Skip to main content
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา

 
โจทย์ข้างต้นเป็นหัวข้อเสวนาวานนี้ (18 สิงหาคม 2556) ที่ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดมและ New Culture ผมเป็นผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง ผมเสนอว่าระบบการศึกษาไทยที่ผมต่อสู้อยู่ด้วยนั้นมี 3 ลัทธิ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา (ไม่ใช่ท่านรองอธิการบดีที่รักของผมนะครับ) และลัทธิแบบฟอร์มของระบบประกันคุณภาพ เอาไว้ค่อยเล่าถึง 3 ลัทธินี้ในโอกาสอื่น แต่ตอนนี้อยากเล่่าบรรยากาศที่น่าประทับใจในการเสวนาวานนี้ก่อน
 
1) เมื่อวานนี้คนมาเยอะมาก เต็มห้อง น่าจะสัก 100 กว่าคน น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา นี่แสดงว่านักเรียนนักศึกษา พูดง่ายๆ คือวัยรุ่นกลุ่มใหญ่พอสมควรทีเดียวให้ความสำคัญกับการศึกษามากๆๆ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการศึกษาจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่พวก "เด็กๆ" เขาก็สนใจอย่างจริงจังเหมือนกัน แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะมาพร้อมกับความอึดอัด แต่พวกเขามีประเด็นดีๆ มาเสนอมากมาย 
 
เช่นว่า มีการวิพากษ์แบบเรียนที่ ในภาษาของผมคือ "งมงาย" ในหลายๆ มิติ คำถามน่าสนใจหนึ่งคือ หากนักเรียนสอบตกมาก ครูหรือนักเรียนกันแน่ที่โง่ ทำไมการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสายวิทย์มากกว่าสายศิลป์ และยังถามไปถึงความรุนแรง ความงมงายของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
 
คำถามคือ พวกผู้ใหญ่น่ะเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกแค่ไหน เปิดโอกาสให้เขาพูดในวิธีและเนื้อหาที่เขาสนใจแค่ไหน อยากฟังเขาพูดหรือไม่ หากยังเห็นแค่ว่าพวกเขาเรียกร้องอะไรก็เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องทำการบ้านมากนัก ให้มีเสรีภาพในการแต่งเนื้อแต่งตัวตามใจชอบมากขึ้นเท่านั้น ให้เรียนแต่เรื่องง่ายๆ จบง่ายๆ แค่นั้นละก็ คุณก็จะไม่ได้รับรู้ทัศนะจากคนที่ "รับการศึกษา" ซึ่งรับรู้และเข้าใจปัญหาการศึกษาไม่น้อยไปกว่า "ผู้ให้การศึกษา" 
 
2) นอกจากเนื้อหา วิธีการแสดงออกก็สำคัญ บางทีการแสดงออกของวัยรุ่นอาจดูขัดหูขัดตาบ้าง บางคนพูดในลีลาชาวฮิปฮอป บางคนอาจพูด "คำหยาบ" ปนบ้าง มีคำว่า "แม่ง" "เฮ้ย" "วะ" ฯลฯ บ้่าง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า นั่นคือส่วนหนึ่งกระบวนการคิดในชีวิตประจำวันของพวกเขา พวกเขาคิดด้วยคำเหล่านั้น คำหยาบ คำแสลงมีไวยากรณ์ของมันเอง ไม่เชื่อลองคิดและเขียนผ่านคำหยายดู ไม่ง่ายเลยนะครับ 
 
ไม่ใช่ว่าไม่มี "เด็กๆ" คนไหนพูดภาษาของผู้ใหญ่ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า กว่าที่พวกเขาจะใช้ภาษาผู้ใหญ่ได้ เขาอาจหลงลืมประเด็นหรือข้อคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของเขาไปหมดแล้ว เขาอาจถูกขัดเกลาไปจนเชื่องหมดแล้ว ภาษาคือเครื่องประกอบความคิด คนเราคิดผ่านภาษา หากเราพยายามแยกวัยรุ่นออกจากภาษาของพวกเขา เราก็จะแยกความคิดออกจากภาษาของพวกเขา ออกจากการแสดงออกของพวกเขา แล้วพวกเขาก็จะไม่แสดงความคิดเห็น พวกเขาก็จะไม่คุยกับคุณ แล้วปัญหาของพวกเขาก็จะไม่ได้ถูกรับรู้ ถึงขนาด wisdom ของพวกเขาที่แสดงออกในแบบของเขาก็จะไม่ได้รับการใส่ใจในสังคม 
 
3) ในแง่โครงสร้างสังคมไทยโดยกว้าง หากเทียบกับนักเรียนรุ่นก่อนหน้า คือรุ่น "คนเดือนตุลา" ผมคิดว่าลักษณะพิเศษของคนรุ่นนี้คือ พวกเขามาจากโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับ "คนชั้นกลางใหม่" หรือ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ไม่ใช่โรงเรียนแถวปากคลอง หรือโรงเรียนแถวสามย่านอีกต่อไป น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของวันนี้ คือ มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เรียน "เมืองนอก" อยู่ที่มหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ มาร่วมฟังและแสดงความเห็นอย่างเอาใจใส่กระทั่งใส่อารมณ์ร่วมอยู่หลายคน แต่พวกเขาไม่ใช่เด็กเนิร์ดเชื่องๆ พวกเขามีความเห็นที่ก้าวหน้า ไม่ต่างจากนักเรียนจากชนชั้นกลางใหม่ น่าคิดว่า ผู้นำทางความคิดในรุ่นต่อไปอาจจะมาทั้งจากคนที่มีพื้นฐานกว้างออกไป ผสมกับคนที่มีพื้นฐานจากชนชั้นกลางเก่า หากแต่มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างยิ่งจากพ่อแม่ของพวกเขา
 
คนรุ่นนี้สนใจปัญหาใกล้ตัว ปัญหาตนเอง แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปสู่สังคมวงกว้าง ต่างจากสมัยก่อนที่สนใจปัญหาคนอื่น ปัญหาไกลตัว และมีลักษณะเหมือนไปกอบกู้ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ "ชนชั้นผู้ทุกข์ยาก" ในที่สุดแล้วทุกวันนี้นักศึกษากลุ่ม "เดือนตุลา"ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็น "ชนชั้นกลางระดับสูง" ที่ขัดแย้งกับ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ที่พวกเขาไม่ได้รู้จักจริงจัง แต่เคยพยายามเป็นตัวแทนต่อสู้ให้มาก่อน มาวันนี้ คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตนเองแล้ว ลูกหลานของพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียน ออกมาต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ต่อสู้กับการครอบงำที่ไร้เหตุผลของระบบ "ด้วยตนเอง" มากขึ้นแล้ว นี่ยังไม่นับว่า "คนเดือนตุลา" ยังจะต้องทนกับความคิดแตกต่างของลูกหลานตนเอง ที่ก้าวหน้ากว่าพวกตน อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในวันนี้
 
4) ดูจากบรรยากาศวันนี้แล้ว ผมว่าสังคมไทยมีความหวังมาก แม้ว่าเราจะยังไม่ค่อยได้พูดกันถึงทางออกที่เป็นรูปธรรม ยังสร้างบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่อ่านอะไรยาวๆ เกินแปดบรรทัดไม่เป็นก็ตาม (ก็ช่วยไปคิดกันเอาเองบ้างเถอะครับพวกผู้บริหารน่ะ จะมาคอยอ่านบทสรุปอย่างเดียวก็ไม่รู้จะจ้างพวกคุณมาทำอะไร) แต่ผมคิดถึงว่า วันรุ่นพวกนี้เขามาไกลพอสมควรแล้ว ผมสงสัยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นวันนี้จะจัดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราที่ไหนได้บ้าง ที่เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่าน่ะไม่มีทาง ที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าหากเราไม่มุ่งหวังถึงขนาดเป้าหมายสูงส่งอย่างในยุโรป ในอเมริกา การศึกษาในประเทศไทยมีความหวังกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศมากนัก แต่แน่นอนว่า เราควรใฝ่สูง ฝันไกลๆ เอาไว้กับการศึกษาไทยไว้ด้วย
 
สุดท้าย อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณผู้ร่วมเสวนาให้ข้อคิดสำคัญว่า การศึกษาไม่ได้แยกขาดจากสังคมด้านต่างๆ จะมุ่งคิดแก้ปัญหาการศึกษาอย่่างเดียวไม่ได้ บก.ลายจุดซึ่งนั่งเสวนาอยู่ด้วยกันอีกคนชวนให้คนที่วิพากษ์การศึกษาออกมาทำโรงเรียน ทำมหาวิทยาลัยขนาดย่อม ที่ตอบโจทย์การมีชีวิตมากกว่าปัจจุบัน แต่ผมเสนอให้สู้ในระบบ ผมเลือกจะสู้ในระบบ 
 
ผมคิดว่่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนต้องเป็นอิสระจากระบบราชการให้มากกว่านี้ ขณะนี้มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมากขึ้นจนเกินครึ่งตัวในทางเศรษฐกิจ แต่ยังถูกควบคุมครอบงำอยู่มากในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการศึกษา การสร้างความรู้ และการบริการสังคม โรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเข้าไปมีส่วนบริหาร ธรรมศาสตร์กำลังจะมี แต่ยังไม่รู้ว่าจะฝ่าด่านการสืบทอดอำนาจบริหารในมหาวิทยาลัยไปได้แค่ไหน แต่นั่นเป็นเพียงข้อเสนอห้วนๆ ที่ยังต้องการรายละเอียดอีกมากมายยิ่งนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย