Skip to main content

หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์

หนังสือเล่มนี้เป็นผลจากการนั่งอ่านทำความเข้าใจประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่ง จากมุมมองของพวกเขาเอง จากคำบอกเล่า จากบันทึกของพวกเขาเอง ผมได้แปลเอกสาร 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาษาไทดำ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาษาเวียดนาม แล้วเขียนบทความอธิบายที่มาที่ไปของเอกสารและเนื้อหาของเอกสาร

ความเข้าใจที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ ความเข้าใจถึงวิธีการเล่าประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่ง นิทาน-ตำนานในถิ่นหนึ่งของเวียดนามปัจจุบัน ความเป็นมาอันยาวนานของกลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่ง สำนวนภาษาของคนไทในเวียดนามเทียบกับสำนวนภาษาไทยสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปรากฏตัวของหนังสือเล่มนี้ยังความสุขมาให้กับผมท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองประเทศไทย หนังสือนี้เป็นผลงานที่รัก ผมรักที่ได้อ่าน ได้เขียน ได้ใช้ภาษาและอักษรหลายๆ ภาษา แม้ว่างานชิ้นนี้จะทำไปโดยไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ แต่การได้เห็นหนังสือเป็นรูปเล่มออกมานี้ ก็นับเป็นผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่แล้ว

ผมยังมีงานลักษณะนี้ที่ตั้งใจจะทำก่อนพ้นวัยที่จะสามารถทำได้อีก 2 ชิ้น เป็นการอ่านเอกสารโบราณของชาวไทในเวียดนาม ชิ้นหนึ่งว่าด้วยการทำขวัญ อีกชิ้นหนึ่งเป็นนิทานคำกลอนขนาดยาวที่เล่าเรื่องราวชีวิตพื้นบ้านมากมาย งานทั้งสองชิ้นยังไม่เป็นที่รู้จักนอกประเทศเวียดนามมากนัก จะค่อยๆ ทยอยทำออกมาต่อไป

หนังสือเล่มนี้ไม่มีขาย พิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 500 เล่ม เพราะได้ทุนมาเพียงเท่านั้น และก็ไม่คาดคิดว่าจะมีคนสนใจอ่านเกิน 10 คน ไม่แน่ใจว่าใครกันจะสนใจเรื่องเก่าๆ เรื่องไกลตัว เรื่องเฉพาะเจาะจงขนาดนี้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องขอบคุณสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่ให้ทุนจัดพิมพ์ 

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งวารสารศิลปวัฒนธรรม มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการตีพืมพ์หนังสือเล่มนี้ ทั้งยังได้ให้เกียรติเขียนคำนำเสนอให้อย่างละเอียดพิสดาร

ขอฝากให้นักศึกษา เพื่อนๆ และนักอ่านทั่วไปได้อ่าน ติติง และเผยแพร่หนังสือเล่มนี้กันต่อๆ ไปครับ เชิญผู้สนใจดาวน์โหลดไปอ่านได้ฟรีจากที่นี่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี