ่นอาวุโสให้ทำโน่นทำนี่ แล้วตอนนี้ตนเองทำอะไรบ้างหรือแล้วยัง" "ที่เคยดูเบาว่านักวิชาการคนโน้นคนนี้ไม่ได้ผลิตอะไรใหม่ๆ เป็นไม้ตายซาก แล้วตอนนี้ตนเองเสนออะไรใหม่ๆ บ้างหรือยัง" คำถามพวกนี้ตอบยากกว่ามากนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา