Skip to main content

นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ

ใครก็ตามที่ดูเบาการเคลื่อนไหวเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา ทรงผมนักเรียน คงไม่เข้าใจการเมืองในความหมายหลังมาร์กซิสม์ ที่ลงรายละเอียดไปถึงเรื่องเรือนร่าง พื้นที่ ถ้อยคำ กระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาทางสังคมศาสตร์เปลี่ยนไปรวดเร็วจนทันได้เห็นความล้าหลังของคนรุ่นก่อนหน้าและลูกศิษย์ลูกหา(บ)ของพวกเขาได้ทันตาในชั่วอายุคน

ในระยะที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่บรรดาครูบาอาจารย์รุ่นเก่าก่อน บรรดา "คนเดือนตุลา" บางคนที่หยุดพัฒนาการทางความคิดของตนไปแล้วเคยสมาทาน กำลังส่อเค้าเป็นเผด็จการมากขึ้นนั้น (ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แล้ว) จนเสื่อมสลายลงไปในยุโรปตะวันออกโดยสิ้นเชิงในที่สุด (ในทศวรรษ 1980) กระแสวิชาการในสายที่ภายหลังเรียกกันว่า "มาร์กซิสม์สายตะวันตก" บ้างล่ะ "มาร์กซิสม์สายวัฒนธรรม" บ้างล่ะ ก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น นักคิดคนสำคัญของสายนี้ได้แก่ Antonio Gramsci (1891-1937) 

กรัมชีเสนอแนวการวิเคราะห์ปัญหาการครอบงำทางวัฒนธรรม/อุดมการณ์ (hegemony) ซึ่งซ้อนทับกับการครอบงำด้วย "กำลังบังคับ" (coersion) ที่สำคัญคือ การครอบงำด้วยอำนาจทางวัฒนธรรมนี้ได้มาด้วย "การสมยอม" (consent) ของประชาชน และโอกาสที่ประชาชนจะต่อต้านไม่ยอมรับการสมยอมนั้น

งานของกรัมชีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการวิพากษ์วัฒนธรรมต่อเนื่องมาถึงสำนักแฟรงค์เฟิร์ท สำนักมาร์กซิสม์สายวัฒนธรรมอื่นๆ ที่โด่งดังได้แก่ Louis Althusser (1918-1990) ผู้วิเคราะห์กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ แนวคิดเหล่านี้สานต่อมาสู่การวิเคราะห์สัญญะว่าเป็นมายาคติ ผ่านงานของ Roland Barthes (1915-1980)  

ในทศวรรษ 1970 กลุ่มนักวิชาการมาร์กซิสม์สายตะวันตกที่พัฒนางานจนกระทั่งสร้างงานเชิงทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับงานวิจัยได้อย่างดีคือนักวิชาการมาร์กซิสม์ในอังกฤษ มีสำนักวัฒนธรรมศึกษาที่เบอร์มิงแฮมเป็นแกนกลาง นักวิชาการคนสำคัญผู้เป็นคนชายขอบชาวเวลช์ที่พัฒนาแนวคิดของกรัมชี จนสร้างแนวการวิเคราะห์วัฒนธรรมของตนเอง คนหนึ่งชื่อ Raymond Williams (1921-1988) 

แนวคิดสำคัญของวิลเลี่ยมส์ได้แก่การวิเคราะห์โครงสร้างอารมณ์ (structures of feelings) วิลเลียมส์ชี้ว่า อุดมการณ์นั้นมีทั้งฝ่ายครอบงำและต่อต้าน และทั้งสองด้านของอุดมการณ์ไม่ได้แบ่งแยกได้ง่ายๆ ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายใด ต่างหยิบยืม ฉกฉวยกันและกัน และต่างก็มีพลวัตเปลี่ยนแปลงสูง จนมีทั้งภาวะเป็นอารมณ์และภาวะที่เป็นตัวเป็นตนมีโครงสร้าง 

ในระยะเดียวกันนั้น นักคิดในฝรั่งเศสที่ได้รับอิทธิพลจากนิชเชอร์ (และผมว่าเวเบอร์ด้วยนะ) อย่าง Michel Foucault (1926-1984) ได้ปลิดการวิพากษ์วัฒนธรรม ให้พ้นจากคราบไคลของมาร์กซิสม์ แล้วเสนอแนวการวิเคราะห์ "โบราณคดี" และ "วงศาวิทยา" ของวาทกรรม เสนอให้เห็นถึงการที่อำนาจแผ่ซ่านผ่านปฏิบัติการของภาษา ความรู้ และการจัดการระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน การวิเคราะห์นี้ดึงเอารัฐและชนชั้นออกไป เพราะเห็นว่า ไม่ว่าจะคนชนชั้นใด หรือไม่ว่าใครจะสังกัดองค์กรทางการเมืองหรือไม่ ต่างก็มีส่วนใช้อำนาจครอบงำต่อกันได้ทั้งสิ้น 

แนวคิดเหล่านี้เสนออะไรใหม่ๆ ให้กับสังคมศาสตร์หลังทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาบ้าง ประการแรก การวิพากษ์การเมืองรุ่นใหม่หยิบประเด็นทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต่างๆ มาเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างสำคัญ การเมืองของแนววิเคราะห์เหล่านี้จึงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นการเมืองมวลชน การเมืองของสถาบันทางการเมือง หรือการเมืองของชนชั้นอีกต่อไป 

ประการที่สอง การวิพากษ์แนวนี้วิเคราะห์ว่าการครอบงำของอำนาจมีอยู่ทุกหัวระแหงของปริมณฑลที่วัฒนธรรมทำงานอยู่ การวิเคราะห์แนวนี้ไม่ได้มองวัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงามที่ตกทอดมา แต่มองว่าวัฒนธรรมเป็นอุดมการณ์ครอบงำ ที่ตัวมันเองก็มีพลวัต

ประการที่สาม อย่างไรก็ดี การครอบงำนี้มีขีดจำกัด มีการต่อต้าน มีการพลิกผัน มีการเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในกระบวนการทางวัฒนธรรมนี้ตลอดเวลา

ข้อเสนอสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นักวิพากษ์เหล่านี้ไม่เสนอแนวทางปฏิวัติสังคม ไม่เสนอทางเลือกที่เป็นระบบ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำแบบใหม่ดังที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัสเซียอีกต่อไป บางคนเสนอว่าจะเป็นการปฏิวัติอันยาวนาน ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในกระบวนการของการครอบงำและต่อต้านนี้ 

การวิพากษ์การเมืองของนักศึกษาสมัยนี้จึงใหม่ แตกต่างจากแนววิพากษ์ของคนรุ่นก่อนหน้า และไม่ใช่ว่าพวกเขาที่ต่อสู้ในการเมืองเรือนร่างนี้จะไม่สนใจการเมืองภาพใหญ่ แต่การวิพากษ์อำนาจบนเรือนร่างก็เป็นการเมืองแบบหนึ่งเหมือนกัน ใครที่ยังดูเบาการเมืองแบบนี้ก็ควรหาเวลาศึกษาการวิพากษ์การเมืองเพิ่มเติม 

ส่วนใครที่เป็นหัวๆ ในขบวนการนักศึกษารุ่นก่อน แล้วยังติดกับการเมืองแบบเก่าและคิดว่านักศึกษาปัจจุบันควรแสดงบทบาทเชิงวิพากษ์ด้วยการสนใจการเมืองของสาธารณชนนั้น ที่จริงแล้วควรภูมิใจที่นักศึกษาปัจจุบันก้าวหน้ากว่านักศึกษารุ่นคุณๆ ที่หยุดแสวงหาไปนานแล้วมากนัก เพราะพวกคุณเหล่านั้นได้กลายไปเป็นผู้สร้างอำนาจครอบงำสังคมปัจจุบันเสียเองแล้ว

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร