Skip to main content

คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า

น่าจะมีการสำรวจนะครับว่าความต้องการของคนในม็อบนกหวีดเป็นอย่างไรกันแน่ ในทางวิชาการ อาจจะยากสักหน่อยที่จะสรุปเอาจากการสำรวจรายวัน ว่าผลโพลในม็อบจะสะท้อนโครงสร้างความต้องการของม็อบนกหวีดโดยรวมได้หรือไม่ แต่ผมว่าหากทำได้ก็จะดีไม่น้อย แต่ที่จะลองคิดดูข้างล่างนี่ คิดดูจากเพื่อนๆ ที่รู้จักนิสัยใจคอกันมาอยู่บ้างมากกว่า 

ผมมีเพื่อนที่รู้จักคบหากันนานๆ หลายคนที่เป็นกองเชียร์และเข้าร่วมม็อบนกหวีดอย่างแข็งขัน ผมไม่เข้าใจพวกเขาเลยว่าทำไมพวกเขาจึงมีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกับผมอย่างลิบลิ่ว แต่มาลองนึกๆ ดู ผมว่าพวกเขาไม่ได้ต่างจากผมนักหรอกในแง่หลักการทางการเมืองบางอย่าง เท่าที่คบกันมา พวกเขาไม่น่าจะหลงใหลถูกชักจูงง่ายๆ หรอก พวกเขาไม่มีทางจะเชื่อใจนายสุเทพหรอก พวกเขาอาจชื่นชอบพรรคปชป.อย่างยิ่งยวด แต่พวกเขาก็รู้ๆ กันอยู่นั่นแหละว่าพรรคปชป.ทำดีทำชั่วอะไรไว้บ้าง หากมวลชนม็อบนกหวีดบางคนไม่รู้ ผมก็ว่าอย่างน้อยเพื่อนๆ ผมก็รู้ดีอยู่ดีนั่นแหละ 

แน่นอนว่าผู้นำม็อบย่อมมีความสำคัญในแง่ของการดึงดูดใจมวลชน และจะเห็นได้ว่า หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี และอยู่ในระหว่างประกันตัวนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถมาออกหน้านำม็อบได้อย่างเคย การเข้ามารับหน้าที่นำม็อบของพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจให้ฝูงชนผู้ชิงชังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แสดงตนอย่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การนำม็อบของปชป.จึงเป็นการรื้อฟื้นรูปธรรมของการต่อต้านทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง 

ส่วนเป้าหมายที่ว่าจะล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก แล้วเปลี่ยนระบอบการปกครองไปให้อำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างสมบูรณ์อะไรนั่นน่ะ คนที่เอาด้วยกับม็อบนกหวีดไม่ได้คิดในเชิงปฏิบัติการหรอก คือไม่ว่าคนบนเวทีจะว่าอย่างไร ผมคิดว่าเพื่อนผมจำนวนมากในม็อบนกหวีดก็คงจะไม่ได้เชื่ออะไรงมงายขนาดนั้นหรอก ก็คงมีนั่นแหละที่บางคนจะเชื่อว่าให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ปกครองดีกว่าให้อำนาจนักการเมือง แต่ผมว่าถ้าเอาเข้าจริงๆ เกิดระบอบนั้นขึ้นจริงๆ พวกเขาก็ไม่เอาหรอก 

การยกสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นธงนำในม็อบนกหวีดนั้น หากวิเคราะห์ทางวิชาการแบบตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นขั้วตรงข้ามเชิงสัญลักษณ์กับระบอบทักษิณมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น หน้าสิ่วหน้าขวาน องค์สัญลักษณ์นำทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมย่อมต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านกับอีกองค์สัญลักษณ์ที่ตนเป็นปฏิปักษ์ด้วย เพราะ "ทักษิณ = ความชั่ว" และจึงมีคู่ตรงข้ามคือ "สถาบันกษัตริย์ = ความดี" แต่เมื่อทำดังนั้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า นั่นจะยิ่งกลับทำให้องค์สัญลักษณ์หนึ่งที่ควรอยู่พ้นการเมือง กลับกลายมาเกลือกกลั้วในการเมืองไปเสีย 

ถึงที่สุดแล้ว หากกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อมีการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม พวกเขาแค่ไม่พอใจรัฐบาล และที่ออกมากันมากขนาดนี้ ก็เพราะพวกเขาอัดอั้นตันใจมานานหลายปีแล้วที่ไม่สามารถให้ตัวแทนของพวกเขากลับเข้ามาบริหารประเทศได้ พวกเขาอาจจะคิดเพ้อเจ้อเลยเถิดไปบ้าง พวกเขาอาจจะสนุกกับอำนาจมือเปล่าของตนที่รัฐบาลไม่กล้าต่อกรจนเลยเถิดไปเดินเล่นในสถานที่ราชการแบบเด็กๆ ไปเที่ยววันเด็กบ้าง ก็แค่เป็นเพียงเพื่อคลายอารมณ์กลัดกลุ้ม

ผมว่าหากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำรัฐบาลยอมขอโทษประชาชน ทั้งประชาชนฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยสอดไส้นิรโทษกรรมทักษิณและผู้สั่งการสังหารประชาชนในปี 2553 พร้อมๆ กันนั้นก็วางกรอบของการปรับโครงสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับการก้าวไปของประเทศในทิศทางให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้นอย่างมั่นคง สถาณการณ์เฉพาะหน้าก็น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง 

แต่เมื่อถึงวันนี้แล้ว ก็ไม่ทราบจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรได้ ได้แต่หวังว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะยังคงแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ หวังว่าเธอจะใช้ความอ่อนไหว ความเป็นแม่ ความเป็นหญิงในการปกครอง หวังว่าเธอจะยอมค้อมหัวให้ประชาชนมากเท่ากับที่ประชาชนจำนวนมากไว้วางใจเธอ และหวังว่าเธอและเครือข่ายจะคิดเร็ว และหาทางแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างนุ่มนวล ที่สำคัญคือ อย่าเอาหน้าแกนนำการชุมนุม ไปเป็นหน้ากากสวมแทนหน้าผู้ร่วมชุมนุม เพราะม็อบนกหวีดก็คือเพื่อนร่วมโลก คือมนุษย์ผู้คับข้องใจ พวกเขาไม่ได้ต้องการทำอะไรเลยเถิดเท่ากับที่แกนนำพวกเขาคุยฟุ้งว่าอยากทำหรอก 

ส่วนเพื่อนม็อบนกหวีด เมื่อรู้แล้วว่าประชาชนอย่างพวกคุณก็มีอำนาจ เสียงส่วนน้อยแบบอภิสิทธิ์ชนอย่างพวกคุณน่ะ รัฐบาลนี้เขากลัวจะตายอยู่แล้ว ออกมาจากสถานการณ์วันเด็ก แล้วคิดหาทางเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นรูปธรรมไม่ดีกว่าหรือ อำนาจมือเปล่าของพวกคุณน่ะไม่สามารถล้มระบอบทักษิณได้หรอก เพราะระบอบทักษิณที่คุณว่าน่ะไม่ได้อยู่ด้วยทักษิณและพรรคพวกอีกต่อไปแล้ว ระบอบที่ทักษิณมีส่วนสร้างขึ้นมา ได้กลายผลเป็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศโดยรวมไปแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา