Skip to main content

แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 

เสกสรรค์ไม่ได้เสนออะไรใหม่ ข้อนี้ไม่ต้องมาบอกกันก็รู้ แต่ถ้าใครประเมินปาฐกถานี้ของเสกสรรค์จากเพียงเกณฑ์แค่นี้ ผมก็ว่าเป็นการดูเบาปาฐกถานี้เกินไป อย่างน้อยที่สุด วิธีประกอบสร้างความคิด การใช้ถ้อยคำในการนำเสนอ การเรียบเรียงภาษา พร้อมทั้งการแสดงปาฐกถา ล้วนประกอบเข้าด้วยกันอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 

ผมคิดว่าเขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2549 เอาเถอะ แม้จะพูดช้าเกินกาลไปมาก แต่ก็ไม่แย่นักที่จะยอมแตกหักกับมิตรสหายและ "อดีต" (ex...) ของเขา เสกสรรค์กล่าวถึงพฤษภา 53 ในฐานะที่เป็นความรุนแรงโดยรัฐเช่นเดียวกับตุลา 16, ตุลา 19 และพฤษภา 35 ประเด็นเหล่านี้ทำให้เขายืนอยู่บนเวทีหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ในบ่ายวันที่ 13 ตค. 56 ได้จนจบการปาฐกถา 

มีบางประเด็นที่ยังความปลาบปลื้มส่วนตนมาสู่ผม คือการที่เสกสรรค์ใช้คำศัพท์ที่ทีมวิจัยผมใช้ ตลอดจนการที่เสกสรรค์มองปัญหาเชิงโครงสร้างในกรอบเดียวกัน คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางเก่า (มวลชนเสื้อเหลือง) กับชนชั้นกลางใหม่ (มวลชนเสื้อแดง) โดยมีชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่เป็นพันธมิตรด้วย สำหรับคนที่ทำงานวิชาการ แค่ได้รู้ว่ามีคนอ่านงานและนำไปใช้ในมิติสาธารณะอย่างนี้ก็เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่แล้ว 

ประเด็นหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจเป็นพิเศษและเกินไปจากที่เคยคิดคือ การที่เสกสรรค์พยายามประคับประคองและหาหนทางปรองดองการต่อสู้ของชนชั้นกลางใหม่ในระบอบรัฐสภากับการเลือกตั้งให้ไปด้วยกันได้กับการเมืองภาคประชาชน เขาพยายามย้ำว่า การเมืองสองส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กันในท่ามกลางความขัดแย้งระลอกใหม่นี้ ประเด็นนี้ผมว่าคนเสื้อแดงที่นั่งฟังอยู่ยังไม่ "ซื้อ" นัก 

ที่ว่าไม่ซื้อ เพราะที่ผ่านมาบรรดาผู้ที่ขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองของชนชั้นใหม่อย่างร้าวลึก พวกเขาเป็นหัวขบวนของการเมืองภาคประชาชนผู้ต่อต้านทุนนิยม และเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรงผ่านการเดินขบวน การเคลื่อนไหวทางการเมืองทางตรง และต้องการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาคิดว่าตนเองรู้ดีกว่าประชาชนทั่วไปว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดของประชาชนเหล่านั้น หัวขบวนของการเมืองภาคประชาชนนั้นก็คือส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางเก่านั่นเอง และดังนั้น นักการเมืองภาคประชาชนเก่านี้จึงไม่ลังเลที่จะสนับสนุนการรัฐประหาร 2549 และการรัฐประหารครั้งต่อๆ หากจะมีขึ้นมาอีกได้ เพื่อโค่นอำนาจของชนชั้นนำใหม่ซึ่งเป็นผู้นำของทุนนิยมเสรี 

นึกอีกที ผมอยากรู้ว่าหากเสกสรรค์พูดกับฝ่ายชนชั้นกลางเก่่า พูดกับสหายการเมืองภาคประชาชนของเขา เขาจะพูดอย่างไร เขาจะทำให้พวกนั้นยอมรับความผิดพลาดที่ไปสนับสนุนการรัฐประหาร 2549 จนเหตุการณ์บานปลายมาถึงการปราบปรามปราชนเมื่อ พฤษภา 53 หรือไม่ ผมไม่มั่นใจ และดังนั้น ผมไม่คิดว่าเสกสรรค์จะสามารถพูดให้สหายการเมืองภาคประชาชนของเขายอมฟังคำปาฐกถาของเขาจนจบได้เท่ากับที่สหายเสื้อแดงชนชั้นใหม่ของเขายอมฟังเขาจนจบ 

ผมจึงคิดว่า ปาฐกถาของเสกสรรค์คือคำขอการปรองดองระหว่างชนชั้นใหม่กับสหายการเมืองภาคประชาชนของเขา เป็นความพยายามประสานรอยร้าวระหว่างปีกสังคมนิยมและการเมืองภาคประชาชนในชนชั้นกลางเก่า กับปีกเสรีนิยมและประชาธิปไตยตัวแทนในชนชั้นกลางใหม่ แต่เทียบเชิญเพื่อการปรองดองนี้จะต้องส่งไปทั้งสองฝ่าย เสกสรรค์อาจประสบความสำเร็จในการเป็นทูตเจรจากับฝ่ายชนชั้นกลางใหม่ แต่กับชนชั้นกลางเก่า ผมไม่แน่ใจว่าพวกนั้นเขาจะฟังเสกสรรค์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี