Skip to main content

ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว

คำถามข้อแรกเลยคือ ทุกวันนี้สถาบันกษัตริย์ ศาสนา และความมั่นคงของประเทศ ยังได้รับการคุ้มครองไม่เพียงพออีกหรืออย่างไร จึงต้องเอาการคุ้มครองวัฒนธรรมเข้าไปผูกพ่วงด้วย

กล่าวเฉพาะสถาบันกษัตริย์ นี่ถ้าใครหมิ่นกษัตริย์ด้วยภาษาถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นอกจากคดี ม. 112 แล้ว ยังจะต้องถูกดำเนินคดีพ่วงเข้าไปอีกคดีหรืออย่างไร ถ้าไม่นับว่าศาลจะมารู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรม ก็สงสัยว่าศาลจะลงโทษอย่างไร ใช้คำหนึ่งคือผิดหนึ่งกระทง ใช้ 5 คำผิด 5 กระทง แบบเดียวกับตัดสินจำนวนครั้งที่ส่ง SMS อีกหรือเปล่า 

คำถามต่อมาคือ แล้วใครจะเป็นคนแจ้งความดำเนินคดี เช่น หากมีใครได้กำลังดูการแสดงหนังตะลุงอยู่ แล้วถ่ายคลิปที่แสดงในลักษณะ "หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ไว้ ก็สามารถนำไปแจ้งความจับได้อย่างนั้นหรือ

นี่จะไม่ทำให้สังคมไทยโกลาหลกันไปใหญ่หรือ สังคมนี้จะกลายเป็นสังคมที่ทุกคนจ้องจับผิดกันเองตลอดเวลาหรือ สังคมนี้มิทำให้ทุกคนกลายเป็นเด็กขี้ฟ้องหรอกหรือ ลำพังคดี ม. 112 ที่พี่น้องแจ้งความดำเนินคดีกัน หรือนักจัดรายการอะไรที่ไหนก็ไม่รู้เดินขึ้นโรงพักไปแจ้งความดำเนินคดี ม. 112 กับนักศึกษาที่ออกมารณรงค์เรื่องชุดนักศึกษา ฯลฯ ยังโกลาหลคลุ้มคลั่งกันไม่พออีกหรืออย่างไร 

คำถามสุดท้าย วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งของที่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องดูแลได้หรือ เราจะไว้ใจ "คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม" ที่มีอำนาจในการเรียกคนนั้นคนนี้ที่เข้าข่ายกระทำผิดมาสอบสวนได้อย่างไร คนเหล่านั้นเป็นใคร มาจากไหน รู้จักวัฒนธรรมดีหรือ คณะกรรมการเหล่านี้เป็นใครกันจึงจะรู้ดีกว่าผู้ผลิตวัฒนธรรม 

หากใครที่ใช้วัฒนธรรมเหล่านั้นไปกระทำผิด คนเหล่านั้นก็น่าจะต้องเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเองไม่ใช่หรือ เช่น คนร้องเพลงแหล่ ก็จะต้องร้องเพลงเป็น ก็แสดงว่าเขาเป็นผู้ใช้และสืบทอดเพลงนั้นมาเอง ก็แปลว่าเขาเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่หรือ แต่เจ้าของวัฒนธรรมเหล่านี้กลับจะต้องถูกตัดสินจากใครก็ไม่รู้ว่ากระทำผิดทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างนั้นหรือ

ต่อให้มีการเชิญเจ้าของวัฒนธรรมมาร่วมตัดสินคดี รัฐกำลังจะให้อำนาจคนบางคนมาตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้นหรือ เช่น จะมีเพียงเจ้าของภาษาถิ่นบางคนเท่านั้นหรือที่จะรู้ดีว่า อะไรถูกอะไรผิดในการใช้ภาษานั้น

วัฒนธรรมเป็นของทั้งชุมชนผู้สร้างและปัจเจกชนผู้ใช้ แสดงออก และร่วมสร้าง ทั้งชุมชนและปัจเจกชนมีสิทธิครอบครอง ใช้ และดัดแปลงวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่รัฐจะต้องยื่นอำนาจเข้ามาก้าวก่าย รัฐอาจช่วยส่งเสริม ช่วยสนับสนุนให้พัฒนาได้ และนั่นเป็นบทบาทที่ถูกต้องของรัฐ การประกาศกฎหมายแบบนี้ออกมาเขาไม่ได้เรียกการส่งเสริมวัฒนธรรมหรอก เขาเรียกเผด็จการทางวัฒนธรรมต่างหาก 

แล้วคิดว่ากฎหมายแบบนี้จะช่วยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักๆ เหล่านั้นได้จริงหรือ กฎหมายที่มีอยู่แล้วยังช่วยคุ้มครองสถาบันเหล่านั้นไม่เพียงพอหรือ และเท่าที่มีกฎหมายต่างๆ อยู่แล้วน่ะ สามารถปกป้องไม่ให้สถาบันเหล่านั้นเสื่อมลงได้หรือ อะไรจะดีจะงามย่อมอยู่ที่คุณค่าในตัวมันเองและความนิยมชมชอบ ความเคารพศรัทธาของสังคมไม่ใช่หรือ กฎหมายจะทำให้สถาบันเหล่านั้นดีงามขึ้นมาได้อย่างไรถ้าสถาบันเหล่านั้นเสื่อมลงไปเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา